เริ่มจากการที่ทำหน้าที่ประธานประจำปี 2565 ของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค ( เอเปค ) ของไทย ซึ่งเป็นโอกาสทองครั้งสำคัญที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ที่ไทยจะสามารถแสดงภาวะความเป็นผู้นำ และการเป็นคนกลางในการประนีะนอม ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มมหาอำนาจ ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกเอเปค ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน และรัสเซีย
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยประกาศหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open Connect Balance” ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และการฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทาง และท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยการประชุมของเอเปค 2565 จะกระจายกันเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของไทย เพื่อกระจายเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ซึ่งรายการที่ทุกฝ่ายจับตามากที่สุด แน่นอนคือการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ในเดือนพ.ย. ที่ผู้นำจะมารวมตัวกัน และทางการไทยยืนยันว่า จะเป็นการหารือแบบพบหน้ากันที่ไทย
ขณะเดียวกัน การประชุมเอเปคครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลไทยจะได้ประชาสัมพันธ์ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทางใหม่ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ด้านอินโดนีเซียทำหน้าที่ประธานหมุนเวียนของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ “จี20” ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เรียกร้องประชาคมโลกทำงานร่วมกันในทุกมิติ “อย่างสอดประสาน” ที่รวมถึงการจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านสุขภาพ เช่น การจัดสรรและกระจายวัคซีนให้แก่ประเทศที่ยังขาดแคลนอย่างแท้จริง และ “การกำหนดมาตรฐานเดียวกัน” ในการเดินทางระหว่างประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19
นอกจากนี้ วิโดโดกล่าวถึงความคืบหน้าด้านนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงการลดการเผาป่าได้มากถึง 82% และการลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าได้เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปี เมื่อปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจัง และการเพิ่มการให้ความสำคัญของอินโดนีเซีย ในการร่วมบรรเทาวิกฤติสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้นำอินโดนีเซียยังกล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยีระดับท้องถิ่นหลายด้าน “ให้มีความเป็นสีเขียว” เพื่อนำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียยืนยันว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคงบนโลกเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอยู่ตลอด โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมียนมา อัฟกานิสถาน และปาเลสไตน์ ซึ่งอินโดนีเซียมีจุดยืนมั่นคงและชัดเจน ในเรื่องหลักการสองรัฐ สำหรับอิสราเอลและปาเลสไตน์
ส่วนประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ประจำปีนี้ เป็นหน้าที่ของกัมพูชา โดยตอนนี้การดำเนินงานของอาเซียนกำลังเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดมากกว่าปกติจากนานาชาติ เนื่องจากวิกฤติการณ์ในเมียนมา ยิ่งไปกว่านั้น สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ต้น ว่านโยบายการทูตของรัฐบาลพนมเปญในนาม “ผู้นำประจำปีของอาเซียน” จะไม่เหมือนกับที่ผ่านมาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา และความสัมพันธ์กับสหรัฐและจีน
สมเด็จฮุน เซน เตรียมเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เพื่อพบหารือกับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรีของเมียนมา ที่กรุงเนปิดอว์ ระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นภารกิจต่างประเทศครั้งสำคัญรายการแรกของผู้นำกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ แต่ “ความมั่นใจจนเกิดเหตุ” ของสมเด็จฮุน เซน จะส่งผลต่อความเป็นเอกภาพในอาเซียนมากน้อยเพียงใดนั้น ผลการเยือนครั้งนี้จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ในเบื้องต้นได้.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป