เกือบตลอดทั้งปี 2564 ประเทศไทยต้องผจญวิกฤติโควิด-19 มาแบบเต็มๆ หลากหลายเรื่องคงต้องถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์เอาไว้ให้ลูกหลานได้รับรู้สืบทอดต่อกันไป เกี่ยวกับ เจ้าไวรัสมรณะ มหาภัยที่คร่าชีวิตมวลมนุษยชาติทั่วโลก รวมถึงประชาชนชาวไทยด้วย
ขนาดจะใกล้สิ้นปี 64 ก็ยังไม่วายหมดฤทธิ์มี เจ้าเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน กำลังจะกลับมาเขย่าโสตประสาทผู้คนทั่วโลก อย่างไรก็ดีในวิกฤติโรคระบาด เราก็ยังได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่ผู้คนพยายามหาทางต่อสู้กับเจ้าไวรัสมรณะ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต วัคซีน ออกมาต่อต้านเจ้าไวรัส รวมถึงการวิจัยพัฒนา ยา ขึ้นมาใช้รักษาโควิด
ในประเทศไทยเองก็มีการนำ สมุนไพรไทย ที่มีสรรพคุณชั้นเลิศอยู่แล้ว เป็นของใกล้ตัว บางตัวมีประสิทธิภาพสูงมาช่วยในการต่อสู้กับไวรัสมรณะ ซึ่งทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ก็ได้พยายามนำข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับ สมุนไพรไทย ๆ มาเผยแพร่ให้กับประชาชนในสังคมรับทราบ หลากหลายแง่มุมทั้งคุณประโยชน์และโทษอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดประสบการณ์ใช้สมุนไพรไทยสู้กับโควิดได้รับความสนใจกลายเป็นกระแสที่หลายคนตื่นตัว หาซื้อสมุนไพรไทยมาประจำบ้านไว้ใช้ยามฉุกเฉิน จึงพอจะเรียกได้ว่าเป็น ปีทองของสมุนไพร-ภูมิปัญญาไทย พืชผักสมุนไพรบางตัวสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเป็น กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ
ใช้กับผู้ป่วยโควิดแบบผสมผสาน
ขณะเดียวกันในวงการแพทย์แผนไทยก็ตื่นตัว หันมาศึกษาวิจัยสมุนไพรไทย โดยเฉพาะ “ฟ้าทะลายโจร” ที่เปรียบเหมือนพระเอก ได้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ช่วงสิ้นปี 64 ทีมข่าวเดลินิวส์ จึงต้องนำข้อมูล ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ได้อธิบายคุณประโยชน์สมุนไพรไทยกันเตือนความทรงจำกันอีกรอบ ดร.ภญ.ผกากรอง ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า การระบาดของโควิด-19 ประชาชนตื่นตัวในการใช้สมุนไพรมากขึ้นถ้าเทียบกับการระบาดในปีก่อน เนื่องจากรอบนี้ติดกันง่าย เสียชีวิตเร็ว สิ่งนี้ทำให้หลายคนกังวล ประกอบกับสมุนไพรเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนไทย แต่บางครั้งก็มีการแชร์ข้อมูลการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกต้อง
สำหรับสมุนไพรไทย ที่มีการทดลองในการต่อต้านเชื้อโควิด คือ “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งอยู่ในกลุ่มยาเย็น มีฤทธิ์ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด โดยที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร ได้นำฟ้าทะลายโจรมาใช้ร่วมกับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันในผู้ป่วยโควิด ซึ่งตอนนี้พยายามเก็บข้อมูลเพื่อวิจัยถึงการลดการพัฒนาของเชื้อโควิด การวิจัยในจีน พบว่าสารในฟ้าทะลายโจร สามารถจับกับเชื้อได้ ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงใช้สมุนไพรนี้ในการ รักษาผู้ป่วยโควิด มาตลอด และยังขยายการใช้ไปใน กลุ่มที่รอการสืบสวนโรค จากประสบการณ์การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด ถ้าเริ่มให้เร็วตั้งแต่เริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ คนไข้จะมีอาการดีขึ้นค่อนข้างเร็ว ผลวิจัยในต่างประเทศระบุว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการลงปอด จะมีการผลิตภูมิต้านทานที่ต่อต้านออกมามากจนเกิดการอักเสบและเสียชีวิต แต่หากให้ฟ้าทะลายโจรอย่างรวดเร็วก็อาจจะช่วยได้
ยกระดับสมุนไพรไทยกระจายไปทั่วโลก
สูตรตำรับพื้นบ้านของไทยโบราณใช้ พริกไทยดำกับฟ้าทะลายโจร โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ช่วงฤดูหนาว จะมีภาวะร่างกายเย็นกว่าวัยอื่น จึงนำฟ้าทะลายโจรมาผสมกับพริกไทยดำ บางบ้านทำเป็นยาลูกกลอน และจากการวิเคราะห์สมุนไพรนี้น่าจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากฟ้าทะลายโจรและพริกไทยดำ มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันทั้งคู่ เบื้องต้นได้ส่งไปให้ห้องทดลองวิเคราะห์จนพบว่า มีผลสอดคล้องกับความเชื่อโบราณ ซึ่งทางโรงพยาบาลเตรียมจะศึกษาสมุนไพร 2 ชนิดนี้ต่อไป
แนวทางในการใช้ฟ้าทะลายโจร เพื่อป้องกัน สามารถปลูกไว้ในพื้นที่บ้าน ซึ่งสารที่สร้างภูมิคุ้มกันจะมีมากตอนที่ต้นโตและเริ่มออกดอกประปราย โดยสารสำคัญจะมีมากที่ดอก แต่ตัวดอกจะมีน้อยทำให้เก็บมาทานได้ไม่มาก จึงอยากแนะนำการปลูกฟ้าทะลายโจร ที่เมื่อต้นโตมีดอกออกประปราย ทำการเก็บใบมาผึ่งแดดให้แห้ง โดยทดลองเก็บใบไว้ในถุงซิปล็อก หากภายในถุงมีละอองน้ำเกาะ จะต้องเอาใบมาผึ่งแดดอีกครั้ง เพราะยังไม่แห้งดี ในการใช้เสริมภูมิคุ้มกันควรทาน 1-3 ใบต่อวัน
ข้อห้ามสำคัญของฟ้าทะลายโจร ไม่ควรใช้ในคนท้อง สตรีให้นมบุตร คนที่แพ้ฟ้าทะลายโจร หรือคนที่ทานเข้าไปแล้วคัน หรือใจสั่น ส่วนคนที่มีค่าตับ ค่าไต ที่ไม่ดี รวมถึงคนที่ใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน สำหรับการทานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ควรกินติดต่อกัน 3 เดือน ขณะที่การทานเพื่อรักษาไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 5 วัน
สำหรับสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรเป็นสารกลุ่มแล็กโทน (lactone) เช่น แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide), ดีออก
ซีแอนโดรกราโฟไลด์ (deoxyandrogra-pholide), นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide), แอนโดรกราฟิไซด์ (andrographiside) ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้ถูกใช้ในการควบคุมคุณภาพของยาและสารสกัดฟ้าทะลายโจรในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia) ดังนั้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากฟ้าทะลายโจร จึงต้องพิจารณาสารสำคัญที่มีในผลิตภัณฑ์ด้วยฟ้าทะลายโจรได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ด้วยข้อบ่งใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ บรรเทาอาการของโรคหวัดส่วนการปลูกฟ้าทะลายโจร ไว้ทานเองที่บ้าน ใบสด จะให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ได้ดีกว่าแบบสกัดถึง 4% แต่ถ้าซื้อทานจะมีแบบสารสกัดกับที่บดแล้ว การทานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ควรทานโดยดูจากสาร แอนโดรกราโฟไลด์ ประมาณ 12 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งกินต่อเนื่องกัน 5 วัน/สัปดาห์ และไม่ควรกักตุนไว้มากเกินความจำเป็น
“การทำงานเกี่ยวกับยาสมุนไพรของโรงพยาบาลเชื่อว่า หากมีการเก็บข้อมูลตำรับยาสมุนไพรอย่างเป็นระบบ จะเป็นต้นทุนที่ดีด้านสุขภาพของคนไทย ตอนนี้เราเก็บตำรับยาไว้กว่า 150 รายการ และมีหมอแพทย์แผนไทย 22 คน ที่จะลงไปเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันผลการรักษา ซึ่งทำมากว่า 20 ปี โดยฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่มีการเก็บข้อมูลว่าใช้กับผู้ป่วยไข้หวัดชนิดต่าง ๆ ได้อย่างดี และมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการดื้อยาค่อนข้างน้อย สิ่งนี้ทำให้ประเทศจีน พัฒนาจนกลายเป็นยาฉีดให้กับผู้ป่วยปอดอักเสบ”
ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวย้ำเอาไว้ด้วยว่า การตื่นตัวเกี่ยวกับสมุนไพร ทำให้เห็นภาพการสร้างเมืองสมุนไพรที่โรงพยาบาลพยายามผลักดันมาตลอด ในการทำให้จังหวัดปราจีนบุรีเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ปัญหาตอนนี้คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐควรจะให้ความสำคัญ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ทั่วโลก.
บรรจุในบัญชียาหลักรักษาโควิดฯ
หลังจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจรผ่านการศึกษาเก็บข้อมูลการใช้กับผู้ป่วยโควิดมาแล้ว ในที่สุดก็มีการประกาศอนุญาตให้ใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยโควิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ ด้านสมุนไพรฉบับที่ 2 พ.ศ. 2564
โดยให้เพิ่มเติมรายการยาจากสมุนไพร 5 รายการ ซึ่ง 2 ใน 5 เป็นยาที่นำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และยาจากผงฟ้าทะลายโจร ใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อยเพื่อลดการเกิดโรครุนแรง ที่สำคัญต้องใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและมีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังใช้อย่างเป็นระบบ สรุปได้ว่า สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรได้เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิดและมีอาการในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ต้องใช้โดยมีการสั่งจ่ายและติดตามผลจากแพทย์ที่มีความรู้ เช่น แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อช่วยประเมินผลการรักษาได้อย่างถูกต้อง.