ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสได้นำเสนอเรื่องราวของ โครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกินและสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงตัวเอง เกาะติดมาตั้งแต่ปี 2563 โดย สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ ’บจธ.“ เป็นอีกหน่วยงานที่ได้เข้าไปช่วยเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินไปแล้วหลายโครงการ ในหลาย ๆ พื้นที่ ทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง ซึ่งปัจจุบันทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินไปแล้ว 2,631 ราย 877 ครัวเรือน จำนวนที่ดินกว่า 3,151 ไร่
ยิ่งในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 ทำให้มีประชาชนทั่วประเทศสนใจสอบถามเรื่องราวโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่านอกจาก บจธ.จะช่วยเรื่องปัญหาที่ดินแล้วยังได้สนับสนุนอาชีพด้วย !!
อย่างไรก็ดีโครงการของ บจธ.จะแตกต่างจากโครงการอื่น ๆ เพราะไม่ได้จัดหาที่ดินมาให้เปล่า ๆ แต่ เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน ต้องรวมตัวกันตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มสหกรณ์ ให้ได้เสียก่อน แล้วจัดหาที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนด หรือที่ดินของภาคเอกชน เพื่อนำมาทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรมมายื่นโครงการกับ บจธ. ตรวจสอบเจรจาและจัดซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ บจธ. จากนั้นจะนำมาให้เกษตรกรเช่าในระยะ 2 ปีแรก แล้วเช่าซื้อต่อระยะยาวไม่เกิน 30 ปี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่สำคัญยังสนับสนุนให้ทำอาชีพมีรายได้ต่อเนื่องแบบครบวงจร
หนุนทำเกษตรหารายได้ช่วงโควิด
ตอนช่วงโควิดเดือน เม.ย.64 ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ติดตามไปดูบางโครงการในภาคเหนือมานำเสนอแก่ผู้อ่าน รอบนี้มีโอกาสลงไปดูพื้นที่ทางภาคใต้ โดยทาง พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ให้สัมภาษณ์ย้ำว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล บจธ. ยังคงมีความห่วงใยความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวเกษตร แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ก็กำชับให้ บจธ. เร่งดำเนินการติดตามโครงการบริหารจัดการที่ดินและสร้างอาชีพ สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ยากจนรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตร อบรมปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้กลุ่มมีระบบบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยดำเนินการจัดหาที่ดินด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามที่กลุ่มร้องขอความช่วยเหลือ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดจำหน่าย และประสานการ จัดตลาดนัดชุมชน ในพื้นที่ตัดระบบพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพียงพอในช่วงการระบาดโควิด-19
“ที่ผ่านมา สมาชิกทั้ง 12 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทุกคนได้รับการอบรมการพัฒนาจิตใจและศาสตร์พระราชาตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และโคกหนองนา ที่ บจธ.ได้จัดหลักสูตรขึ้น ปัจจุบันสมาชิกได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ และตั้งใจผลิตพืชผักปลอดสารพิษ ผลผลิตที่ได้ของกลุ่มเกษตรกรมีทั้งที่เกษตรกรนำออกไปจำหน่ายเอง และมีคนมารับซื้อถึงบ้าน โดยหลังจากที่สมาชิกในกลุ่มได้รับที่ดินและได้เพาะปลูกในแปลงเกษตรของตนเองมาแล้ว 1 ปีเศษ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชน ตกเดือนละประมาณ 6,000-10,000 บาท/ครัวเรือน กลุ่มสามารถผ่อนชำระค่าเช่าของ บจธ. โดยเฉลี่ยครัวเรือนละ อัตราค่าเช่า 400-900 บาทต่อไร่ต่อปี แปรผันตามราคาที่ดินได้อย่างสบาย”
พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่สำคัญส่งผลให้ให้สมาชิกในชุมชนสามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในช่วงภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจช่วงโควิดได้ อีกทั้งยังมีผลผลิตเหลือแจกจ่ายให้กับชุมชนใกล้เคียง จากการเกาะติดตามความเคลื่อนไหวของทั้ง 12 กลุ่มชุมชน ปัจจุบันมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพ และมีเงินเหลือเก็บออมไว้ในชุมชน โดยผู้นำประธานวิสาหกิจทุกชุมชน ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า กลุ่มจะสามารถเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าซื้อได้ในปีที่ 3 ได้อย่างแน่นอน
