ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขังน่าจะดุเดือด เข้มข้นไม่แพ้การเมืองระดับชาติ เพราะผลการเลือกตั้ง กทม.จะเป็นตัวชีวัดการเมืองระดับชาติหมายถึงรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร ต้องรอความชัดเจนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) “ทีมการเมืองเดลินิวส์” ได้มีสนทนากับหนึ่งในว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ออกมาประกาศเปิดตัวชัดเจนว่า ขออาสามาเป็นตัวเลือกให้คนกรุงเทพฯ

โดย“ชัชชาติ” เปิดฉากกล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็รอว่า กกต.จะประกาศจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อไหร่ แต่ก็ยังไม่มีท่าทีประกาศการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถือว่าเป็นข้อดีเรายิ่งเห็นปัญหาเยอะขึ้น ได้มีการพูดคุย ได้ฟังได้คิด จากที่เราถนัดด้วยการวิ่งระยะยาวมาราธอนเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ จึงไม่ได้เร่งรัดอะไร แต่หากเปิดเมื่อไหร่ผมก็ขออาสาเข้ามาทำงานให้กับคนกรุงเทพฯ และผมก็ได้อาสาสมัครเข้ามาเป็นทีมงานซึ่งมาด้วยใจ โดยใช้คีย์เวิร์ดคือ “สนุก” เมื่อเรายังสนุกอยู่เรื่อย ๆ จึงไม่ได้ไปเร่งอะไร ยิ่งเป็นข้อดีว่าเราเห็นปัญหาเยอะขึ้น

 ส่วนระยะเวลาในการทำพื้นที่ยาวจะได้เปรียบหรือไม่ ผมเห็นว่ามีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ แต่ “ข้อได้เปรียบ” คือ เราได้ลงไปพบปัญหาเยอะขึ้น คนเห็นความตั้งใจและความจริงใจ ทุกปีที่ผ่านไปมีคนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบกรุงเทพฯ 7 หมื่นคน เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเห็นความตั้งใจของเรา ตรงนี้เราจึงต้องมีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย สื่อสารกับคนกลุ่มนี้โดยตรง อย่าลืมว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ทั้งประเทศกว่า 8 แสนคนต่อปี เฉลี่ยเป็นกรุงเทพฯ 7 หมื่นคน แต่เกมยาวก็ต้องระวัง เพราะไม่แน่ใจว่า คนกลุ่มใหม่เขารักใครชอบใคร ยังคาดการณ์ไม่ได้ ยืนยันว่า จะทำให้ดีที่สุด เปรียบเสมือนการแข่งขันกีฬา คือ มีคนเดียวที่ชนะ ต้องผ่านเข้าเส้นชัยคนแรก

@ ห่วงภาพลักษณ์ของตนเองหรือไม่ ที่ยังมีเงาของพรรคเพื่อไทย หรือเงาของนายทักษิณ ชินวัตร ทำให้ถูกมองว่า เสียงสนับสนุนจะได้จากกลุ่มเพื่อไทยและคนเสื้อแดง 

ปฏิเสธไม่ได้ ผมเริ่มการเมืองจาก “พรรคเพื่อไทย” ถ้าไม่มีพรรคเพื่อไทยก็ไม่มี “ชัชชาติ” ในการเมืองวันนี้ ชีวิตผมเป็นอาจารย์มาโดยตลอด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรามาถึงวันนี้เพราะพรรคเพื่อไทยให้โอกาสในการทำงาน มาถึงจุดหนึ่งเราคิดว่าจะออกมาทำงานการเมืองเป็นอิสระ ก็แจ้งให้ทุกคนให้พรรครับทราบ ซึ่งฐานเสียงช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่มีเฉพาะพรรคเพื่อไทย แต่มีคนอีกหลากหลาย คนที่เบื่อการเมือง ไม่อยากยุ่งกับการเมืองและความขัดแย้ง สุดท้ายต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ยังมีเงาอยู่หรือเปล่า ที่ผ่านมา 2 ปีกว่า เราเป็นอิสระจริง ไม่เคยเข้าไปที่พรรค ไม่เคยขอนโยบาย แต่ยอมรับว่ายังมีเพื่อน เพราะหัวใจเราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ฉะนั้นไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็มีคนในพื้นที่อยู่แล้ว เราก็ฟังว่า เขามีปัญหาหรือข้อเสนออะไร 

@ จำเป็นต้องสลัดเงาหรือภาพของพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ออกจากตัวหรือไม่ 

“เมื่อประกาศว่าเป็นอิสระ ต้องอิสระอย่างแท้จริง เราต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่เราต้องออกจากเงานี้ ผมสงสัยว่าตอนอยู่พรรคเพื่อไทยก็มีคนไม่อยากให้อยู่ พอตอนออกมาก็ไม่มีคนเชื่ออีก ตกลงจะต้องทำอย่างไรให้ถูกใจ ซึ่งทีมงานของผมทุกคนก็ทราบดีว่าเป็นอิสระ เราบังคับจิตใจคนไม่ได้ เราก็ต้องเคารพความเห็นเขา” 

