ตอนนี้หลายภาคส่วนกำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกระแสข่าวที่จะมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่ จ.ปทุมธานี-รังสิต ให้กับเอกชนต่อไปอีก 20 ปี ถ้าสัญญาปัจจุบันสิ้นสุดลงในเดือน ต.ค. 66

จากเดิมมติบอร์ดการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เมื่อเดือน เม.ย. 62 มีนโยบายชัดเจนที่จะให้ กปภ.ดำเนินการผลิตและจำหน่ายประปาในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิตเอง! ภายหลังสัญญาสัมปทานที่ กปภ.มีอยู่กับบริษัทเอกชนสิ้นสุดลง!

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนบอร์ด กปภ. ก็มีข่าวสะพัดว่า กปภ.ได้รับ “นโยบาย” จากใครก็ไม่รู้? ให้รับข้อเสนอของบริษัทเอกชนคู่สัญญาที่ทำเรื่องขอขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี

เมื่อจะเล่นกันแบบนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กปภ.จึงไม่ยอม จึงได้ตระเวนร้องเรียนไว้หลายหน่วยงานให้ตรวจสอบความโปร่งใสเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ในประเด็นที่ กปภ.ละเมิดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ว่า หาก กปภ.จะพิจารณาแก้ไขหรือปรับปรุงสัญญาเอกชนร่วมลงทุน จะต้องแต่งตั้งผู้แทนจากสหภาพแรงงานฯ เข้าร่วมอย่างน้อย 1 คน แต่ที่ผ่านมา กปภ.ไม่เคยแต่งตั้งผู้แทนสหภาพแรงงานฯ เข้าร่วมเลย

นอกจากนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กปภ. ต้องการคำตอบจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ที่กำกับดูแล กปภ. และผู้ว่าการ กปภ.ว่าถ้าต่อขยายสัญญาสัมปทานประปามูลค่านับหมื่นล้านบาท แล้ว กปภ.จะได้เม็ดเงินผลประโยชน์ตอบแทนจำนวนเท่าไหร่แน่?

แต่แว่ว ๆ ว่าจะมีการกำหนดอัตราค่าน้ำประปาไว้ตั้งแต่ 10.15 บาทขึ้นไป และปรับค่าน้ำทุกปีตามดัชนีเงินเฟ้อ ส่งผลให้ส่วนต่างของกำไรทะลักไปกว่า 14,400 ล้านบาทเลยทีเดียว

วันนี้ใครจะอ้างว่าการต่อขยายสัญญาสัมปทานเป็นไปตามมาตรา 46 47 และ 48 ของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 62 แต่ไม่รู้ว่ามีการนำร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข ส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาหรือยัง?

ถ้าสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วไม่มีข้อท้วงติง ก็ต้องนำร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ เสนอต่อ รมว.มหาดไทย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วจึงนำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อผ่านความเห็นชอบ

แต่เมื่ออ่านมาตรา 46 47 และ 48 ก็ต้องอ่านมาตรา 49 ให้แตกฉานด้วย! ระบุไว้ชัดเจน “หากหน่วยงานเจ้าของโครงการและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดกำหนดให้มีการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดโดยการร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เสมือนเป็นโครงการลงทุนใหม่”

นั่นหมายความว่าหากจะต่อขยายสัญญาสัมปทานใหม่ภายหลังสัญญาเดิมสิ้นสุดลง กปภ. และมหาดไทยจะรวบรัด
ดำเนินการตามมาตรา 46 , 47 และ 48 เลยไม่ได้ แต่ต้องดำเนินการเปิดประมูล เหมือนเป็นโครงการใหม่เต็มรูปแบบเท่านั้น

เรื่องนี้ต้องฝาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไปตรวจสอบโครงการประปาปทุมธานี อย่าทำอะไรคาราคาซังแบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว! คือใช้อำนาจมาตรา 44 พร่ำเพรื่อ ทั้งที่มี พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ

อย่าทำอะไรแบบมึน ๆ เลอะเทอะ! เหมือนการประมูลสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม จนมีการฟ้องร้องคาอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จึงหวังว่าบอร์ด กปภ. และผู้ว่าการ กปภ. ควรตระหนักเรื่องเหล่านี้ให้ดี!!.


————————
พยัคฆ์น้อย