สร้างความมั่นคงทางอาหารรับมือวิกฤติ
ด้าน นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผอ.สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การติดตามช่วยเหลือกลุ่มชุมชนในโครงการฯช่วงการระบาดของโควิด บจธ.ได้ประสานงานลงไปในทุกพื้นที่ที่ บจธ. สนับสนุนที่ดินทำกิน ล่าสุดติดตามดูความเคลื่อนไหวของ 2 ชุมชนในพื้นที่สุราษฎร์ธานี ได้แก่ ชุมชนน้ำแดง ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี สมาชิกสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด ซึ่งทาง บจธ. จัดซื้อที่ดิน 69 ไร่เศษ ให้สมาชิก 37 ครัวเรือน ทำประโยชน์ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรวมพลังสร้างอาชีพวัดประดู่ ต.ปากฉลุย อ.ท่าฉาง ที่ บจธ.สนับสนุนจัดหาและพัฒนาที่ดินทำกินเนื้อที่กว่า 117 ไร่ ให้กับสมาชิก 23 ครอบครัว ในรูปแบบทำสัญญาเช่ากับ บจธ. ปัจจุบันชุมชนน้ำแดง ได้ยกระดับเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นในชุมชน รวมทั้งการบริหารจัดการให้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เนื่องจากในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์ม ทุเรียน และพืชผักพื้นบ้าน จนถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่แล้ว
นายนิยม สารคะณา สมาชิกชุมชนน้ำแดงอ.ชัยบุรี เปิดเผยว่า ในช่วงโควิดระบาด ทางชุมชนน้ำแดง ได้พูดคุยกับสมาชิกทั้งเรื่องการช่วยเหลือป้องกันตัวเองจากโรคระบาด ส่วนใหญ่จึงเน้นเก็บผัก หาปลาในลำคลอง มาบริโภคเพื่อลดการเดินทางไปในที่เสี่ยงต่าง ๆ บางครอบครัวก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน เพราะในพื้นที่เรามีผักพื้นบ้านหลายชนิดพวกผักเหลียง หาง่ายมาก นอกจากนี้ยังเริ่มเพาะปลูก ข้าวโพด ถั่ว แตง ฟัก ไว้เสริมด้วยเพราะสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่มีรายได้หลักคือ ปาล์มน้ำมัน และกรีดยางอยู่แล้ว ตอนนี้ทางกลุ่มกำลังจะทำโรงเรือนผักกางมุ้งชุมชนเพื่อทุกคนจะได้บริโภคผักปลอดภัย” นิยม สมาชิกชุมชนน้ำแดงกล่าว
ด้าน นายสุนทร ไทรจำเนียร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรวมพลังสร้างอาชีพวัดประดู่ อ.ท่าฉาง กล่าวว่า ปัจจุบันทางกลุ่มได้ปลูกปาล์มน้ำมันอายุ 5 ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างต่อเนื่องจำนวนหลายสิบไร่ ทำรายได้ให้สมาชิกครั้งละ 40,000-60,000 บาท สมาชิกตกลงใช้เงินรายได้ดังกล่าวมาพัฒนาพื้นที่ร่วมกับงบประมาณที่ บจธ. สนับสนุน และองค์การบริหารส่วนตำบลปากฉลุย ได้สนับสนุนการพัฒนาเส้นทางเข้าพื้นที่ ล่าสุดยังได้เตรียมพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นประจำถิ่น และพืชผักอายุสั้น รวมทั้งทยอยสร้างบ้านพักอาศัยแล้ว
ทางกลุ่มขอเรียกร้องให้ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดิน และกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ผ่านการพิจารณาโดยเร็ว เพื่อจะได้มีหน่วยงานนี้เข้ามาแก้ปัญหาให้กับคนที่ประสบปัญหาที่ดินทำกินและคนยากจนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับที่ทางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือจนทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิต และสามารถสร้างแหล่งผลิตอาหาร สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
เกณฑ์ขอความช่วยเหลือ
สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินทำกินเพื่อให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ 1.เกษตรกรและผู้ยากจน รวมตัวกันเป็นกลุ่มไม่น้อยกว่า 7 คนตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน 2. มีเป้าหมายที่ดินที่เหมาะสมและศักยภาพ ทำ การเกษตรได้ เป็นที่ดินของเอกชนที่วิสาหกิจชุมชนต้องการจะเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องที่หน่วยงานราชการออกให้ และ 3.มีระบบการบริหาร ของวิสาหกิจชุมชน แผนการดำเนินการโครงการ เช่น แผนพัฒนาที่ดิน (โครงสร้างพื้นฐาน) แผนการจัดผังแบ่งแปลง แผนการผลิต แผนการตลาด ฯลฯ แล้วทาง บจธ.จะมีวิธีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแต่ละโครงการ
เอกสารประกอบการขอรับความช่วยเหลือ สำหรับกลุ่มเกษตรกร 1. หนังสือขอรับความช่วยเหลือพร้อมระบุแปลงที่ดินเป้าหมาย 2. แผนการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน 3. แผนผังแบ่งแปลง 4. ทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และ 5. รายชื่อสมาชิก โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารจัดการที่ดิน 2โทรศัพท์ 0-2278- 1648 (ต่อ 511) หรือ 06-3214-7844.