เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา คือ “วันโรคอ้วนโลก World Obesity Day” ที่จัดขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้ทุกคนได้ตระหนักว่าความอ้วนเป็นโรคที่ควรระวัง เพราะหากพูดถึงเรื่องของคำว่า “อ้วน” นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพของคนไทย
แต่เคยกันหรือไม่คะ? ที่อยาก “ลดความอ้วน” แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่ลดสักที หรือลดแล้วก็ช้าเสียเหลือเกิน จะทำอย่างไรดี วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
โดย นพ.ปราโมทย์ พัชรมณีปกรณ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวานไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวานไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ มีอยู่ด้วยกัน 5 ประเด็นก็คือ
1.ขาดแรงบันดาลใจในการลดน้ำหนัก หมอได้ยินบ่อยว่า “ไม่รู้ว่าจะลดน้ำหนักไปทำไม?” เพราะเวลาเราทำอะไรยากๆแล้วสำเร็จเป็นเพราะเรามี Passion ยากแค่ไหนก็ทำได้ การลดน้ำหนักก็เช่นกัน ถ้าคุณมี Passion มากพอ รับรองว่าทำได้ ลองหาเหตุผลที่โดนใจสักข้อ เช่น ไม่อยากป่วยเป็นโรคจากความอ้วน อยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น ต้องไม่หมด Passion
2.เข้าใจผิดคิดว่ากินสิ่งนี้แล้วไม่อ้วน ผลไม้ที่คนส่วนใหญ่คิดว่ากินเยอะแล้วไม่อ้วน ความจริงคือผลไม้มีน้ำตาลซึ่งให้พลังงานสูง แต่ขึ้นอยู่กับว่ากินมากแค่ไหน ยกตัวอย่าง ส้ม 1 ลูก (ผลเท่าลูกเทนนิส) ให้พลังงานเท่ากับกินข้าวสวย 1 ทัพพี ถ้าไม่กินข้าวเย็นแต่กินส้มไป 5 ลูกแทน ก็แปลว่าเรากินข้าวสวยไป 5 ทัพพี อาหารทอด อาหารผัดทุกชนิด อาหารจานเดียวต่างๆ มีน้ำมันที่ซ่อนอยู่ในอาหารกลุ่มนี้ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำหวาน ชานม น้ำอัดลม แต่อันที่จริงเคยคิดไหมว่า เราพังมาเท่าไหร่แล้วกับคำว่า “ไม่เป็นไรหรอกนิดเดียวไม่อ้วนหรอก”
3.ขี้เกียจออกกำลังกาย แม้จะคุมอาหารหรือกินน้อยแค่ไหน แต่ไม่ออกกำลังกายก็ทำให้การเผาผลาญไขมันได้น้อย การออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การคุมอาหาร ลองเริ่มต้นครั้งละสั้นๆ 10-15 นาที แล้วค่อยเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเป้าหมายที่วางไว้ หรือเลือกกิจกรรมที่เราชอบหรือเคยทำ เช่น ปั่นจักรยานอยู่กับที่แล้วเปิดดูซีรีส์ไปด้วยไม่นานก็ครบเวลาที่เราตั้งไว้แล้ว แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย
4.เครียดมาก หาทางออกด้วยการกิน เพราะอารมณ์มีอิทธิพลต่อการกิน เช่น ทำงานใช้สมองเหนื่อยเครียดมาก ต้องการผ่อนคลายด้วยการกินบิงซู เค้กชิ้นโต หรือไอติมสัก3-4 ลูก ซึ่งถ้าใช้การกินเป็นวิธีคลายเครียดแน่นอนเราจะกินมากกว่าปกติ กลับมาถามตัวเองสักนิดว่า มีวิธีคลายเครียดวิธีอื่นนอกจากการกินไหม เช่น ไปออกกำลังกายคลายเครียดแถมได้ลดน้ำหนัก หรือนั่งหายใจเข้าลึกๆ แล้วหายใจออกยาวๆ ช้าๆ ทำไปเรื่อยๆ 1 นาทีก็เห็นผล ถ้าทำต่อหลายๆ นาที หายเครียดชัวร์ และพึงระลึกเอาไว้เลยว่า “ถ้าเครียดไม่กิน ถ้าเครียดให้ออกกำลัง ถ้าเครียดให้หายใจลึกๆ”
5.ลดน้ำหนักแบบตึงเกินไป จนเครียด ท้อ เลิกทำ หลายคนลดน้ำหนักได้แล้วก็จริง แต่ทำได้ไม่นานก็เลิกทำเพราะอะไร ก็เพราะทำแล้วไม่มีความสุข เครียดกว่าเดิม ทำงานหรือเรียนก็เครียดอยู่แล้ว ยังจะต้องมาเครียดกับการคุมอาหารอีก การลดน้ำหนักให้สำเร็จอย่างยั่งยืนไม่ใช่การลดอย่างรวดเร็ว สิบกิโลในเวลาเดือนสองเดือนพอลดได้แล้วก็เลิกทำไป แต่สิ่งสำคัญคือความสุขในระหว่างที่ลดน้ำหนัก ถ้าบาลานซ์ได้ดีระหว่างความสุขจากกิน ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอกับน้ำหนักตัว เราจะประสบความสำเร็จในระยะยาว บางคนตั้งใจคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างดีแล้วแต่น้ำหนักลดน้อยหรือไม่ลดเพิ่ม ทำให้เสียกำลังใจ ท้อ เลิกทำ จุดนี้หมออยากให้กำลังใจว่าคนเรามีพันธุกรรมไม่เหมือนกัน การเผาผลาญไม่เท่ากัน แม้ว่าเราจะกินอาหารและออกกำลังกายเท่ากับเพื่อน แต่น้ำหนักเราอาจจะลดน้อยกว่าเพื่อนได้ ขอให้ทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป ให้ลดอย่างมีความสุข ถ้าไม่ลดเราไม่เลิก (แม้)ไม่ลด (แต่ก็)ไม่เลิก
นอกจากนี้ ยังไม่วิธีในการใช่ลดความอ้วนได้ หากลองทำตาม “ปรับ 3 อ.เพื่อหยุด อ.อ้วน” คือ “อ. อาหาร” ปรับลดพลังงานในอาหารลงเพียง 500 กิโลแคลอรีต่อวันทำได้ครบ 7 วัน น้ำหนักลดลงครึ่งกิโลกรัม “อ.ออกกำลังกาย” ปรับการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นออกกำลังกายให้ได้ 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ ถ้าจะให้ดีควรออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance exercise) 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และ “อ.อารมณ์” ปรับอารมณ์ให้ไม่เครียดมีสติเวลากิน
แต่ในหลายๆ ครั้งของ “การลดน้ำหนัก” เพียงลำพังไม่สำเร็จ เพราะขาดตัวช่วย อาจเข้ารับคำปรึกษาจาก “คุณหมอ (Endocrinologist)” เพื่อหาสาเหตุของภาวะอ้วนที่อาจแฝงอยู่ เช่น โรคไทรอยด์ต่ำ โรคฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ฯลฯ ประเมินและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วน หรืออาจพิจารณายาช่วยลดน้ำหนักที่รับรองโดย อย.อย่างถูกต้อง ถ้ามีข้อบ่งชี้ และใช้ยาอย่างปลอดภัย
พบกับ “นักกำหนดอาหาร (Dietitian)” จะช่วยประเมินอาหารที่เรากินว่ามากเกินไปหรือไม่ และกำหนดชนิด ปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม หรือ “นักวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sport scientist)” จะช่วยแนะนำการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ทั้งชนิดการออกกำลังกาย ความหนักเบาที่เหมาะกับบุคคล รวมไปถึง “พยาบาลผู้ให้ความรู้ (Obesity Co-ordinator)” เพื่อช่วยประเมินพฤติกรรมการกินอุปสรรคของการลดน้ำหนัก
ฉะนั้น การลดน้ำหนักคงไม่ใช่เรื่องของการลดเพื่อรูปลักษณ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็น “การทำเพื่อตัวเอง” ให้ร่างกายแข็งแรง เพราะเรื่องของการดูแลสุขภาพนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด ยิ่งสุขภาพดีแข็งแรงแล้ว ก็คงดีกว่าการเจ็บป่วยเป็นไหนๆ ใช่ไหมคะ?….
…………………………..
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”