ราชิด สุไมลา อาจารย์สถาบันมหาสมุทรและการประมง มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย ในแคนาดา หนึ่งในผู้ร่วมเขียนรายงาน เผยต่อสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี (อาร์เอฟเอ) ว่า  ความขัดแย้งคุกรุ่นที่เราเห็นในทะเลจีนใต้ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการประมง แต่ประเทศต่าง ๆ ไม่พูดออกมาโดยตรง

รายงานของสุไมลา และทีมงานนักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์การประมง เป็นผลจากการศึกษาวิจัย ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และการประมงเกินขีดจำกัด ในมหาสมุทรแปซิฟิกฟากตะวันตก ซึ่งรวมถึงทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้

ภายใต้สถานการณ์แนวโน้ม อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2593 จากระดับปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูง ที่ทะเลจีนใต้จะเผชิญกับภาวะประชากรสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก ซึ่งนั่นหมายถึงความหายนะ ด้านการประมงของหลายประเทศในภูมิภาค

จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ การประมงในน่านน้ำทะเลจีนใต้ มีมูลค่ามหาศาลถึงปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 ล้านบาท) ค้ำจุนการทำมาหากิน ของประชาชนราว 3.7 ล้านคน

การวิจัยพบว่า ความต้องการอาหารทะเลสูงขึ้นของจีน ไม่เพียงแค่เพื่อการบริโภคของมนุษย์ เป็นปัจจัยหลักของการทำประมงเกินขีดจำกัด ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก

การประมงเป็นหนึ่งในเหตุผล ที่จีนเกี่ยวพันในความขัดแย้ง กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้

รายงานเรียกร้องให้รีบเร่งดำเนินการลดการจับสัตว์น้ำ และเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันความหายนะทางการประมง

ความเกี่ยวโยงระหว่างการทำประมงเกินขีดจำกัด กับความขัดแย้งเหนืออธิปไตยทางทะเล เห็นได้ทั่วไปในทุกน่านน้ำของโลก เช่น “สงครามเย็น” ระหว่างสหราชอาณาจักรกับไอซ์แลนด์ ที่ยืดเยื้อเกือบ 20 ปี ซึ่งกองทัพเรือของแต่ละฝ่าย ส่งเรือออกขัดขวาง การล่วงล้ำเขตทำประมงของอีกฝ่าย จนกระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในปี 2519 โดยผ่านกระบวนการทางการทูต

และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ กลุ่มโจรสลัดอาละวาดหนัก ในน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกา สาเหตุหลักก็มาจากการร่อยหรอ ของทรัพยากรอาหารทะเล จากการลักลอบทำประมงเกินขีดจำกัด

รายงานของสถาบันตรวจสอบทะเลจีนใต้ หรือ เอสซีเอสพีไอ (South China Sea Probing Initiative : SCSPI) องค์กรคลังสมองของจีน กล่าวหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย คือสาเหตุความหายนะของทรัพยากรประมงในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะชาวประมงเวียดนาม ซึ่งมีเรือประมงราว 9,000 ลำ จับสัตว์น้ำในภูมิภาค ทำให้เกิดความขัดแย้งกับจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

เวียดนามเคยถูกคณะกรรมาธิการยุโรป ให้ “ใบเหลือง” เตือนเมื่อปี 2560 ฐานละเมิดกฎการประมงไอยูยู หรือ การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (illegal, unreported and unregulated : IUU)

แต่หลายฝ่ายโต้ว่า จีนนั่นแหละผู้ร้ายตัวเอ้  การจัดอันดับเมื่อปี 2562 โดยดัชนีการทำประมงผิดกฎหมายทั่วโลก (Global Illegal Fishing Index ) จีนอยู่อันดับหนึ่ง ผู้กระทำผิดไอยูยู

จีนมีเรือประมงเพื่อการพาณิชย์ประมาณ 800,000 ลำ มากที่สุดในโลก ขยายขอบเขตจับสัตว์น้ำไปทั่วโลก รวมถึง อ่าวกินี นอกชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกา และหมู่เกาะกาลาปากอส นอกชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์ ในทวีปอเมริกาใต้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES