คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แม้ร่างกายจะพิการแต่ต้องไม่พิการใจ “ช่างเก้า” หรือ นายนพเก้า นาแป้น อายุ 49 ปี ชายผู้พิการครึ่งท่อน “ช่างซ่อมรถหัวใจเหล็ก” แบบอย่างยอดนักสู้ แม้จะเกิดมาอาภัพพิการไร้ขา มีนิ้วมือแค่ 9 นิ้ว แต่ก็ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา มุมานะทำงาน ไม่เป็นภาระสังคม หาเงินเลี้ยงครอบครัวและมีความกตัญญูต่อบุพการี
ย้อนอดีตตั้งแต่เล็ก เด็กชายเก้า เป็นชาว ต.คลองข่อย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นิสัยไม่ชอบเรียนหนังสือจึงจบแค่ ป.3 พออายุ 12-13 ปี เขาได้ไปขอเป็นลูกมือช่างอยู่ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ในพื้นที่หมู่ 4 ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม ด้วยความที่เขาเป็นคนชอบเรียนรู้ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ จึงมีความชำนาญและได้เป็นช่างเต็มตัวหนึ่งเดียวประจำร้านภายในเวลาอันรวดเร็ว
ส่วนสาเหตุและแรงบันดาลใจที่ทำให้ “เด็กชายเก้า” อยากจะเป็น “ช่างเก้า” นั้นมีอยู่ว่า เขามีรถจักรยานยนต์สามล้ออยู่คันหนึ่งซึ่งมันเสียอยู่ๆ บ่อย ซ่อมเท่าไหร่ก็ไม่หาย เขาจึงโมโหและอยากจะซ่อมมันให้ได้ จึงบ่นกับพ่อแม่เป็นประจำจนแม่ต้องพาไปฝึกซ่อมรถอยู่ที่ร้านเถ้าแก่จนมีวันนี้
ประสบการณ์ “ช่างเก้า” ในการซ่อมรถจักรยานยนต์กว่า 30 ปี อะไรที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์เขาจะทำได้หมด ไม่ว่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยางใน ยางนอก ปะยางรถ ซ่อมเครื่องยนต์ ทำสี แถมยังทำได้อย่างคล่องแคล่ว บางครั้งอะไหล่ขาดเขาก็จะขี่รถจักรยานยนต์สามล้อไปซื้อมาเปลี่ยนทันที ทำให้ลูกค้าติดใจในฝีมือการซ่อมที่รวดเร็วและจบ รถที่ซ่อมไปแล้วไม่มีงอแงอีก
“ผมจะคิดเสมอว่าคนที่เอารถมาซ่อม ถ้าเราช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ เขากลับไปใช้งานได้ตามปกติ เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แค่นี้ผมก็ภูมิใจแล้ว” ช่างเก้า กล่าว
ตั้งแต่ต้นปี 64 ชีวิต “ช่างเก้า” ที่ต้องเดินต่อไป เขาตัดสินใจเปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของตัวเอง ร้านเป็นเพิงเล็กๆ อยู่ริมถนนตรงข้ามอนามัยคลองข่อย อ.โพธาราม
ช่างเก้า กล่าวว่า ตนมีวันนี้ได้เพราะเถ้าแก่เป็นอาจารย์ใหญ่สั่งสอน ผู้ให้โอกาสเราได้มีวิชาความรู้ ได้มีกินมีใช้จากตรงนี้ ซึ่งหลังจากโควิด-19 ระบาดเถ้าแก่ได้เสียชีวิตลง ตนจึงขอเจ๊ออกมาเปิดร้านเองที่บ้านใน ต.คลองข่อย
“ตอนนี้ร้านก็เป็นเพิงพักไม่แข็งแรง มีประตูสังกะสีปิดเท่านั้น เครื่องมือก็ยังไม่ครบ ช่วงโควิดได้รับผลกระทบมาก ลูกค้ามากันน้อยเพราะเขาก็เดือดร้อนตกงานกัน ผมจะบอกตัวเองเสมอว่า คนเราถ้ายังกินได้อยู่ก็ต้องสู้ต่อไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากได้ทุนในการซื้อเครื่องมือในการซ่อมรถให้ครบครันเพื่อทำงานให้ดีที่สุด”
ด้านชีวิตครอบครัว “ช่างเก้า” เล่าว่า ภรรยาตนทำอาชีพรับจ้างทั่วไป เราสองคนช่วยกันหาเงินเลี้ยงลูกทั้ง 3 คน ร่วมทุกข์ร่วมสุขและเป็นกำลังใจกัน ตนไม่เคยคิดย่อท้อ ทำงานสุดกำลังหาเลี้ยงครอบครัวอยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี ทุกวันหลังเลิกงานซ่อมรถจากที่ร้าน ตนก็จะกลับบ้านอยู่กับครอบครัวและช่วยงานบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระภรรยา
สำหรับคติสอนใจของตนนั้น “ชีวิตคนเราไม่แน่นอน รู้วันเกิดแต่ไม่รู้วันตาย ตราบใดยังมีลมหายใจอยู่ก็ต้องทำหน้าให้ดี ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน”
ช่างเก้า ฝากทิ้งท้ายว่า “สำหรับใครบางคนที่ตอนนี้อาจจะท้อ ก็ขอให้ดูผมเป็นตัวอย่าง แม้ร่างกายจะพิการแต่ก็ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ท้อได้แต่อย่าถอย ถ้าเราคิดดีทำดี สิ่งที่ดีๆ ก็จะเข้ามาในชีวิตเราเอง”
คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : ถวิล ลิ้มคุณธรรมโม จ.ราชบุรี
แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]