ในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ 2565 ทีมข่าว 1/4 Special Report ขอนำเรื่องราวกิจกรรมอันเป็นมงคลมานำเสนอให้กับท่านผู้อ่าน ตอนที่ 1 เชิญชวนไปกราบสักการะ พระพุทธรูป มงคลโบราณ  10 องค์ ซึ่งทาง กรมศิลปากร ได้อัญเชิญนำออกมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่

จากภิกษุของผู้ยากไร้สู่การเผยแผ่มาไทย

ขณะเดียวกันก็ยังมีสถานที่ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวไทย เชื้อสายจีนและประชาชนทั่วไป นิยมไปกราบไหว้ขอพรในช่วงเทศกาลปีใหม่ นอกจาก วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส) ย่านเยาวราช, ศาลเจ้าพ่อเสือ ถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร ยังมีศาลเจ้าเก่าแก่โบราณ อายุกว่า 100 ปี คือ ศาลเจ้าไต้ฮงกง ถนนพลับพลาไชย แขวง-เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ศาลเจ้าแห่งนี้ถือเป็นที่แรก ที่ชาวจีนรุ่นสู่รุ่นมีความเชื่อว่าต้องมาขอพรโดยเฉพาะด้านสุขภาพ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุก ๆ ปี

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ นางชญาน์นันท์ สรพลจิโรจเดชา หัวหน้าแผนกสื่อสารองค์กร (จีน) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เปิดเผยถึงตำนานความเป็นมาของ ศาลเจ้าไต้ฮงกง เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ. 2452 โดยใช้เวลาก่อสร้างเสร็จลุล่วง ปี พ.ศ. 2453 ครบรอบ 111 ปี เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ตามประวัติของ หลวงปู่ไต้ฮงกง ท่านเกิดที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. 1582 สมัยราชวงศ์ซ่ง จากตระกูลลิ้ม เดิมชื่อ หลิงเอ้อ ครอบครัวของท่านสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินได้รับการศึกษาทั้งทางวิชาการและพุทธศาสนา สอบได้เป็นบัณฑิต ชั้นเอก เข้ารับราชการเป็นนายอำเภอ เมื่ออายุ 54 ปี และมาบวชเป็นพระภิกษุ ในพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมเผยแผ่ธรรมะเป็นเวลายาวนานในมณฑลฮกเกี้ยน

นางชญาน์นันท์ สรพลจิโรจเดชา

เมื่อท่านเจริญอายุ 81 ปี ได้ธุดงค์มาถึงอำเภอเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง เข้าจำพรรษาที่อาราม เล่งจั๊วโก๋วยี่ ในปักซัว ต่อมาจึงย้ายไปที่วัดเมี่ยนอันกวน ในตำบลฮั่วเพ้ง มักเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นประจำ จะมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ท่านก็เก็บศพไปฝังให้โดยไม่รังเกียจ นอกจากนี้ยังได้ตั้ง ศาลารักษาโรค ที่ริมโขดหินใหญ่ จัดหาอาหารสิ่งของให้ผู้ยากไร้ที่เดือดร้อน ชักชวนชาวบ้านและสานุศิษย์ให้ประกอบกิจกรรมการกุศลอย่างกว้างขวาง

ครั้นท่านเห็นผู้คนข้ามแม่น้ำเหลียงเจียง ที่กว้างใหญ่ ถึง 300 วา สายน้ำเชี่ยวตลอดปี เกิดเรือล่มคนจมน้ำตายเสมอก็ชักชวนชาวบ้านบริจาคกำลังกาย กำลังทรัพย์ลงมือสร้างสะพานให้จนท่านมรณภาพลง ช่วงอายุ  89 ปี ชาวจีนทางตอนใต้ศรัทธา เลื่อมใสท่านต่อเนื่องกันมา จนมีการสร้าง “ศาลเจ้า” และรูปเคารพของท่าน ที่เชื่อกันว่า ท่านจะประทานพรในด้านความสำเร็จและสุขภาพ

ด้วยความศรัทธาของชาวจีน เมื่ออพยพมายังประเทศไทย จึงได้นำรูปเคารพของท่านมาด้วย จนในปีที่มี โรคท้องร่วงระบาด ได้นำรูปเคารพของ หลวงปู่ไต้ฮงกง มาตั้งที่หน้าบ้าน ย่านสำเพ็ง และมีคนมาขอให้หายจากโรคท้องร่วง จนประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นจึงเกิดการก่อสร้าง ศาลเจ้าไต้ฮงกง แห่งนี้ขึ้น

ขอพรด้านสุขภาพ-ความสำเร็จรับปีใหม่

นางชญาน์นันท์ เล่าต่อว่า ตามความเชื่อของชาวจีนใน ไทยมีความผูกพันกับท่านในด้านเมตตา จึงทำให้ในช่วงทั้งเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน มักนิยมมากราบไหว้ขอพรจาก หลวงปู่ไต้ฮงกง ส่วนใหญ่จะมาขอพรให้การงานสำเร็จในด้านต่าง ๆ และมีสุขภาพที่สมบูรณ์ รวมถึงให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ภยันตราย เมื่อประสบความสำเร็จแล้วหลายคนมักกลับมาแก้บนด้วยอาหารเจ โดยข้อห้ามที่สำคัญ คือไม่ควรนำเนื้อสัตว์ต่าง ๆ มาแก้บน นอกจากนี้ภายในศาลเจ้า ยังมี องค์เจ้าแม่กวนอิม ประทับยืน, องค์ท้าว อมฤตราชโพธิสัตว์ (ไต่สือเอี๊ย), เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย หรือ เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา และ เทพจันทรา (ฉางเอ๋อ) เทพที่สถิตอยู่นะดวงจันทร์ ฯลฯ ให้ได้สักการบูชาเสร็จแล้วยังมีโอกาสทำบุญสะเดาะเคราะห์ ต่อดวงชะตาด้วยการบริจาคซื้อโลงศพให้ศพไม่มีญาติอีกด้วย

สำหรับการตกแต่งในศาลเจ้า จะยึดตามแบบเดิมของศาลเจ้าไต้ฮงกง ที่ประเทศจีน เพื่อให้สอดคล้องกับประเพณี ความเชื่อตามแบบโบราณ โดยมี อักษรจีน 5 ตัว ด้านหน้าแท่นเคารพ สลักไว้บนคานด้านบน ถือเป็นคำมงคลที่ชาวจีนเชื่อกันว่า เมื่อมากราบไหว้แล้วจะประสบแต่โชคดี โดยความหมายว่า เมื่อทำบุญ ฟ้ากับฝน จะให้ทางเราไปสู่ความสำเร็จ จึงถือเป็นศาลเจ้าไต้ฮงกง แห่งแรกในไทย ช่วงปีใหม่สามารถมาขอพรและถ้าใครเกิดปีชง สามารถมาแก้ชงด้วยการกราบไหว้อากงได้ เพราะทุกปีช่วงปีใหม่จะมีคนมาค่อนข้างมากยาวไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อ โดยคนที่มาไหว้ช่วงนี้ทางศาลเจ้าฯจะมี ขนมจันอับ ให้กลับบ้านไปทาน เพื่อให้มีความเฮงตลอดปี

ความเชื่อของไทยและชาวจีน ที่นิยมทำความสะอาดหรือตกแต่งบ้าน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ต้อนรับความโชคดีต่าง ๆ ซึ่งหลายคนเมื่อมาศาลเจ้าไต้ฮงกง มักนิยมมาขอ ยันต์จีน หรือ ฮู้ ไปติดหน้าบ้านเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี บางคนก็นำ แผ่นฮู้ ยันต์จีนพกติดตัวไปในกระเป๋าระหว่างเดินทาง เพื่อจะได้คุ้มครอง    ให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง ฮู้ของอากงจะเป็นตามแบบดั้งเดิม มาตั้งแต่โบราณ อักษรจีนตรงกลางเป็นชื่อ ไต้ฮงกง ส่วนอักษรด้านข้างจะหมายความว่า ให้ปกป้องคุ้มครอง และด้วยความที่แผ่นฮู้ เป็นสีแดงทำด้วยกระดาษ เมื่อนำไปติดตามบ้าน พอโดนแดดหรือลมมาก ๆ สีจะซีด เมื่อเวลาผ่านไปพอขึ้นปีใหม่ทำความสะอาดบ้าน หลายคนจะมาขอฮู้ที่ศาลเจ้าเพื่อนำไปติดหน้าบ้านใหม่เพราะมีสีสันที่สดใสกว่าเดิม 

ชาวจีนที่มีความศรัทธา เมื่อมีลูกหลานจะเลี่ยมฮู้ของอากงใส่กรอบคล้องคอเด็กไว้ เพื่อให้ปกป้องรักษา เช่นเดียวกับเมื่อยามเจ็บป่วยจนต้องไปนอนในโรงพยาบาล จะนำฮู้ไปวางไว้ใต้หมอน เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือบางครั้งที่ไปร่วมงานศพจะพกฮู้ไปด้วย เมื่อถึงบ้านจะเผาฮู้ลงในน้ำเหมือนเป็นน้ำมนต์แล้วนำยอดใบทับทิมมาจุ่มน้ำมนต์ประพรมตัวเองเพื่อเป็นสิริมงคล

ในช่วงที่มีวิกฤติระบาดของโควิด-19 มีชาวไทยเชื้อสายจีน และผู้เคารพศรัทธาเดินทางมาขอพรจากหลวงปู่ไต้ฮงกง เพื่อความเป็นสิริมงคลเสริมด้านสุขภาพให้กับตัวเองและครอบครัวตามความเชื่อ อย่างไรก็ดีช่วงนี้ทางศาลเจ้าฯจะมีมาตรการป้องกันทั้งในเรื่องการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยตามขั้นตอนของภาครัฐ รวมถึงกำชับให้ผู้ที่มากราบไหว้สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอด แต่ถ้ามีคนหนาแน่นก็จำเป็นต้องจำกัดจำนวนคนเข้ามาในพื้นที่ แบ่งเป็นรอบ ๆ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ปัจจุบัน.

กราบพระพุทธรูปโบราณ เสริมมงคลรับต้นปีขาล(1)