@ ขอ 3 คำสำหรับกรุงเทพฯในปัจจุบัน 

ปัจจุบัน กทม. เป็น “เมืองน่าเที่ยว” ซึ่งเป็นจุดแข็งของ กทม. โดยจากผลสำรวจมาสเตอร์การ์ด กรุงเทพฯ เป็นเมืองอันดับ 1 ที่คนอยากมาเที่ยว แต่ 3 คำสำหรับ กทม.ในอนาคต ถ้าผมมีโอกาสเข้าไปบริหาร ผมจะทำให้ กทม. เป็น “เมืองน่าอยู่” ถ้าเราเป็นเมืองน่าเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว ต้องเป็นเมืองน่าอยู่ เพราะปัจจุบันเราเป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 98 จากทั้งหมด 140 ประเทศ ทำอย่างไรให้เลื่อนขึ้นเป็นอันดับ 1 ใน 50 เมืองน่าอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งโจทย์นี้ยอมรับว่าไม่ง่าย ดังนั้นหัวใจคือต้องเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน 

ซึ่งผมจะต้องทำ 3 เรื่องเร่งด่วนคือ 1.เศรษฐกิจ คนเหนื่อยล้ากับเรื่องเศรษฐกิจมาก ในฐานะ กทม.ต้องเข้าไปช่วยตรงนี้ เพื่อไปลดค่าใช้จ่าย ช่วยประชาชนทำมาหากิน 2.เรื่องสาธารณสุข นี่เป็นต้นตอถ้าสาธารณสุขไม่จบ โควิดไม่จบ เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้น และ 3.เรื่องคุณภาพชีวิต ครอบคลุมทั้งความปลอดภัยทางถนน อากาศ น้ำเสีย น้ำท่วม และรถติด ซึ่งสองเรื่องแรกเป็นเรื่องเร่งด่วนปัจจุบัน และเรื่องสุดท้ายต้องทำอยู่ตลอดในระยะยาว

โดยเราได้วางประเด็นทั้งหมด 4 ด้าน คือ 1.เอาคนเป็นที่ตั้ง การจัดทำโปรเจคท์หรือโครงการอะไร ต้องเอาคนเป็นที่ตั้ง แต่หัวใจอยู่กรุงเทพฯ ปัญหาอยู่ที่เส้นเลือดฝอย 2.นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ อย่าเป็นอัจฉริยะมากแต่ต้องตอบโจทย์คน สร้างหน่วยเคลื่อนพร้อมด้วยเทคโนโลยีเข้าตรวจคนไข้ในชุมชน เพื่อลดการแออัดในโรงพยาบาล จัดทำไวไฟฟรีที่โรงเรียน นำเทคโนโลยีไปช่วยครูคืนเวลาครูสู่นักเรียน นำเทคโนโลยีช่วยความปลอดภัยทางจราจรควบคุมไฟเขียวไฟแดง 3.สิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิต เปลี่ยนแนวคิดการแยกขยะ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มพื้นที่สาธารณะทุกเขตทุกแขวง ปลูกจิตสำนึกปลูกและดูแลต้นไม้ และ 4.ผลักดันเศรษฐกิจ จัดตั้งสำนักเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อดูแลในเรื่องนี้ เพราะ กทม.ไม่เคยมีสำนักมาดูเรื่องเศรษฐกิจเลย แต่เมืองมันต้องขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ 

@ เมื่อถามว่านโยบายที่กล่าวมาเป็นการขายฝันหรือไม่ และจะเกิดผลสัมฤทธิ์ภายในกี่วัน กี่เดือน กี่ปี

เราแบ่งโครงการต่าง ๆ ออกเป็น 3 ระยะ ระยะสั้น 100 วันแรก ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณและสามารถทำได้ทันที เช่น กวดขันระเบียบวินัย และเปลี่ยนความคิดมุ่งหมายประชาชน ระยะกลาง 1-2 ปี เป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณ และระยะยาว โครงการที่อยู่เกินเทอม เช่น การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และจัดทำเมืองใหม่สี่มุมเมือง แต่ทั้งหมดต้องเริ่มทำพร้อม ๆ กัน

@ จะดูแลการชุมนุมทางการเมืองอย่างไรในพื้นที่ กทม.

กทม.ต้องทำตามกฎหมาย แต่เป็นไปได้หรือไม่ในการเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนไปแสดงออกทางการเมือง โดยไม่ไปกีดขวางการจราจร เช่น ย้ายศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่เสาชิงช้า ไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง และเอาลานคนเมืองเสาชิงช้าที่เปรียบเป็นสะดือเมือง เพราะอยู่ในกลางกรุงเทพฯ เปิดพื้นที่นี้ให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนตึกยกให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมือง ถ้าอยากจะประท้วงก็มาขออนุญาต มีห้องน้ำอำนวยความสะดวกให้ เหมือนกับต่างประเทศที่มีไฮด์ปาร์คแสดงความเห็นสาธารณะได้ แต่ต้องไม่มีความรุนแรง ยึดกฎหมาย สันติ ยอมรับความเห็นต่าง