6 ม.ค. : เหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐ ในกรุงวอชิงตัน

มวลชนฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น รวมตัวกันในเมืองหลวงของประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนว่า ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ทรัมป์เป็นฝ่ายปราชัยให้กับนายโจ ไบเดน

ทั้งนี้ 6 ม.ค. เป็นวันที่มีการประชุมวาระพิเศษร่วมสองสภา ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา เพื่อรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม มวลชนบางส่วนบุกรุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภาได้สำเร็จ และเกิดการปะทะอย่างดุเดือดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย หนึ่งในนั้นคือเจ้าหน้าที่ไบรอัน ซิกนิก ตำรวจประจำรัฐสภา

ขณะที่สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) สอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนหลักการ “การก่อการร้ายภายในประเทศ” หลังจากนั้น สภาผู้แทนราษฎรมีมติเร่งด่วน ผ่านญัตติถอดถอนทรัมป์ แม้วุฒิสภาไม่รับเรื่องนี้ แต่มติถอดถอนของสภาล่างได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐแล้วว่า ทรัมป์คือผู้นำสหรัฐคนแรกที่ถูกถอดถอน 2 ครั้ง

20 .. : นายโจ ไบเดน รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะที่นางกมลา แฮร์ริส เป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ

นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 และสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งผู้นำคนที่ 46 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564

ขณะที่นางกมลา แฮร์ริส ซึ่งลงสมัครคู่กันในตำแหน่งรองประธานาธิบดี สาบานตนรับตำแหน่งรองผู้นำสหรัฐ โดยเธอได้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นนักการเมืองหญิงชาวอเมริกันคนแรก ที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และยังเป็นนักการเมืองหญิงผิวสี ร่วมด้วยเชื้อสายเอเชียใต้คนแรก ซึ่งขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ด้วย

อนึ่ง ไบเดนเคยดำรงตำแหน่งรองผู้นำสหรัฐ ในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระหว่างปี 2551-2559

1 ก.พ. : การรัฐประหารในเมียนมา

เรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งเหนือความคาดหมายอย่างมากสำหรับประชาคมโลกทุกฝ่าย เมื่อกองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจบริหารจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 1 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่น ถือเป็นการรัฐประหารเป็นครั้งแรกในรอบ 59 ปี หรือนับตั้งแต่สมัย พล.อ.เน วิน เมื่อปี 2505

ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาปฏิเสธยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจี ได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน โดยยังคงกวาดที่นั่งได้มากที่สุด โดยให้เหตุผลว่า “มีการทุจริตเป็นวงกว้าง”

ในวันยึดอำนาจ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา “นานอย่างน้อย 1 ปี” หลังจากนั้นไม่กี่เดือน พล.อ.มิน อ่อง หล่าย สถาปนาตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี แต่โรดแม็พเรื่องการเลือกตั้งยังคงคลุมเครือ ขณะที่นางซูจี และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนในรัฐบาลพลเรือน และพรรคเอ็นแอลดี ยังคงถูกคุมขัง และต้องเผชิญกับคดีความมากมาย

24 .. : เริ่มโครงการโคแวกซ์

เที่ยวบินพิเศษของสายการบินเอมิเรตส์ นำวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด ลอตแรกจำนวน 600,000 โดส ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (เอสไอเอ) เดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติโกลกาตา ในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติโกโตกา ชานกรุงอักกรา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวซึ่งกานาได้รับโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดทั้งสิ้น เป็นไปตามการจัดสรรจากโครงการโคแวกซ์ ที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (กาวี) เพื่อร่วมกันพัฒนา และจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กลุ่มประเทศฐานะยากจนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เท่าเทียมกับประเทศร่ำรวย ขณะเดียวกัน กานาถือเป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งรับมอบวัคซีนโดยตรงจากโคแวกซ์ด้วย

23-29 มี.. : เรือบรรทุกสินค้าขวางคลองสุเอซ

เรือบรรทุกสินค้าขนาดยักษ์ “เอเวอร์ กิฟเวน” ซึ่งมีความยาว 400 เมตร เกยตื้นที่ชายฝั่งด้านหนึ่งของคลองสุเอซ หลังเผชิญกับกระแสลมแรง เมื่อวันที่ 23 มี.ค. อย่างไรก็ตาม การที่เรือลำดังกล่าวกีดขวางคลองเป็นเส้นทแยงมุม ทำให้เรือลำอื่นไม่สามารถเดินทางผ่านได้ กลายเป็น “ภาวะการจราจรติดขัด” ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเดินเรือโลก เรือบรรทุกสินค้าจากทั่วทุกสารทิศรวมมากกว่า 400 ลำ ปักหลักรออยู่ที่ปากคลองทั้งสองด้าน

