คาซัคสถาน ประเทศซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง เผชิญกับการประท้วงทั่วประเทศ หลังเข้าสู่ปี 2565 ได้เพียงไม่กี่วัน ชนวนเหตุของการลุกฮือมาจากความไม่พใอจของประชาชน ซึ่งเดือดร้อนจากภาวะราคาเชื้อเพลิงแพง แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงภายในเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นการประท้วงขับไล่รัฐบาล ประธานาธิบดีคาสซิม-โจมาร์ต โทคาเยฟ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน ผู้นำคาซัคสถานขอความสนับสนุนจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม ( ซีเอสทีโอ ) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มพันธมิตรทางทหาร ระหว่างประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ซึ่งคาซัคสถานเป็นสมาชิก ส่วนสมาชิกที่เหลือ ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน
นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2534 ที่ให้เกิดการสถาปนาประเทศขนาดใหญ่และเล็กเพิ่มอีกหลายแห่งบนโลก คาซัคสถานเป็นหนึ่งในประเทศเกิดใหม่จากกลุ่มนี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีเสถียรภาพมากที่สุด มีน้ำมัน อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุอีกหลายชนิด และเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์อวกาศ ไบโคนูร์ คอสโมโดรม ขององค์การอวกาศรัสเซีย ( รอสคอสมอส )
นอกจากนั้่น คาซัคสถาน “มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ” นั่นคือการตั้งอยู่ระหว่างตะวันตก กับรัสเซียและจีน ในขณะที่รัฐบาลมอสโกแสดงออกอย่างเปิดเผย ว่าจับตาสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในคาซัคสถาน และเริ่มมีการเคลื่อนไหวด้านความมั่นคงอย่างชัดเจน แม้จีนยังคงสงวนท่าที แต่เป็นไปไม่ได้เลย ที่รัฐบาลปักกิ่งจะปล่อยผ่านเรื่องนี้
ก่อนการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 ที่โทคาเยฟ อดีตประธานวุฒิสภา วัย 68 ปี ได้รับชัยชนะ คาซัคสถานอยู่ภายใต้การปกครองแบบผูกขาดอำนาจ ของประธานาธิบดีนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ จนเป็นฝ่ายสละอำนาจเองก่อนการเลือกตั้งครั้งนั้น ด้วยเหตุผลเรื่องวัยวุฒิ ที่ปัจจุบันมีอายุ 81 ปี
แม้ลงจากอำนาจในเบื้องหน้าไปแล้ว แต่อิทธิพลของนาซาร์บาเยฟยังคงปกคลุมอยู่ทั่วคาซัคสถานจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการที่คาซัคสถานเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง เป็นกรุงนูร์สุลต่าน และการที่นาซาร์บาเยฟอยู่ในตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ จนกระทั่ง “มีการเปลี่ยนตัว” โดยโทคาเยฟนั่งตำแหน่งนี้แทนอดีตผู้นำอาวุโส
การประท้วงทางการเมืองไม่ใช่สถานการณ์ที่รัฐบาลคาซัคสถานไม่เคยรับมือมาก่อน แต่ความรุนแรงและขอบเขตของการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกัน การที่โทคาเยฟยืนกรานจะใช้มาตรการเด็ดขาด ควบคู่ไปกับการปฏิรูปราคาพลังงานในประเทศ เป็นการส่งสัญญานในเบื้องต้น ว่ารัฐบาลจะไม่ลงจากอำนาจ ท่ามกลางภาวการณ์เช่นนี้
ไม่ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะยุติแบบใด มีความเป็นไปได้ต่ำมาก ที่ความวุ่นวายและความรุนแรงจะลุกลามออกจากคาซัคสถานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่ทุกฝ่ายเฝ้าจับตา คือรัสเซียและจีนจะมีปฏิกิรยาตอบสนอง และจัดการเรื่องนี้อย่างไร
ส่วนท่าทีของสหรัฐเองแน่นอนว่าไม่มีทางปล่อยผ่านเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ด้วยความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐาน ระยะทาง และการมีส่วนได้ส่วนเสีย หรืออะไรก็แล้วแต่ “การมีส่วนร่วม” ของรัฐบาลวอชิงตันในเรื่องนี้ “ในเบื้องหน้า” น่าจะยังคงมีกรอบจำกัดมากกว่า เมื่อเทียบกับรัสเซียและจีน
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทพลังงานของอเมริกาเข้ามาลงทุนในคาซัคสถาน หากรัฐบาลวอชิงตันคิดใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัฐบาลคาซัคสถาน คงต้องผ่านการประเมินสถานการณ์มาเป็นอย่างดีแล้ว
แต่เหนือสิ่งอื่นใด วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เรียกได้ว่า “เป็นบททดสอบครั้งสำคัญ” สำหรับผู้นำคาซัคสถานคนปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งโดยปราศจากการท้าทาย ตลอดระยะเวลานานกว่า 2 ปีที่ผ่านมา.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES