วันที่ 31 ธ.ค. 64 จะเป็นเวลา 5 ปีเต็ม ๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 (ม.44) สั่งปิดเหมืองทองคำอัครา ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จํากัด (มหาชน) ที่มีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ทำให้มีพนักงานตกงานไปกว่า 1,000 คน และสร้างความเสียหายทางธุรกิจให้กับบริษัทอัคราฯ เป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท จึงต้องยื่นร้องเพื่อเรียกความรับผิดชอบจากรัฐบาลไทยประมาณ 22,500 ล้านบาท ผ่านอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ ท่ามกลางกระแสข่าวว่ารัฐบาลไทยพยายามเจรจาต่อรอง ยื่นผลประโยชน์มากมายให้กับบริษัทอัคราฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยมีการเลื่อนคำชี้ขาด (ตัดสิน) กันหลายครั้ง หลังสุดจากวันที่ 31 ต.ค.64 ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 65 จากเหตุผลที่คนในกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยืนยันกับทีมข่าว “1/4  Special Report” ว่าคู่พิพาททั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน เป็น
กระบวนการปกติที่ดำเนินการคู่ขนานไปกับกระบวนการอนุญาโต ตุลาการ ตามคำแนะนำของอนุญาโตตุลาการที่ให้สองฝ่ายไปเจรจากันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยจะแพ้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ เพราะถ้าตกลงยุติข้อพิพาทได้ จะเป็นผลดีมากกว่าการให้คณะอนุญาโตตุลาการออกคำชี้ขาด

น.ส.จิราพร สินธุไพร

งานนี้ “ประยุทธ์” ต้องรับผิดชอบ!

ทางด้าน น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันว่าเดิมกำหนดออกคำชี้ขาดในวันที่ 31 ม.ค. 64 แต่ถูกเลื่อนออกไปเป็นต้นเดือนเม.ย. 64 และถูกเลื่อนอีกครั้งเป็นวันที่ 31 ต.ค. 64 หลังสุดแจ้งเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 65 เลื่อนบ่อยขนาดนี้ แถมรัฐบาลไทยปิดลับสุดยอด คนไทยต้องติดตามความคืบหน้าจากฝ่ายคิงส์เกตตลอด รัฐบาลกำลังมีการเจรจาแลกเปลี่ยนอะไรที่ไม่อยากให้ประชาชนรับทราบหรือเปล่า? และระหว่างนี้กำลังเตรียมการเปิดเหมืองทองคำอัคราใช่หรือไม่?

“เรื่องดังกล่าวจะทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนกับประเทศไทย เพราะในอนาคต เบี้ยประกันภัยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในไทยอาจมีมูลค่าสูงขึ้น ตามความเสี่ยงในการลงทุนที่สูงขึ้น ทั้งยังตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่าข้อต่อรองที่รัฐนำไปเสนอกับคิงส์เกต นั้น เป็นข้อเสนอที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ เช่น กรณีที่ดิน 3-4 แสนไร่ที่รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทอัคราฯ เข้าไปสำรวจพื้นที่ทำเหมือง ไม่รวมถึงกรณีการออกอาชญาบัตรสำรวจเหมืองทองให้กับบริษัทในเครือของบริษัทอัคราฯ ซึ่งได้รับการต่อต้านอย่างมากจากประชาชนในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี จนต้องชะลอการออกอาชญาบัตรออกไป และถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับสิ่งที่ต้องชดใช้ให้กับคิงส์เกต พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้ใช้ ม.44 อยู่คนเดียว ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อย่าผลักมาเป็นภาระของงบประมาณโดยเด็ดขาด” น.ส.จิราพร กล่าว

เปิดเหมือง!ใช้เงินหลายร้อยล้าน…ใครจ่าย?

ขณะที่ทีมข่าว 1/4  Special Report ได้สอบถามข้อมูลหลังสุดจากผู้เกี่ยวข้องกับเหมืองทองคำอัครา เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.64 ว่ากำลังเตรียมการเปิดเหมืองทองคำอัคราใช่หรือไม่? ก็ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนว่าปัจจุบันบรรยากาศยังเงียบอยู่ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆภายในเหมืองทองคำอัครา อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร

“ตอนนี้ใบอนุญาตประกอบโรงงานยังไม่มีออกมาเลย แล้วสภาพของเหมืองฯ ที่ถูก ม.44 สั่งปิดมาเป็นเวลานาน 5 ปีเต็ม ๆ แต่จู่ ๆ จะกลับมาเปิดเหมืองฯ อีกครั้ง มันต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลหนักที่ถูกจอดทิ้งไว้นาน ๆ ต้องซ่อมบำรุงตัวโรงงาน และสถานประกอบการต่าง ๆ คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือน ที่สำคัญคือต้องใช้เงินกับค่าซ่อมแซม ซ่อมบำรุงอีกหลายร้อยล้านบาท ตรงนี้ใครจะเป็นคนจ่าย? คาดว่าคงอยู่ในเงื่อนไขการเจรจาระหว่างกันด้วยว่าเหมืองฯ เอาเงินมาจากไหน หรือว่ารัฐบาลต้องจ่ายให้ คดีดังกล่าวจึงคาราคาซังอยู่ไปถึงปี 65 แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะช้าหรือเร็วรัฐก็ต้องจ่าย เวลานี้คุณลองไปสอบถามชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้าในตลาดทับคล้อว่าอยากให้เหมืองฯ กลับมาเปิดอีกหรือเปล่า เขาอยากให้เหมืองฯ รีบเปิดกันทั้งนั้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าขาย ช่วยให้คนในพื้นที่มีงานทำ ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจเป็นแบบไหนเราย่อมรู้กันอยู่” ผู้เกี่ยวข้องกับเหมืองทองคำอัครา กล่าว

“อัครา” ยืนยันเจรจาไปตามสิทธิ

ทางด้านฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทอัคราฯ ส่งหนังสือชี้แจงข้อมูล ว่า 1.การดําเนินงานของบริษัทไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีคําพิพากษาศาลถึงที่สุดแล้วยืนยัน และยังมีเอกสารวิชาการที่จัดทําโดยคณะบุคคลและหน่วยงานที่เป็นกลางสนับสนุนความจริงนี้เป็นจํานวนมาก รวมทั้งการยอมรับของประชาชนรอบเหมืองฯ โดยแท้จริงต้องการให้บริษัทกลับมาเปิดดําเนินการอีกครั้ง

2.ที่ผ่านมาบริษัทได้ดําเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยึดหลักธรรมาภิบาลที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งหวังเป็นส่วนสําคัญในการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อประโยชน์ของชุมชนและประเทศ ดังนั้นจึงขอให้มั่นใจว่าการเจรจากับรัฐบาลไทยอยู่บนพื้นฐานการให้ความเคารพสิทธิประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ไม่มีการรับหรือเรียกร้องผลประโยชน์นอกเหนือกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

3.ในการเจรจา ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่เป็นการเจรจาตามสิทธิที่บริษัทและประเทศชาติควรได้ตามกฎหมาย พร้อมปรับความเข้าใจในกระบวนการดําเนินงานให้มีประสิทธิผลตามกฎหมาย รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนรอบเหมืองฯ ในความปลอดภัยด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในท้องถิ่น

อยากให้เหมืองฯ เปิดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สอดรับกับ “ชมรมคนรักเหมืองทอง” โดยนายชัยพร สุดสิน ประธานชมรมฯ และ นายธนัช  สมมีชัย ประธานที่ปรึกษาชมรมฯ รวมทั้งอดีตพนักงานเหมืองฯ พ่อค้า แม่ค้า และประชาชนที่อาศัยจริงในพื้นที่รอบเหมืองทองได้ส่งหนังสือถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.64 เพื่อยืนยันว่าการดำเนินงานของเหมืองทองไม่เคยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของประชาชนแต่อย่างใด เพราะพวกเราอาศัยอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด ไม่เคยประสบปัญหาตามที่กลุ่มคนนอกพื้นที่ใส่ร้าย ในทางกลับกันเหมืองทองถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชน โดยก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากในชุมชน ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้นำมาจับจ่ายใช้สอยอุดหนุนพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังสร้างรายได้แก่ประเทศผ่านการชำระภาษีและค่าภาคหลวง ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรกลับมาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเหมืองฯ นำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน ในขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือสามารถนำมาพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป โดยตั้งแต่เหมืองฯ หยุดดำเนินกิจการมาจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปี ที่ประชาชนรอบเหมืองฯ ที่แท้จริงเฝ้ารอด้วยความหวังว่าการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายจะพิสูจน์ให้เห็นความจริง ซึ่งประชาชนรอบเหมืองฯ ตัวจริงต่างรู้อยู่แล้วเป็นที่ประจักษ์ว่า เหมืองทองไม่ได้สร้างปัญหาสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมใดๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชนตามที่กลุ่มคนนอกพื้นที่ที่ไม่หวังดีกล่าวหา และเหมืองฯ จะได้กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง

สรุป ณ เวลานี้ข้อพิพาทระหว่างคิงส์เกตกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการปิดเหมืองทองคำอัคราเป็นเวลา 5 ปีแล้ว คงต้องรอลุ้นว่าในวันที่ 31 ม.ค. 65 จะมีคำชี้ขาดออกมาหรือไม่ ผลการชี้ขาดจะออกมาในรูปแบบใด รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายให้เอกชนมากน้อยแค่ไหน เหมืองทองคำอัคราจะกลับมาเปิดดำเนินต่อได้อีกหรือไม่ หวังว่ากำหนดการชี้ขาดทางคดีในวันที่ 31 ม.ค. 65 จะไม่กลายเป็นโรคเลื่อนออกไปอีก.