ย้อนหลังคดี ฆ่าเสือดำ ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ในจุดลำห้วยปะชิ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เมื่อต้นเดือน ก.พ. 61 จำเลยทั้งหมดที่ถูก นายวิเชียร ชิณวงษ์ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก นำกำลังบุกเข้าไปจับกุม ประกอบด้วย นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียน ไทยดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกคือ นายยงค์ โดดเครือ และ นายธานี ทุมมาศ แจ้งเอาผิด 6 ข้อหารวด
คดีความผ่านไปตามกระบวนการยุติธรรม ใช้เวลา 3 ปี 9 เดือน 8 วัน กระทั่งวันที่ 8 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา สั่งจำคุกนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 14 เดือน นายยงค์ จำคุก 2 ปี 17 เดือน และนายธานี จำคุก 2 ปี 21 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท
ไล่ล่าฆ่า “2 จ้าวป่า” สลดต้นปีเสือ
ใครจะไปเชื่อว่าเพิ่งจะตัดสินคดีฆ่าเสือดำ ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ผ่านไปเดือนเดียวเท่านั้น กลับมาเกิดเหตุเสียงปืนลั่นดังสนั่นป่าใหญ่ใน อ.ทองผาภูมิ อีกครั้ง ห่างจากคดีเสือดำ ขึ้นไปทางฝั่งตะวันตก ประมาณ 80 กม. มาเกิดคดี ฆ่า 2เสือโคร่ง เพศผู้-เพศเมีย ตาย 2 ตัวคู่ ระหว่างวันที่ 9-11 ม.ค. 65 กลายเป็นเรื่องที่สร้างความสลดหดหู่ให้กับบรรดานักอนุรักษ์ รวมถึงประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่ได้ทราบข่าว โดยกำลังของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ หลังได้ยินเสียงปืนดังสนั่นพงไพร จึงเร่งออกติดตามรอยไปตรวจสอบต้นเสียง จากนั้นวันที่ 12 ม.ค. ไปพบกลุ่มพราน 5 คน บริเวณป่าปิล็อกคี่ หมู่ 4 ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ แต่ทั้งหมดฉวยโอกาสวิ่งหลบหนีเข้าไปในป่าทิ้งซากเสือและอาวุธเอาไว้เป็นหลักฐาน
ภาพที่เห็นสุดสะเทือนใจ เสือโคร่ง 2 ตัวเพศผู้และเพศเมีย ถูกแล่หนังขึงอังไฟ ส่วนเนื้อ กระดูก ถูกพรานใจอำมหิต แล่ออกเป็นชิ้น ๆ วางย่างรมควันอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ยกสูง นอกจากนี้ยังพบอาวุธสังหารปืนลูกกรดยาวติดกล้อง 1 กระบอก ปืนแก๊ปยาว 2 กระบอก ปืนลูกซองยาว 5 นัด มีทะเบียนเป็นปืนหลวง ของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) พร้อมเครื่องกระสุน รวมทั้งอุปกรณ์ดำรงชีพในป่าจำนวนมาก หลังจาก นายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานฯทองผาภูมิ รายงานให้ นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)และผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบ จึงประสานงานสนธิกำลังกับหลายหน่วย ทั้ง นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจฯ พญาเสือ, พ.อ.เฉลิมชัย ชัดใจ ผบ.ร.9 พล.ร.9 ผบ.ฉก.ลาดหญ้า, พ.ต.อ.สันติ พิทักษ์สกุล ผกก.สภ.ทองผาภูมิ และกำลังฝ่ายปกครอง กว่า 100 นาย ระดมออกติดตามล่ากลุ่มพรานป่า สันนิษฐานว่าทั้งหมดน่าจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านปิล็อกคี่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก โดยประสานไปยังผู้นำชุมชนให้ร่วมตรวจสอบด้วย
กระทั่งเช้าตรู่วันที่ 13 ม.ค. หลังถูกกดดันหนัก ทำให้ทั้งหมดยอมเข้ามอบตัว ที่สภ.ทองผาภูมิ ประกอบด้วย 1.นายรัชชานนท์ เจริญทรัพย์ อายุ 30ปี 2.นายศุภชัย เจริญทรัพย์ อายุ 34 ปี 3.นายจอแห่ง พนารักษ์ อายุ 38 ปี 4.นายกูกือ ยินดี อายุ 37 ปี และ 5.นายโซเอ อายุ 66 ปี ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านปิล็อกคี่ มีอาชีพรับจ้างเลี้ยงวัว สอบสวนให้การรับสารภาพว่า นายจอแห่ง ลงมือยิงเสือตัวแรก ด้วยอาวุธปืนยาวลูกกรดติดกล้อง ส่วนนายศุภชัย ยิงเสือตัวที่ 2 ด้วยอาวุธปืนแก๊ปยาว สาเหตุที่ยิงเสืออ้างว่า ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ถูกเสือแอบมากัดกินวัวไปแล้วถึง 20 ตัว จึงเกิดความแค้นเลยออกมาล่าเสือ ส่วนอาวุธปืนลูกซอง อปพร. ยืมเพื่อนมาเอาไว้ป้องกันตัวเท่านั้นไม่ได้ใช้ยิงเสือ ขณะที่นายโซเอ ไม่รู้เห็นแต่ไปนอนด้วย 1 คืน
กรรมติดจรวดแก๊งพรานโหด
คดีนี้หลังจับกุมผู้ต้องหาได้พร้อมของกลางครบถ้วน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.พร้อมคณะลงไปเกาะติดคดีด้วยตัวเอง ที่สภ.ทองผาภูมิ โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้ง 11 ข้อหา 1.ร่วมกันมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ไว้ในครอบครอง 2.ร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ร่วมกันเก็บหาของป่า อันเป็นการเสื่อมเสีย แก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ 4.ร่วมกันล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไป หรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่า ในเขตอุทยานฯ 5.ร่วมกันเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในอุทยานฯ 6.ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในอุทยานฯ 7.ยิงปืนทำให้เกิดระเบิด หรือจุดดอกไม้เพลิง ในเขตอุทยานฯ 8.ร่วมกันทิ้งสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ ในเขตอุทยานฯ 9.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าหรือสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง 10.ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ไว้ในครอบครอง และ 11.ร่วมกันนำสัตว์เลี้ยง (วัว)เข้าไปในอุทยานฯ
นอกจากนี้ นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สบอ.3 (บ้านโป่ง) ร่วมกับ นายกมลาส อิสสะอาด หัวหน้าอุทยานฯเขาแหลม นายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานฯทองผาภูมิ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังหมู่บ้านปิล็อกคี่ หมู่ 4.ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ เพื่อติดป้ายประกาศ บริเวณบ้านของผู้กระทำผิดทั้ง 5 คน โดยสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนทั้งหมด และให้ทุกคนออกจากพื้นที่อุทยานฯเขาแหลม ภายใน 30 วัน เนื่องจากร่วมกัน กระทำผิดมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ถ้ากระทำการใด ๆ เป็นการทำลาย หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาป่า หรือสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ สั่งให้ผู้กระทำความผิดออกจากพื้นที่ ทำลาย รื้อถอน และหรือ ดำเนินการอื่น ๆ ตามกฎหมายกำหนด
นายนิพนธ์ ผอ.สบอ.3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า แนวทางการป้องกันปราบปราม ขบวนการตัดไม้และล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น ขณะนี้ได้ตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษขึ้นรวม 12 ชุด จำนวน 140 คน สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 14 ม.ค. ของทุกปี เป็น วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ประกอบกับมีเหตุการณ์นายพราน 5 คนล่าเสือโคร่ง 2 ตัว ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาก่อน จึงได้ยกระดับการปฏิบัติการป้องกัน และปราบปรามการลักลอบตัดไม้ และล่าสัตว์ป่าอย่างเข้มข้น โดยได้ปล่อยชุดปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 12 ชุด เจ้าหน้าที่ 140 นาย ที่บริเวณฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ กจ.1 (ไทรทอง) อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตามคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ที่ 6/2565 โดยมอบหมายให้ นายสันติ ศิริเลิศ ผอ.ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมดูแลรับผิดชอบ
จัดทีมปฏิบัติการพิเศษ 12 ชุดคุมเข้มผืนป่า
ทั้งนี้ เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษทั้ง 12 ชุด สามารถออกตรวจปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ในเขตรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)ได้ทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเฉพาะโซนผืนป่าด้านตะวันตก ใน จ.กาญจนบุรี ให้ปฏิบัติการอย่างเข้มข้นขึ้นเป็นพิเศษ และหากพบการกระทำผิดกฎหมาย ว่าด้วยการป่าไม้ซึ่งหน้า สามารถดำเนินการจับกุม และกล่าวโทษได้ทุกพื้นที่ โดยไม่มีการแบ่งแยกว่า เป็นพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานใด
“ที่ผ่านมาดำเนินการแบบพื้นที่ของใครก็รับผิดชอบอาจทำให้เกิดช่องว่างในการดูแลผืนป่า จึงได้เตรียมออกคำสั่งให้ทุกอุทยานฯและทุกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่ทุกคนทุกแห่งร่วมบูรณาการ โดยสามารถดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดได้ทันทีทุกแห่ง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่รับผิดชอบ และให้แจ้งข้อกล่าวหาด้วยตนเองได้เลย ไม่ต้องให้เจ้าของพื้นที่ดำเนินการ รวมทั้งจะมอบเงินรางวัล 5,000 บาท ให้แก่เจ้าหน้าที่นั้น ๆ หากมีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย”นายนิพนธ์ กล่าว
นอกจากการป้องกันปราบปรามไร้รอยต่อแล้ว ยังสั่งการให้ทุกอุทยานฯและทุกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดำเนินการสำรวจชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์ (วัว และกระบือ) ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ว่า มีกี่รายมีจำนวนกี่ตัว เพื่อหาพื้นที่ให้เลี้ยงในที่เหมาะสม ตามมติ ครม.30 มิ.ย. 41 ที่ผ่อนปรนอนุโลมให้อยู่ทำมาหากินในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ระยะหลังมีการนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปเลี้ยงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ไม่อนุญาต อีกทั้งยังนำอาวุธปืนติดตัวเข้าไปด้วย เมื่อถูกจับกุมมักจะอ้างว่า เพื่อป้องกันตัวจากสัตว์ร้าย ทั้ง ๆ ที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งทราบว่า บางรายที่เข้าไปเลี้ยงสัตว์ก็จะล่าสัตว์ป่าด้วย การสำรวจเรื่องสัตว์เลี้ยงจึงเป็นการควบคุมป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต.
ห่วงปม ‘จนท.พิทักษ์ป่า’ ถูกลด 33%
ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ถูกตัดงบประมาณ ประจำปี 2565 อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น นอกจากจะถูกตัดกำลังเจ้าหน้าที่แล้ว คนที่อยู่ยังถูกตัดลดเงินเดือนไปนั้น นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า ภาพรวมปีงบประมาณ พ.ศ.2565 กรมอุทยานฯได้ถูกปรับลดงบลงไปเฉลี่ย 900 ล้านบาท ซึ่งในช่วงย้อนหลัง 5 ปี มีการปรับลดงบลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่หนักสุดคือปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 อัตราจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า 5,163 คน ล่าสุดถูกตัดเหลือ 3,432 คน (หายไป 1,731 คน คิดเป็น 33%) กรมอุทยานจึงได้นำเงินรายได้ค่าธรรมเนียมมาสนับสนุนปีละกว่า 200 ล้านบาท เพื่อประคองให้เจ้าหน้าที่ ตอนนี้ก็ให้เบี้ยเลี้ยงในการเดินป่า ชั่วโมงละ 50 บาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 2,000 บาท เพื่อช่วยประคับประคองดูแล “ยอมรับว่าเป็นห่วงอย่างมากหลังมีการปรับลดกำลังเจ้าหน้าที่จึงอาจดูแลไม่ทั่วถึง ปัญหาการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่าจะกลับมาอีก อย่างไรก็ดีขณะนี้กำชับให้ดูแลสแกนพื้นที่เสี่ยงในโซนภาคตะวันตก พร้อมจะหมั่นลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ เพราะทราบดีว่าการปรับลดกำลังคนในครั้งนี้ กระทบต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นอย่างมาก”