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายอย่างหนัก ให้แก่การค้าระหว่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 322,008 ล้านบาท) ด้านสำนักงานบริหารคลองสุเอซของอียิปต์สูญเสียรายได้ต่อวันไปไม่น้อยเช่นกัน และมีการเจรจาไกล่เกลี่ยค่าเสียหายกัน ระว่างบริษัทเจ้าของเรือ กับบริษัทประกัน และทางการอียิปต์

9 เม.. : เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ สิ้นพระชนม์

เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สิ้นพระชนม์อย่างสงบ ที่ปราสาทวินด์เซอร์ ในมณฑลบาร์กเชอร์ ทางตอนกลาของเกาะอังกฤษ สิริรวมพระชนมายุ 99 พรรษา และพิธีฝังพระศพของพระองค์ได้รับการจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายแต่สมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา

31 .. : การขนานนามเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ “บี.1.617.2” ในชื่อ “เดลตา”

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการให้กับเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ บี.1.617.2 เป็นภาษากรีกว่า เดลตา ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศแรกที่ยืนยันผู้ติดเชื้อดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ต.ค. 2563

ปัจจุบัน เชื้อเดลตายังคงเป็น “สายพันธุ์หลัก” ของการแพร่ระบาดโควิด-19 บนโลก แม้เมื่อเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี มากกว่า 100 ประเทศกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวล่าสุด “บี.1.1.529” ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการในภาษากรีกว่า “โอมิครอน”

13 มิ.. : เบนจามิน เนทันยาฮู พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอล

สภานิติบัญญัติของอิสราเอล หรือ คเนสเซ็ท มีมติเสียงข้างมากฉิวเฉียด 60 ต่อ 59 เสียง รับรองรัฐบาลผสมชุดใหม่ หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา มติดังกล่าวเท่ากับเป็นการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งอันยาวนาน 12 ปี ของนายเบนจามิน เนทันยาฮู ในฐานะนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล

สำหรับข้อตกลงแบ่งอำนาจครั้งใหม่นั้น นายนาฟตาลี เบนเนตต์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนเป็นเวลา 2 ปี โดยในระหว่างนี้ นายยาอีร์ ลาพิด ดำรงตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ เมื่อครบกำหนดแล้วค่อยสลับหน้าที่กัน

17 มิ.. : นักบินอวกาศจีนชุดแรกเดินทางสู่สถานีอวกาศ “เทียนกง”

นายหลิว ป๋อหมิง นายถัง หงป๋อ และนายเนี่ย ไห่เซิ่ง ซึ่งเป็นสามลูกเรืออวกาศมากประสบการณ์ของจีน เดินทางด้วยยานแคปซูล “เสินโจว-12” ไปประจำการอยู่บนโมดูลเทียนเหอ เพื่อร่วมกันปฏิบัติภารกิจประกอบชิ้นส่วนของสถานีอวกาศเทียนกง ด้วยขั้นตอนที่รวมถึงการเดินอวกาศด้านนอกตัวสถานี

ทั้งนี้ นักบินอวกาศทั้งสามคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ ใช้เวลานอกอยูโลกนานต่อเนื่องถึง 90 วัน นับเป็นสถิติใหม่ของจีน และเดินทางกลับถึงโลก เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ปี 2546 มีนักบินอวกาศของจีนออกเดินทางไปปฏิบัติงานนอกโลกแล้ว 14 คน แม้เป็นจำนวนที่ยังน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับสหรัฐและรัสเซีย หรือแม้แต่สหภาพโซเวียต ทว่าไม่อาจปฏิเสธได้ ว่านโยบายด้านอวกาศของจีนคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลและกองทัพ ร่วมด้วยแรงผลักดัน จากการที่สหรัฐปฏิเสธให้จีนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส)

23 ..-8 .. : มหกรรมกีฬาฤดูร้อนของมนุษยชาติ “โตเกียว โอลิมปิก”

