อินเดียและญี่ปุ่นจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งแม้จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับผู้นำประเทศ แต่จะมีผลต่อดุลอำนาจทางการเมืองภายในประเทศ ขณะที่จีนจะมีการแต่งตั้งโยกย้าย กลุ่มผู้นำระดับศูนย์กลางอำนาจ ระหว่างการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนทุก 5 ปี แต่ผู้นำสูงสุดของประเทศ ได้มีการประกาศไว้ล่วงหน้าแล้ว คือคนปัจจุบัน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

ปี 2565 หลายปัญหาใหญ่ของภูมิภาค จะยังดำเนินต่อไป และไม่น่าจะจบลงด้วยดีในปีนี้ รวมถึง วิกฤติการเมืองในเมียนมา และกลุ่มตาลีบันกลับมาครองอำนาจในอัฟกานิสถาน

และปีนี้การระบาดของโควิด-19 ยังจะเป็นปัญหาใหญ่ ภัยคุกคามหนักสุดต่อชาวโลก ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ทุกประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก จะต้องดิ้นรนหนัก เพื่อนำพาเศรษฐกิจให้รอดพ้น และฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19

ส่วนคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก รายงานล่าสุดของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดอัตราเติบโตของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค ลงเล็กน้อย ที่ 5.3% ในปีนี้ จากคาดการณ์ 5.4% ในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้การเติบโตช้าลง ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 แนวโน้มอัตราเติบโต ถูกปรับลดลงเกือบทุกอนุภูมิภาค ยกเว้นเอเชียกลาง

ส่วนอัตราเติบโตตลอดปีที่แล้ว คาดว่าจะอยู่ที่ 7.0% ลดลงจาก 7.1% ที่ประกาศในเดือน ก.ย.

แถลงการณ์ของ โจเซฟ ซีกลิช จูเนียร์ รักษาการหัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์เอดีบี กล่าวว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย-แปซิก มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ในการจัดการกับโควิด-19 โดยผ่านการฉีดวัคซีน และมาตรการควบคุมการระบาด ช่วยกระตุ้นแนวโน้มการเติบโต ในช่วงต้นของปีที่แล้ว แต่การระบาดใหม่ในช่วงไตรมาส 3 ขัดขวางการขยายตัวของจีดีพี และถูกซ้ำเติมด้วยการอุบัติของไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน”

ความเสี่ยงสำคัญ ต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก ยังอยู่ที่การระบาดไม่หยุดหย่อนของโควิด-19 อัตราการฉีดวัคซีนครบโดส ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค นับถึงวันที่ 30 พ.ย.ปีที่แล้ว สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่ 48.7% แต่ยังตามหลังสหรัฐ ซึ่งอยู่ที่ 58.1% และยุโรป 67.2%

แต่อัตราการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน ยังแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศของภูมิภาค จากสูงสุด 91.9% ของประชากรทั้งหมดในสิงคโปร์ จนถึงต่ำสุด 2.2% ในปาปัวนิวกินี

เอดีบีปรับลดคาดการณ์ อัตราเติบโตเศรษฐกิจ ของอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกลง 0.1% ทั้งในปี 2564 และ 2565 มาอยู่ที่ 7.5% และ 5.0% ตามลำดับ โดยในส่วนของจีน ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของเอเชีย-แปซิฟิก และอันดับ 2 ของโลก คาดว่าอัตราเติบโตในปี 2564 จะอยู่ที่ 8.0% และ 5.3% ในปีนี้

สำหรับอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงไทยเรา สำหรับปี 2564 เอดีบีปรับลดอัตราเติบโตลง 0.1% อยู่ที่ 3.0% เนื่องจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่คาดว่าปีนี้อัตราจะสูงขึ้นถึง 5.1% เนื่องจากคาดว่าหลายประเทศตจะผ่อนคลาย มาตรการควบคุมการระบาด และสานต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเอเชีย-แปซิฟิก จะยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ที่ 2.1% เมื่อปี 2564 และ 2.7% ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้สะดวกมากขึ้น ต่อการกำหนดนโยบายทางการเงิน และสนับสนุนความพยายามฟื้นตัว จากผลกระทบของโควิด-19.                               

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES