แม้การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เห็นชอบให้ ’พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน“ ประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ ตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค.64 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิที่ดินทำกิน และภาคี Save บางกลอย มายื่นข้อเสนอเพื่อให้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาบางกลอยชุดใหม่  อ้างเหตุผลว่า กรรมการชุดเดิมมีปัญหาทางวิชาการให้ข้อมูลลำเอียงและสร้างความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับ วิถีเกษตรไร่หมุนเวียน จึงมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิวัฒนธรรมของชาวบ้าน

ผศ.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร

ดึงการมีส่วนร่วมลดความขัดแย้ง

ทีมข่าว 1/4 Special Report พูดคุยกับ ผศ.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่ ถึงมุมมองปัญหาแก่งกระจาน กล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯหรือทางฝ่ายรัฐ มีแนวทางในการขับเคลื่อนในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อยู่แล้วรวมถึงมีแผนปฏิบัติการ สิ่งที่ทางอุทยานฯ บอกว่าชาวบ้านได้มีส่วนร่วม ก็มีข้อสงสัยว่า ความหมายของการมีส่วนร่วมนั้นหมายความถึงอะไร โดยเฉพาะคำว่า “การมีส่วนร่วม” นั้น หมายความว่า ชาวบ้านร่วมรับรู้แค่ว่าอุทยานฯ หรือรัฐจะมีโครงการอะไรเท่านั้นหรือให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสิน พูดคุย หาแนวทางในการจัดการพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นมรดกโลก ชาวบ้านจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการใช้พื้นที่หรือจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่นี้อย่างไร

“หรือแค่เพียงชาวบ้านมีส่วนร่วมที่ทางอุทยานฯ คิดโครงการอะไรออกมาเรียบร้อยแล้ว และก็ให้ชาวบ้านมาร่วมดำเนินการ ในกิจกรรมหรือให้โครงการต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไป  คิดว่าชุมชนเองก็ควรจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมถึงจะสามารถลดความขัดแย้งที่มีอยู่เดิม  อุทยานฯเองไม่ไปสร้างความขัดแย้งให้เกิดมากขึ้นกว่าเดิม แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะลดความขัดแย้งที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ”

สำหรับเรื่องระหว่าง “คนอยู่กับป่า” เป็นข้อถกเถียงที่มีมาอย่างยาวนาน หลายทศวรรษ และในหลายพื้นที่รัฐควรจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ส่วนกลางหรือคนที่เป็นนักการเมือง ความคิดที่ว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้นั้นถูกฝังตรึงอยู่ในสมอง ไม่ยอมออกมาดูสถานการณ์ที่เป็นจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงยึดแน่นติดกับความเชื่อมากกว่าเป็นความคิด  โดยเฉพาะบุคคลระดับเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีความคิดที่มากกว่า เพราะบางคนยังเชื่อว่า คนอยู่กับป่าไม่ได้ ทั้งที่จริงแล้วควรต้องคิดให้เป็น ว่าในสถานการณ์ที่คนอยู่กับป่าไม่ได้นั้น หากลองมองย้อนไปดูว่าพื้นที่ป่าที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่  เช่น พื้นที่แถบ จ.แม่ฮ่องสอน มี กลุ่มชาติพันธุ์ อยู่จำนวนมากที่สำคัญเป็นพื้นที่ป่าประมาณ 95-97%  ถ้ายังใช้ความเชื่อ ใช้มายาคติในการตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ก็จะทำให้คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน เป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้น ซ้ำเป็นการทำให้ประเทศไม่พัฒนาไปในทิศทางไหนเลย

อย่ามองข้ามภูมิปัญญา-วิถีดั้งเดิม

ผศ.ดร.มาลี กล่าวต่อว่า เรื่องของ การทำไร่หมุนเวียน เมื่อลองเข้าไปดูวิถีชีวิตของชาวบ้านในการทำไร่หมุนเวียนก็เป็นการทำสถานที่หนึ่งแล้วก็ปล่อยให้ดินฟื้นตัวขึ้นมา แล้วปีต่อมาก็ไปทำอีกสถานที่หนึ่ง แต่การไปทำอีกสถานที่หนึ่งนั้น ไม่ได้เป็นการถางไปเรื่อยเปื่อย  เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องไปดูแล้วก็ฟังเสียงของคนที่ปฏิบัติตาม องค์ความรู้ ว่าชาวบ้านอยู่อย่างไร ทำอย่างไร เมื่อไปเห็นของจริงแล้วก็สามารถที่จะมีความเข้าใจ ทางวิชาการมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องไร่หมุนเวียน ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาอย่างมากมายว่า คนอยู่กับป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะงานวิจัยเรื่องวิธีการทำไร่หมุนเวียนว่าทำไมจึงต้องมีการเผาไร่ อย่าเพียงแค่เห็นเฉพาะการที่ชาวบ้านลงไปปลูกพืชเฉย ๆ แต่ก่อนที่ชาวบ้านจะปลูกพืชนั้น มีขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ มีพิธีกรรมต่าง ๆ ชาวบ้านไม่ได้ใช้ความรู้สึกส่วนตนหรือความละโมบในการตัดสินใจว่าตรงไหนที่ชาวบ้านอยากจะทำไร่ แต่มีการขอหรือการทำนาย สนทนากับธรรมชาติว่าพื้นที่เหมาะสมกับการทำไร่หมุนเวียนหรือไม่

สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาของคนที่อยู่บนพื้นที่สูง ที่เห็นได้ชัดก็คือ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ยังคงมีวิถีชีวิต วิธีการทำไร่หมุนเวียน อยู่ อีกทั้งการทำไร่หมุนเวียนนั้นยังเป็นความมั่นคงทางอาหาร ชาวบ้านไม่ได้ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวในพื้นที่ไร่หมุนเวียนนั้นยังมีพืชผักต่าง ๆ อยู่ในพื้นที่นั้นด้วย  และที่สำคัญที่สุดคือเมล็ดพันธุ์ ที่ชาวบ้านเองเป็นเจ้าของ ไม่ได้ไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ไม่ได้ใช้สารเคมี ซึ่งองค์ความรู้แบบนี้เป็นองค์ความรู้ที่ครบวงจร

ขณะเดียวกันการปรับตัวของชุมชนในการเป็นมรดกโลก ตนมองว่า ตามธรรมชาติของชาวบ้านแล้วนั้น มีความคิดที่จะรับฟัง เชื่อฟังทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว หากเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาด้วยความปรารถนาดี มองว่าชาวบ้านก็พร้อมที่จะทำตาม แต่ปัญหาเท่าที่ผ่านมาก็คือรัฐเองเป็นคู่ตรงข้ามกับชาวบ้าน  เพราะฉะนั้น รัฐ กับ ชาวบ้าน จะสามารถหาทางที่จะเจรจา พูดคุยกันด้วยวิธีใดบ้าง เช่น พื้นที่บ้านบางกลอย ชาวบ้านถูกอพยพลงมาตั้งแต่ปี 38 ขณะนี้ชาวบ้านเองก็พยายามปรับตัวอย่างมาก  กลุ่มหนุ่มสาววัยรุ่นก็ต้องออกไปทำงานข้างนอกหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือตนเองและครอบครัว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นการปรับตัวเองเพราะชีวิตก็ต้องมีข้าวกิน แต่เวลาที่ชาวบ้านปรับตนเองแบบนี้ ทางรัฐก็ไปส่งเสริมสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยที่รัฐไม่เคยถามชาวบ้านว่าอยากจะเป็น วัตถุการท่องเที่ยว หรืออยากจะเป็นอะไร

