กัมพูชาเตรียมทำหน้าที่ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประจำปี 2565 ขณะที่สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณตั้งแต่ยังไม่ทันรับตำแหน่งแล้วว่า นโยบายการทูตของรัฐบาลพนมเปญในนาม “ผู้นำประจำปีของอาเซียน” แตกต่างจากแทบทุกประเทศที่เหลือในกลุ่มอย่างชัดเจน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในเมียนมา

เป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในนโยบายพื้นฐานซึ่งถือเป็น “คุณลักษณะเฉพาะถิ่น” ของอาเซียน คือการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกด้วยกัน แต่ท่ามกลางแรงเสียดทานอย่างหนักจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศตะวันต ในที่สุดอาเซียนซึ่งมีบรูไนทำหน้าที่ประธานประจำปี 2564 มีมติร่วมกันในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือการไม่เชิญ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ตามด้วยการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน ที่ปีนี้ตรงกับวาระของการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ด้วย

Khmer Times

อย่างไรก็ตาม สมเด็จฮุน เซน กล่าวว่า “หนึ่งในทางออกดีที่สุด” คือการที่อาเซียนต้องกลับมามีปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นทางการร่วมกับกองทัพ และรัฐบาลของเมียนมา และการย้ำว่า กลไกการทำงานของอาเซียนไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ด้วยสมาชิกที่ไม่ครบ 10 ประเทศ”

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวอย่างแรกที่ชัดเจนของผู้นำกัมพูชา คือการต้อนรับนายวันนา หม่อง ลวิน รมว.การต่างประเทศ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในยุครัฐบาลทหารของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สมเด็จฮุน เซน ยืนยันการเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เพื่อพบหารือกับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรีของเมียนมา ที่กรุงเนปิดอว์ ระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นภารกิจต่างประเทศครั้งสำคัญรายการแรกของผู้นำกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2565

มีการวิเคราะห์เช่นกันว่า การที่สมเด็จฮุน เซน เลือกดำเนินนโยบายแบบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ผู้นำกัมพูชายังคงเชื่อมั่นใน “ประสบการณ์ส่วนบุคคล” ว่าเป็น “ผู้สร้างสันติภาพ” โดยอ้างอิงจากสิ่งที่ตัวเองประสบในสมัยที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเขมรแดง จากการที่สมเด็จฮุน เซน เป็นหนึ่งในผู้ร่วมมีบทบาทบนโต๊ะเจรจา จนรัฐบาลเขมรแดงยอมแพ้ในที่สุด

กระนั้นหลายประเทศในอาเซียนมองว่า “ความมั่นใจเกินเหตุ” ของสมเด็จฮุน เซน เป็นปัญหาต่อองค์กร เพราะเป็นการดำเนินการเองเพียงลำพัง โดยปราศจากการปรึกษาหารือ เพื่อให้มีการบรรลุมติร่วมกันในระดับภูมิภาค ขณะเดียวกัน มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “เจตนาที่แท้จริง” ของรัฐบาลพนมเปญในเรื่องนี้ด้วยว่า “มีความโปร่งใสมากเพียงใด” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่สมเด็จฮุน เซน กำลังจะเดินทางเยือนเมียนมา “ด้วยตัวเอง” และการประกาศแต่งตั้งนายปรัก สุคน รมว.การต่างประเทศของกัมพูชา ให้ทำหน้าที่ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเมียนมาของอาเซียน โดยปราศจากการลงมติร่วมกันกับประเทศสมาชิกที่เหลือ

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของกัมพูชาแบบนี้ ยิ่งเพิ่มความกังวลและความเคลือบแคลงให้กับสมาชิกที่เหลือ เกี่ยวกับ “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียน ที่บรรลุร่วมกัน เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ร่วมกับรัฐบาลทหารของเมียนมาด้วยว่า จะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS