@@@@ รัฐนิวเซาท์เวลส์ รายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในพื้นที่ 111 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ใน 24 ชั่วโมง จนถึงเวลา 20.00 น. ในวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2564 มีการทดสอบเกือบ 82,000 ราย โดยมีผู้ป่วยอย่างน้อย 29 รายที่ยังอยู่ในชุมชนขณะติดเชื้อ นางกลาดิส เบเรจิคเลียน มุขมนตรีของรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้กำหนดข้อจำกัดใหม่สำหรับธุรกิจต่างๆ เนื่องจากจำนวนเคสยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงล็อกดาวน์ เธอกล่าวว่าขณะนี้มีเพียง “การค้าปลีกที่สำคัญ” เท่านั้นที่ยังคงอนุญาตให้เปิดอยู่ ในขณะที่รัฐพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเดลต้า “เราต้องการให้แน่ใจว่าเรามีนโยบายที่ไม่มีการเสียใจในภายหลัง” นางเบเรจิเคลียนกล่าว ร้านค้าปลีก ยกเว้นบางกรณีที่ต้องปิดตั้งแต่เที่ยงคืนของคืนนี้ ขณะที่จะมีการหยุด “การก่อสร้างทั้งหมด” ชั่วคราวซึ่งไม่มีความเร่งด่วนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 กฎใหม่มีผลบังคับใช้กับซิดนีย์ เซ็นทรัลโคสต์ บลูเมาเทนส์ วูลองกอง และเชลล์ฮาร์เบอร์ ห้ามดำเนินงานต่อเติม ซ่อมแซม ดูแลปรับปรุง และทำความสะอาดบ้าน ที่ไม่มีเหตุเร่งด่วน หลังจากการประกาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของข้อจำกัดโควิด-19 ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ คนขับรถบรรทุกได้จัดขบวนประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ใหม่ให้หยุดการก่อสร้างจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม โดยจอดรถขวางการจราจรข้ามสะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์และสะพานแอนแซค หลังการ
ร้านที่ยังสามารถเปิดให้บริการ ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของชำ รวมถึงร้านขายเนื้อ เบเกอรี่ ร้านขายผักผลไม้ ร้านขายแอลกอฮอล์ และร้านขายปลา ร้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ รวมถึงร้านขายของสำหรับแม่และเด็ก ร้านขายยา ปั๊มน้ำมัน บริการเช่ารถ ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ทำสวน และเครื่องมือต่าง ๆ ร้านขายเครื่องมือการเกษตร ร้านสัตว์เลี้ยง ไปรษณีย์ ร้านขายหนังสือพิมพ์ ร้านขายอุปกรณ์ออฟฟิศ ร้านค้านอกจากนี้จะต้องปิดตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม ‘คลิกและรวบรวม’ ซื้ออาหารกลับบ้านและจัดส่งที่บ้าน ‘Click and collect’ takeaway and home delivery ยังคงสามารถดำเนินการได้
ในขณะที่รัฐวิกตอเรียได้เข้าสู่วันที่สองของการล็อกดาวน์ Covid -19 ครั้งล่าสุด เนื่องจากมีผู้ป่วยรายใหม่ 19 รายในท้องถิ่น ที่ได้รับรายงานมา นาย มาร์ติน โฟลีย์ รัฐมนตรีสาธารณสุขของรัฐรายงานเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม 2564 ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วย active case ในชุมชนทั้งหมด 54 ราย ภายในรัฐและไม่มีใครอยู่ในโรงพยาบาลเลย มีผลการทดสอบทั้งหมด 47,606 ราย ที่ได้รับรายงานในวันศุกร์ นาย มาร์ติน โฟลีย์ กล่าวว่าผู้ป่วยรายใหม่ 18 ราย ติดเชื้อขณะอยู่ในชุมชนโดยเฉลี่ยหนึ่งวันครึ่ง “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการติดเชื้อที่ดี แต่ในขณะนี้ เรายังไม่เห็นกรณีใดๆ ที่ไม่เชื่อมโยง เราสามารถ link เคสได้ มีผู้ติดต่อผู้ติดเชื้อใกล้ชิด ประมาณ 10,000 ราย ทั้งหมดสามารถเชื่อมโยง” การระบาดในปัจจุบันนี้เริ่มต้นขึ้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เมื่อครอบครัวหนึ่งป่วยหลังจากกลับมาจากซิดนีย์ และหลังจากทีมของพวกขนย้ายสัมภาระ removalist เดินทางไปยังวิกตอเรียและเซาท์ออสเตรเลียขณะที่ตนเองติดเชื้อ
รัฐนิวเซาท์เวลส์ รายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในพื้นที่ 111 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ขยายเวลาลอคดาวน์ไปจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม ในขณะที่รัฐวิคตอเรีย มีผู้ป่วยรายใหม่ 19 ราย ในท้องถิ่น นับเป็นวันที่สองของการประกาศลอคดาวน์ 5 วัน
@@@@ โครงการทำบุญถวายแสงไฟแทนแสงเทียน พิธีบุญเข้าพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ ณ วัดไทยพุทธาราม นครบริสเบน ออสเตรเลีย เนื่องจากหลอดไฟฟ้าในศาลาหลวงพ่อไพบูลย์และอาคารต่าง ๆ ของวัดไทยพุทธารามได้ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน มีความชำรุดขาดไปหลายดวง และเป็นหลอดเก่ากินกระแสไฟฟ้ามาก ทางวัดจึงมีนโยบายเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ ๒๐๐ ดวง เป็นหลอดไฟฟ้า LED แบบประหยัดไฟ ดังนั้น จึงขอเชิญท่านสาธุชนทั้งหลาย ร่วมทำบุญเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าของวัดไทยพุทธารามทั้งหมด เพื่อถวายแสงไฟแทนแสงเทียนในช่วงเข้าพรรษาในปีนี้ โดยสามารถทำบุญหลอดละ $20 เหรียญ หรือตามกำลังศรัทธาได้ โดยสามารถโอนปัจจัยทำบุญเข้าบัญชีวัดไทยยพุทธารามได้ดังนี้ A\C NAME : WAT THAI BUDDHARAM INC. BSB NO : 034 – 115 A\C NO : 235 948
@@@@ โครงการอุปสมบทหมู่ เพื่ออยู่จำพรรษา ๓ เดือน เนื่องจาก วัดไทยพุทธาราม นครบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ได้มีโครงการอุปสมบทหมู่ เพื่ออยู่จำพรรษา ๓ เดือน เพราะในปีนี้ วัดไทยพุทธารามมีพระภิกษุประจำอยู่แล้ว ๓ รูป ไม่เพียงพอในการประกอบพิธีสำคัญตามพระวินัยทางพระพุทธศาสนา เช่น พิธีสวดปาฏิโมกข์ พิธีทอดกฐิน เป็นต้น จึงประกาศรับสมัครกุลบุตรผู้มีจิตศรัทธาเข้ามาอุปสมบทเพื่ออยู่จำพรรษา ๓ เดือน โดยมีผู้สมัครเข้าอุปสมบทเพื่ออยู่จำพรรษา ๓ ท่านคือ นายปณิธาน สิวหากุลไกร นายบรรหาร มูลละ และนายสิทธิชาติ ฑียาพงศ์ ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ กุลบุตรผู้มีผู้มีจิตศรัทธาทั้ง ๓ ท่าน ได้เดินทางไปเข้ารับอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุโบสถวัดกัมพูชา พร้อมด้วยครอบครัวและญาติมิตรทั้งหลาย ทั้งสามท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเสร็จสมบูรณ์ มีนามปรากฏว่า (๑) พระปณิธาน ปฏิภาโณ (๒) พระบรรหาร ปริหารจิตฺโต (๓) พระสิทธิชาติ สิทฺธิเตโช โดยมีพระศรีพุทธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธาราม นครบริสเบน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปรีชา สมฺปยุตฺโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระใบฎีกากิตติภูมิ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พร้อมพระสงฆ์ร่วมเป็นพระอันดับอีก ๖ รูปจากวัดพระธรรมกาย ๑ รูป วัดลาวบริสเบน ๑ รูปกัมพูชาใหญ่ ๒ รูป และวัดเขมรรัศมีรัตนสามัคคี อีก ๒ รูป
ในการนี้ ญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย ได้ร่วมทำบุญในการอุปสมบทหมู่ครั้งนี้ด้วยการทำบุญถวายผ้าไตรจีวรแก่พระบวชใหม่ ทำบุญถวายบริขาร ทำบุญร่วมซื้อเครื่องบายศรี และทำบุญโรงทานเลี้ยงอาหารเป็นจำนวนมาก นำความปลาบปลื้มมาสู่ครอบครัวและญาติพี่น้อง เพื่อนมิตรสหายทุกท่าน ขออนุโมทนาบุญทุกท่าน สาธุ
วัดไทยพุทธาราม นครบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ได้มีโครงการอุปสมบทหมู่ เพื่ออยู่จำพรรษา ๓ เดือน เพราะในปีนี้ วัดไทยพุทธารามมีพระภิกษุประจำอยู่แล้ว ๓ รูป ไม่เพียงพอในการประกอบพิธีสำคัญตามพระวินัยทางพระพุทธศาสนา
@@@@ ขออนุโมทนาสาธุบุญกับทุกๆ ท่านที่เข้าร่วมงานทำบุญประจำปี 2021 ณ เมืองนาราคอต ถวายเทียนพรรษา ในวันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม 2564 ณ Coonawarra Soldiers Memorial Hall เลขที่ 11 Memorial Dr, Coonawarra 5023 โดย นายภโวทัย และนางลิลลี่ โชคชัยศรี เป็นประธานกิจกรรม ได้นิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 3 รูป จาก วัดศรีรัตนวนาราม (วัดบนเขา) 105B Whitehead Rd, Mylor, SA 5153 ร่วมด้วย สมาคมคนไทยแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย (TAASA) และมีคนไทยในพื้นที่ คนไทยจากในเมืองแอดิเลด คนจีน ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเชีย เข้าร่วมทำบุญในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมประจำปีที่ทำกันติดต่อมานานของชุมชนไทยในเมืองนี้ ที่พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ไกลๆ ไม่ได้มีวัดอยู่ในพื้นที่ ได้มีโอกาสสวดมนต์ รับศีล รับพร ถวายสังฆทาน ตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ กิจกรรมนี้ได้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปี ในปีหน้าหากใครพร้อมไปด้วยกัน เตรียมตัวไว้เลย ได้เที่ยว และได้ทำบุญ เจ้าภาพขอเรียนเชิญเอาไว้ล่วงหน้า เริ่มพิธีการ ตั้งแต่เวลา 9.30 น. พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ถวายเทียนพรรษา ถวายสังฆทาน รับพร ตักบาตร ถวายภัตตาหาร และรับประทานอาหารร่วมกัน
งานทำบุญประจำปี 2021 เมืองนาราคอต ถวายเทียนพรรษา ในวันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม 2564 ณ Coonawarra Soldiers Memorial Hall เมือง Coonawarra โดย นายภโวทัย และนางลิลลี่ โชคชัยศรี เป็นประธานกิจกรรม นิมนต์พระสงฆ์จากวัดศรีรัตนวนาราม Mylor
@@@@ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.00 น. ทางสมาคม Thai Food Fair & Entertainment Association of South Australia Inc. และสมาชิกส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมพิธีปลงผมบวชชี นางศาริษา บุญประสงค์ รองประธานสมาคมฯ และกรรมการสมาคมอีก 2 คน คือ นางสาว พิศภิมล เรืองเดชกุลหิรัญ และนางกัญญภัค ฮิกาชิโมโต ณ วัดศรีรัตนวนาราม (วัดบนเขา) ร่วมบวชชีพราห์มด้วยเป็นเวลา 7 วันทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกจิตให้สงบสร้างบุญกุศลให้กับตนเอง บุพการีและสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ โดยการกำหนดศีลเจริญภาวนา และสร้างสมาธิเพื่อแบ่งปันให้ได้รับผลบุญโดยทั่วกัน ผู้สื่อข่าวถามแม่ชีศาริษา หลังจากปลงผมบวชได้ความว่า “หากข้าพเจ้าบวช เนกขัมมะ ถือศีล 8 ใส่ชุดขาวธรรมดา ความรู้สึกก็คงจะเหมือน ครั้งก่อนก่อน ที่เคยปฏิบัติมา มาครั้งนี้จึงตัดสินใจ เพิ่มบททดสอบให้กับชีวิต ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจปลงผมโกนหัวบวชชี เพื่อพิจารณาปลงสังขารในรูปกายที่เคยคิดว่าสวยสดงดงาม มาบัดนี้ร่วงเข้าวัยกลางคน และกำลังจะย่างสู่วัยชรา”
ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยและชาวต่างชาติผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เข้าร่วมกิจกรรมวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2564 ณ วัดศรีรัตนวนาราม (วัดบนเขา) วัดไทยในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เวลา 9.30 น เป็นต้นไป หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ให้รอฟังประกาศจาก SA health อีกครั้งว่าจะอนุญาตให้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นจำนวนเท่าใด เนื่องจาก สถานการณ์ Covid ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้
นางศาริษา บุญประสงค์ รองประธานสมาคม Thai Food Fair & Entertainment Association of South Australia Inc. และกรรมการสมาคมอีก 2 คน ได้เข้าร่วมพิธีปลงผมบวช ณ วัดศรีรัตนวนาราม (วัดบนเขา) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.00 น.
@@@@ ฉลองวันเกิดครบ 57 ปีไปกับเพื่อนๆหมาดที่บ้าน Coodanup แต่ไม่ได้เชิญแขกให้เป็นที่เอิกเกริกเพราะสถานการณ์โควิด รวมทั้ง restriction ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียที่มี นาย Mark McGowan มุขมนตรีที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัดที่สุดของออสเตรรัย แต่ก็ยังมีบรรดาพี่น้องผองมิตรทยอยไปแสดงความยินดีกับแดง เปมิกา เอลลิส กันมากมายอยู่ดี เปมิกา เป็นคนชอบสนุก ชอบช่วยเหลือคนเป็นลูกสาวพ่อขุนผาเมือง เพชรบูรณ์ พ่อเป็นคนเพชรบูรณ์ แม่เป็นสาวพิจิตร
ฉบับนี้ขอเสนอเรื่องราวของเธอเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้อ่านที่ใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลียได้มองเห็นแนวทางการใช้ชีวิต การเตรียมตัวหางาน ได้เห็นแนวทางเบื้องต้น เปมิกา เล่าให้เดลินิวส์ฟังว่า “แดงเป็นลูกคนสุดท้องในพี่น้อง 3 คนคะ เรียนจบ มศ 3 แม่เสียชีวิต และพ่อเป็นพ่อค้า ไม่ได้อยู่บ้าน แดงจึงไปอยู่กับอาน้องสาวของพ่อ และทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย พออายุ 20 ก็อยากไปทำงานกรุงเทพ จึงเข้ากรุงเทพไปอาศัยอยู่กับญาติคะ และได้เข้าทำงานโรงแรมเป็นสาวเสริฟ และได้เลื่อนมาเป็นรีเซฟชั่น เพราะว่าชอบพูดภาษาอังกฤษ เช้าทำงานเย็นไปเรียนเสริมสวยคะ อยู่กรุงเทพ หลายปีก็เริ่มเบื่อรถติด ก็เลยได้ข่าวว่าเพื่อนทำงานอยู่พัทยาจึงไปเที่ยวหาเขา ก็ไปสมัครงานที่โรงแรม รอยัลการ์เดน (แมริออท)ได้ทำงานในตำแหน่ง บาร์เทนดี้ และไปเป็นรีเชฟชั่นของโรงแรม และเพื่อนบอกว่า ถ้าอยากทำงานออฟฟิศตอนนี้ที่มาบตาพุด ระยอง เขาต้องการคนรับโทรศัพท์หรือโอเปอเรเตอร์ ของ สตาร์ปิโตรเลียม ก็ได้ทำงานเกี่ยวกับ ออฟฟิศ เขาเรียกว่างานโปรเจ็ค หมดงานก็ต้องหางานใหม่ จึงไม่อยากเป็นมือปืนรับจ้าง และพอดี บริษัท เจเนอรัลมอเตอร์ประเทศไทย เขาไปตั้งโรงงานที่ ปลวกแดง ระยอง เลยไปสมัครในตำแหน่ง รีเชฟชันและโอเปอเรเตอร์ ทำงานที่นั่นอยู่หลายปี และใช้เวลาเสาร์อาทิตย์ก็ไปเรียน มสธ ก็ได้รับปริญญาตรีสาขาวิชาศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมาใบหนึ่ง และต่อก็มีบริษัท เรียลเอสเตท ชวนมาทำงานด้วยเลยมาทำงานกับเขา งานไม่ยุ่งเลยรับจ้างแปลจดหมายบ้างเป็นล่ามบ้าง เพราะว่าแดงเป็นคนตรงไปตรงมา”
ช่วงนั้นเมืองไทยนิยมหาแฟนออนไลน์ นอกจากรับจ้างแปลงานแล้ว เธอก็นึกสนุก อยากลองหาคู่ให้ตัวเอง เธอเลยได้คุยกับว่าที่สามี ชีวิตเธอก็เริ่มพลิกผัน “แดงคุยกับเขาไปพักหนึ่ง ถูกอัธยาศัย เขาขอแต่งงานรีบเลยคะ ตกลงเลย เจอคนถูกใจไม่รีบคว้า จะสายเกินไป ก็มีการไปสู่ขอและทำให้พิธีแต่งาน จดทะเบียนในปี 2007 แต่งงานแล้วก็ไปไปมามา อยู่หลายปี เพราะแดง ยังทำงานอยู่ ขายประกัน ของไทยประกันชีวิต ในตำแหน่งผู้จัดการ สามีเลยอยากให้มาอยู่ที่ออสเตรเลีย แรกๆก็ไม่ชินค่ะ เพราะหิวข้าว สามีก็พาไปร้านอาหารไทยทุกที่ กลางวันว่างๆเหงามาก เลยต้องหาทางรู้จักคนไทยคะ เขาบอกไปลงทะเบียนเรียนภาษาอังกฤษฟรี 510 ชั่วโมง เลยไปเอง ใช้โทรศัพท์นำทาง โทรหาสามีบ้าง ว่าหลงทาง เขาก็ทำงาน สุดท้ายก็หาจนเจอ ถามเขาตลอดเวลา เพราะเราคิดว่า ปากเป็นเอก คนที่นี่น่ารักคะ ถามเขาก็บอก สุดท้ายหาโรงเรียนเจอ Central TAFE ไปสมัครเรียน เขาให้ลง Certificate 3 เลยคะ เรียน Full Time เรียนจบเร็วมาก ลงเรียนต่อไปอีก First Aid, Grammar, Business เรียนจนครูจำได้ พอดีเขามี Program ใหม่ เขาเรียก Settlement Language Pathways to Employment and Training (SLPET) ฟรี แดงเลยลงเรียน รุ่นแรกเลยคะ เขาก็ถามเราว่า เรามีประสบการณ์อะไรมา และอยากทำอะไร แดงส่ง เรซุเม Resume ให้เลยคะ เขาเลยให้ลองทำงานก่อนเขาเรียกว่า Work Experience ผลออกมาว่า เราทำงานกับเขาได้คะ เลยได้เป็นพนักงานราชการประจำ หน้าที่ของแดง ก็คือ Client services officer ให้ข้อมูลนักเรียน มีวิชาเลือกอะไรบ้าง สมัครเรียนได้เมื่อไหร่
แนะนำว่าข้อมูลแต่วิชา เช็คใบสมัครนักเรียน เช็ควีซ่าและราคาแต่ละวิชา รับโทรศัพท์ ตอบอีเมล์ เก็บค่าเรียนส่ง ใบยืนยันการลงทะเบียน จัดตารางเรียนส่งให้นักเรียน แจ้งให้นักเรียนทราบว่าวันและเวลา สถานที่ปฐมนิเทศ รับเรื่องร้องทุกข์ของนักเรียน แดงทำงานที่ Central TAFE ในนครเพิร์ธ ย่างเข้าปีนี้เป็นปีที่ 9 แล้วคะ แดงอาจจะเป็นคนโชคดีอยู่หน่อย สมัครงานที่ไหนก็ค่อนข้างจะได้รับเลือก แต่อยากบอกน้องๆนะคะ ภาษาเป็นเรื่องสำคัญ มาอยู่ประเทศเขาทั้งภาษาพูด ภาษาเขียนจำเป็นมากคะ แล้วอย่างที่บอก ไม่รู้อะไรถามดะไปเลยคะ แดงขอให้ทุกคนโชคดีนะคะ อายุไม่เป็นอุปสรรคคะ เริ่มต้นเมื่อไหร่ก็ได้”
เปมิกา เอลลิส แก่นสน ทำงานที่ Central TAFE ในนครเพิร์ธ ย่างเข้าปีนี้เป็นปีที่ 9 ในหน้าที่ Client services officer ยังสนุกกับการให้ข้อมูลนักเรียน แนะนำว่าข้อมูลแต่ละวิชา มีวิชาเลือกอะไรบ้าง สมัครเรียนได้เมื่อไหร่ รับเรื่องร้องทุกข์ของนักเรียน ตอบอีเมล์นักเรียน
เปมิกา เอลลิส แก่นสน ฉลองวันเกิดครบ 57 ปีไปกับเพื่อนๆหมาดที่บ้าน Coodanup แต่ไม่ได้เชิญแขกให้เป็นที่เอิกเกริกเพราะสถานการณ์โควิด รวมทั้ง restriction ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย แต่ก็ยังมีบรรดาพี่น้องผองมิตรทยอยไปแสดงความยินดีกันมากมาย
ไตรภพ ซิดนีย์