รับฟังเสียงสะท้อนที่ชาวบ้านต้องการ

ชาวบ้านเป็นคนที่มีองค์ความรู้อยู่กับป่า ทั้งยังช่วยดูแลรักษาป่าอยากให้รัฐใช้ความคิดมากกว่าความเชื่อ  วิถีชีวิตแบบที่ชาวบ้านเป็นคือ วิถีชีวิตที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาพื้นที่ป่า ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านก็หวาดกลัวอำนาจรัฐมากอยู่ แล้วการจะไปบุกรุกทำลายป่า แค่ชาวบ้านจะทำไร่หมุนเวียนตามองค์ความรู้ก็ยังยากลำบาก ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม รัฐยังไม่ทำความเข้าใจ  มองเป็นบุกรุกทำลายป่า  เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ  หากทางรัฐเองไม่สามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้ ก็อาจจะต้องมีคนกลาง เช่น นักวิชาการ  องค์กรพัฒนาเอกชน หรือคณะกรรมการสิทธิ คณะทำงานต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหาทางออก อาจจะมีการเปิดโต๊ะเจรจาแล้วพูดคุยกันและถามว่าชาวบ้านอยากจะพัฒนาไปแบบไหน  แต่อย่าเอาสิ่งที่ชาวบ้านไม่ต้องการมาให้เพราะจะสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น

       ที่ผ่านมารัฐเองพยายามจะยัดเยียด และใช้คำว่าพัฒนาแล้ว ให้การช่วยเหลือเยียวยาแล้ว  ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว  ทั้งที่จริงแล้วควรจะต้องเริ่มกลับมาตั้งโต๊ะและมองไปถึงวิถีเดิมของชาวบ้าน หรือชุมชนก่อนดีกว่า เช่น ใครบ้างที่อยากจะกลับไปอยู่ที่บางกลอยบน พบว่าคนที่อายุประมาณ 40 ปีอยากจะกลับไป แต่บางกลุ่มอยากให้รัฐช่วยหาที่ทำกินหรือหาที่ที่เหมาะสมให้กับชาวบ้าน  ตรงนี้เองก็ต้องมองในเรื่องของการพัฒนา ส่วนที่เป็นวัยรุ่นก็เชื่อมโยงกับสถานการณ์ภายนอก  คิดว่าน่าจะเรียนรู้จากสังคมภายนอกมากกว่า แต่ส่วนหนึ่งยังคิดว่าวิถีชีวิตแบบที่เคยอยู่เคยกินมีความเหมาะสมกับตัวเองมากกว่า ทีนี้เวลาที่รัฐเอาคำว่าพัฒนาเข้าไป  คือ การนำน้ำ ไฟฟ้า  อินเทอร์เน็ต เครื่องนุ่งห่ม หรือนำอะไรไปให้ สิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาแบบที่รัฐคิด แต่ไม่ถามชาวบ้านว่าอยากจะเป็นแบบไหน รัฐต้องเป็นผู้ทำหน้าที่สนับสนุน และทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ยืนได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่การพัฒนาแบบที่รัฐเอาไปให้ตามที่รัฐคิด 

อยากฝากถึงผู้มีอำนาจว่าควรหาทางยุติความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเรื่องของอุทยานฯ ควรจะต้องฟังเสียงชาวบ้านมากขึ้น ชาวบ้านมีวิถีชีวิตอย่างไร เอาความเชื่อหรือสิ่งที่รัฐมีมาก่อนออกจากความคิด แล้วก็ลองไปฟังเสียงชาวบ้านโดยเฉพาะปัญหาเรื่องอุทยานฯ กับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ทศวรรษ ควรหาทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยความตั้งใจที่มุ่งมั่น เวลาพูดถึงคุณภาพชีวิตไม่ใช่คุณภาพชีวิตแบบที่รัฐเอาไปให้ รัฐควรจะต้องไปถามว่าชาวบ้านอยากมีคุณภาพชีวิตอย่างไร แบบไหน 

คุณภาพชีวิตที่ดีของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อาจไม่เหมือนคุณภาพชีวิตที่ดีแบบของรัฐ ถ้ารัฐหันมาฟังชาวบ้าน ก็จะเป็นการลดความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ทศวรรษแล้ว ที่ชาวบ้านอยู่ด้วยความยากลำบาก จะทำอย่างไรถึงจะไปช่วยสนับสนุนให้ชาวบ้านได้ดำรงชีวิตเหมือนตามที่ชาวบ้านได้เลือกเอง ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่จะเดินควบคู่ไปกับการเป็นมรดกโลกในผืนป่าแก่งกระจาน  จะได้เป็นทั้งมรดกโลกทางธรรมชาติ และมรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง.