วันที่ 18 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่  11,397 ราย เสียชีวิต 101 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 403,386 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 3,339 ราย) และยังมี ประกาศราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศยกระดับมาตรการเข้มข้น ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลาเพื่อลดการเดินทาง เสี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น คุมเข้มตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคมเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อการคัดกรอง ชะลอหรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

แนวทางรักษาตัวเองอยู่ในบ้าน

ที่สำคัญสถานการณ์ช่วงนี้ ปัญหาโรงพยาบาลเตียงล้นไม่เพียงพอก็ยังเป็นอีกปัญหาใหญ่ในภาวะวิกฤติ จนมีหลาย ๆ มาตรการออกมาไม่ว่าจะเป็นส่งกลับผู้ป่วยไปรักษาตัวที่จังหวัดบ้านเกิด หรือแม้กระทั่งแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียว อาการไม่รุนแรงแยกกักตัวที่บ้าน หรือ โฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น มีมุมมองในการเสวนาออนไลน์ว่า ตอนนี้มีการระบาดที่มากขึ้น การดูแลคนไข้นอกโรงพยาบาลจึงมีความจำเป็น ดังนั้น โฮม ไอโซเลชั่น (รักษาตัวเองที่บ้าน) สำหรับคนไข้ที่ไม่มีอาการรุนแรง ที่ต้องรักษาตัวอยู่บ้าน มีข้อดีคือ มีระบบสาธารณูปโภคที่รองรับ ในการใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่แล้ว โดยรัฐจะมีการดูแลผ่านโรงพยาบาลหลัก ซึ่งจะมีการรับส่งอาหารให้คนไข้ที่เหมาะสมจะเข้าเกณฑ์นี้ ต้องเป็นคนไข้อายุน้อยกว่า 60 ปี มีอาการไม่รุนแรง รวมถึงมีพื้นที่แยกในบ้าน สามารถกักตัวคนเดียวได้ ขณะเดียวกันต้องไม่มีภาวะอ้วน หรือโรคประจำตัวที่เป็นภาวะเสี่ยง โดยแพทย์จะมีเครื่องมือวัดไข้ให้ตรวจเองประจำวัน 

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังคือ ตอนทานอาหาร ต้องแยกคนเดียว เช่นเดียวกับการซักผ้า ต้องทำด้วยตัวเอง ไม่ควรให้คนอื่นที่ไม่มีอาการทำให้เพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อได้ ในการรักษาตัวที่บ้านแพทย์จะมีการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ โดยจะดูอาการ และถ้าหากคนไข้มีอาการออกซิเจนในเลือด จะมีรถที่นำส่งมายังโรงพยาบาลทันที 

ด้าน ดร.พญ.เสาวนันท์ บำเรอราช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดแบบโฮมไอโซเลชั่น หลายครอบครัวมีภาวะติดกันทั้งบ้าน หรือผู้ป่วยที่มีสัตว์เลี้ยงและเป็นห่วงว่าไม่มีคนดูแล จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องดูแลตัวเองที่บ้าน แต่สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับชุมชนรอบ ๆ บ้าน หรือแม้แต่เพื่อนข้างบ้าน การทำความเข้าใจภายในชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งถ้าไม่ได้ใกล้ชิดกันขนาดอยู่ร่วมกัน ก็มีโอกาสติดน้อย ดังนั้นคนที่อยู่ในหอพักและคอนโดจึงไม่ต้องวิตกกังวล เพียงแต่ผู้ดูแลต้องเช็ดทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางบ่อย ๆ และพยายามจัดการขยะ โดยต้องแยกขยะ ที่จะต้องประสานกับหน่วยงานที่เก็บขยะให้จัดเก็บขยะติดเชื้ออย่างถูกต้อง

ตัวอย่างที่อังกฤษ ขยะของผู้ป่วยโควิด ที่ดูแลตัวเองที่บ้าน ถ้าไม่มีใครมาเก็บขยะติดเชื้อ เชื้อจะอยู่ในอากาศภายนอกไม่นานก็ตาย เลยทิ้งขยะพักไว้ 3 วัน โดยมัดในถุงสีแดง และพ่นแอลกอฮอล์ บนถุงชั้นแรก และซ้อนถุงพลาสติกซ้ำอีกใบ แล้วฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์รอบถุงอีกครั้ง แล้วทิ้งไว้ ซึ่งพอครบ 3 วัน เจ้าหน้าที่ก็จะมาจัดเก็บตามปกติ

สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้ที่พักอาศัยตามหอพักและคอนโด เมื่อติดเชื้อจะต้องประสานกับนิติบุคคลที่ดูแลอาคาร ซึ่งถ้ารักษาตัวเองที่ห้อง นิติบุคคลอาจจะมีส่วนร่วมในการจัดส่งอาหารมาไว้ที่ประตูห้องของผู้ป่วย หรือในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายคนไข้ จะต้องแจ้งกับลูกบ้านถึงช่วงเวลานั้น เพื่อความปลอดภัย และไม่ให้ออกจากห้องในช่วงเวลาดังกล่าวการรักษาแบบโฮมไอโซเลชั่น ผู้ที่ป่วยอาจถ่ายรูปพื้นที่บ้านในจุดต่าง ๆ แล้วส่งให้แพทย์ดู เพื่อพิจารณาพื้นที่เสี่ยง หรือจุดที่อาจจะมีการแพร่ระบาดของโรคให้ผู้อื่นได้ หรือบางคนที่ยังไม่เป็นอาจจะถ่ายรูปในจุดต่าง ๆ เอาไว้ในโทรศัพท์มือถือ เผื่อจำเป็นแล้วต้องส่งให้คุณหมอพิจารณาได้

หนุนยกระดับมาตรการคุมเข้ม

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ  ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะ​แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอย่างต่อเนื่องหลายครั้งด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องการให้เตรียมพร้อมรับมือปัญหาการกลายพันธุ์ของเจ้าไวรัสมรณะ สำหรับสัปดาห์นี้ได้ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า อาจเลวร้ายไปอีกสักระยะ เนื่องจากมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้นไม่ได้ทำมาก่อนหน้านี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วควรทำมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ช่วงที่มีการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานกลางเมืองกรุง ตอนนั้นยังไม่มีมาตรการลงไปตรวจอย่างทั่วถึง รวมถึงมีมาตรการเยียวยารายได้ที่ชัดเจน เลยทำให้คนงานบางส่วนต้องอพยพกลับบ้านต่างจังหวัด จนเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายไปหลายพื้นที่

การระบาดรอบนี้เป็นรอบที่ต่อจากการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์ทองหล่อ เชื้อจากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ปริมาณผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ไม่ได้ลดลงจากเดิมเท่าไรนัก กระทั่งมาเกิดการแพร่ระบาดในรอบใหม่ที่มีปริมาณผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นในเชิงการบริหารจัดการ เราควรมีมาตรฐานที่เป็นตัวชี้วัดว่า ถ้ามีผู้เสียชีวิตและติดเชื้อในปริมาณนี้ ควรมีมาตรการเด็ดขาดยกระดับควบคุมทันที ตอนนี้เราจะจัดการเหมือนสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ไม่ได้ เพราะประเทศเหล่านั้นมีการฉีดวัคซีนที่ทั่วถึง ดังนั้นไทยจะไม่สามารถควบคุมโรคได้เลย หากไม่มีมาตรการควบคุมที่เด็ดขาด ซึ่งตอนนี้การระบาดส่วนใหญ่ลงลึกถึงจุดที่เล็กสุดของสังคมคือ ครอบครัว

ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหา นอกจากการเข้มงวดที่ทำอยู่แล้ว ควรเร่งเสริมชุดตรวจโควิดที่ตรวจเองที่บ้าน จะช่วยในการป้องกันการแพร่ระบาดในครอบครัวได้ เพราะเมื่อมีการตรวจแล้วรู้ว่าตัวเองเป็น จะมีการแยกพื้นที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่นในบ้าน และแจ้งไปยังโรงพยาบาลเพื่อรอเตียง สิ่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องไปต่อคิวรอตรวจอย่างที่เป็นอยู่ ภายหลังประกาศมาตรการยกระดับเข้มงวดของรัฐบาล อย่างน้อย 28 วันต่อจากนี้ หากสถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตไม่ลดลง รัฐบาลอาจจะต้องวางแนวทางอย่างอื่นมาร่วมด้วย การที่ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจโควิดมาใช้ตรวจเองได้ที่บ้าน แม้จะมีการวิจัยพบว่า อาจจะได้ผลไม่ดีอยู่บ้าง แต่การที่ตรวจบ่อย ๆ ก็พบว่ามีประสิทธิภาพพอ ๆ กับการตรวจที่เป็นมาตรฐานของโรงพยาบาล ประชาชนสามารถตรวจได้ด้วยการวางแผนว่า 3 วัน หรือ 7 วัน

ประสิทธิภาพฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ

ด้าน รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ยังได้มีมุมมองว่า จากข้อมูลวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตา พบว่า วัคซีนไฟเซอร์ ป้องกันการติดเชื้อและมีอาการได้ 80%, แอสตราเซเนกา 60% ส่วนซิโนแวค ยังไม่มีข้อมูล ซึ่งวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อไหนถ้ามีการฉีดครบ 2 เข็ม อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้ป่วยไม่มีอาการหนักหรือเสียชีวิตได้  สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ที่มีผลวิจัยพบว่า  ฉีดซิโนแวค 1 เข็ม แล้วฉีดแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 2 ซึ่งมีการระบุถึง การสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ไม่ได้ระบุถึงประสิทธิภาพการป้องกันโรคจริง จะเปรียบเสมือนเรามีกำแพงที่ดี แต่เมื่อมีข้าศึกบุกมาเยอะ ๆ เช่น ไปสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง หรือไม่ได้เว้นระยะห่างในการใช้ชีวิต สุดท้ายก็อาจจะติดเชื้อได้

ส่วนของ การฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีคำแนะนำว่า หากฉีดด้วยเวกเตอร์วัคซีน ประสิทธิภาพการป้องกันอาจไม่ดีเท่าฉีด วัคซีน mRNA ซึ่งถ้าดูการฉีดวัคซีนแบบผสมอย่างเกาหลีใต้ หรืออิตาลี ที่ไม่ได้ใช้ฉีดซิโนแวค จะสามารถเลือกได้ว่า ไม่ว่าจะฉีดยี่ห้อไหนมาเข็มแรก เข็มที่ 2 สามารถเลือกได้ว่าจะฉีดไฟเซอร์ หรือโม​เดอร์นา แต่ถ้าการฉีดแอสตราเซเนกา 1 เข็ม แล้วตามด้วยซิโนแวค 1 เข็ม จะกระตุ้นภูมิไม่ต่างจากการฉีดแอสตราเซเนกา 1 เข็ม ซึ่งถ้าเลือกได้น่าจะควรให้ฉีดแอสตราเซเนกา ให้ครบ 2 เข็มไปเลย.