โตเกียวเกมส์เกิดขึ้นช้ากว่ากำหนดนานประมาณ 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ต้องมีการเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิก

การแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้มีการเพิ่มกีฬาชนิดใหม่ รวมถึง สเกตบอร์ด กระดานโต้คลื่น การปีนผาจำลอง คาราเต้ บาสเกตบอล 3×3 และจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันกีฬาแบบทีมผสมชาย-หญิง เป็นครั้งแรกในกีฬาหลายชนิดด้วย

ส่วนการครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองนั้น สหรัฐเฉือนจีนในช่วงโค้งสุดท้าย ครองตำแหน่งด้วยสถิติ 39 เหรียญทอง ตามด้วยจีน 38 เหรียญทอง

15 .. : การแตกพ่ายของกรุงคาบูล

กลุ่มตาลีบันเคลื่อนพลเข้าสู่กรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ภายในเวลาไม่นาน หลังประธานาธิบดีอัชราฟ กานี อพยพครอบครัวออกไปลี้ภัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว “คือความจริงที่ต้องยอมรับ” ว่า “เร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้มาก” และวิจารณ์การที่ “กองกำลังด้านความมั่นคงไม่สามารถปกป้องบ้านเมืองของตัวเองได้”

ขณะเดียวกัน บลิงเคนกล่าวถึงภาพเฮลิคอปเตอร์บินเข้าและออกจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงคาบูล เพื่ออพยพนักการทูตและพลเมืองที่ตกค้าง ตลอดจนเพื่อการขนย้ายสิ่งของว่า ทุกฝ่ายไม่ควรเปรียบเทียบเหตุการณ์ดังกล่าวกับเหตุการณ์ “เสียกรุงไซ่ง่อน” เมื่อปี ค.ศ. 1975 หรือ พ.ศ.2518 ที่กองกำลังเวียดนามเหนือยึดครองกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ โดยก่อนการบุกยึดเกิดขึ้น รัฐบาลวอชิงตันเร่งอพยพเจ้าหน้าที่การทูตและพลเมืองออกจากกรุงไซ่ง่อน ซึ่งต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองโฮจิมินห์

แม้การถอนทหารชุดสุดท้ายของสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานสามารถเป็นไปได้ตามกำหนดการ คือทันภายในวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างวุ่นวายและโกลาหล ตลอดจนยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีกหลายระลอก

26 .. : การขนานนามเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ “บี.1.1.529” ในชื่อ “โอมิครอน”

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการให้กับเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ บี.1.1.529 เป็นภาษากรีกว่า โอมิครอน โดยมีการยืนยันผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการในแอฟริกาใต้ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น

ทั้งนี้ ดับเบิลยูเอชโอจัดให้เชื้อโอมิครอนอยู่ในกลุ่ม “สายพันธุ์น่าวิตกกังวล” ต่อจาก อัลฟา แกมมา เบตา และเดลตา แม้ข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับเชื้อโรคตัวนี้ยังคงคลุมเครือและน่าสับสน แต่ที่ค่อนข้างชัดเจน คือการที่เชื่อตัวนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และมีการพบผู้ป่วยแล้วในมากกว่า 100 ประเทศบนโลก

.. : ภัยธรรมชาติส่งท้ายปี

ภูมิภาคมิดเวสต์และบางส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ โดยเฉพาะที่รัฐแคนซัส ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากทอร์นาโดเกือบ 70 ลูก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย การเกิดทอร์นาโดหลายลูกในช่วงนี้ ยิ่งตอกย้ำความแปรปรวนของภาวะโลกร้อน เนื่องจากโดยปกติแล้ว พายุหมุนลักษณะนี้จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ไม่ใช่ช่วงกลางฤดูหนาวแบบนี้

ต่อจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ภูมิภาควิซายัส ทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ และพื้นที่ทางเหนือของเกาะมินดาเนา ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เผชิญกับอิทธิพลรุนแรงของซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ราอี” ซึ่งเป็นพายหมุนเขตร้อนมีความรุนแรงที่สุดในปีนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 400 ราย

ในเวลาไล่เลี่ยกัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของมาเลเซียเผชิญกับน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะที่รัฐสลังงอร์ ซึ่งมีพื้นที่รอบล้อมกรุงกัวลาลัมเปอร์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 40 ราย.

ทีมข่าวต่างประเทศ

เครดิตภาพ : AP, REUTERS, GETTY IMAGES