ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เดลินิวส์เกาะติดมานำเสนอต่อเนื่องในหลากหลายแง่มุมอยู่หลายปีแล้ว แต่ปี 2564 นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีพิเศษ ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 พ.ศ. 2564 ระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.64 ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในที่ประชุมเห็นชอบให้ “พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ของมวลมนุษยชาติ
การจัดการ “ระบบนิเวศ-วัฒนธรรม”
ภายหลังการได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ผ่านมา 4 เดือนเศษ ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหนึ่งใน คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 67/2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 64 ได้ให้ความคิดเห็นว่า ก่อนหน้านี้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เคยเรียกร้องยูเนสโก ไม่ให้ขึ้นสถานะมรดกโลกให้แก่ผืนป่าแห่งนี้ ระบุปัญหาเรื่องของสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่ ประเทศไทยก็พยายามแก้ปัญหานำเสนอ 3 ครั้งในปี พ.ศ. 2558, พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2562 จนมาประสบผลสำเร็จปี พ.ศ. 2564
“อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างระบบนิเวศทางธรรมชาติ ทางวัฒนธรรม ที่สามารถไปควบคู่กันได้ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าในพื้นที่โดยเฉพาะในระบบนิเวศนั้น มีความหลากหลายมากแค่ไหน ส่วนหนึ่งก็จะมีมนุษย์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในโลกตะวันตก ยุโรป อเมริกา แอฟริกา อเมริกาใต้ ในแถบป่าอเมซอน เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนพื้นเมืองอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อนที่รัฐจะประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่อุทยาน หรือพื้นที่ที่รัฐจะต้องรักษาไว้ตามกฎหมาย”
แนวคิดที่ทำให้ ระบบนิเวศ ระบบวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้ เราจะเรียกระบบนี้ว่า “บริการทางนิเวศ” หรือประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากระบบนิเวศ มีการค้ำจุนกันระหว่างธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมไปถึงการเติมเต็มชีวิตของมนุษย์ ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มนุษย์ก็ยังต้องใช้ประโยชน์จากธรรมชาติทั่วไปเราจะคิดว่าธรรมชาติไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมนุษย์ แต่ในบางพื้นที่มนุษย์ได้เข้าไปมีส่วนในความหลากหลายปรับตัวกับธรรมชาติ โดยในหลักการก็จะประกอบไปด้วยระบบนิเวศที่ทำหน้าที่ในการให้บริการโดยตรง เช่น แหล่งอาหาร แหล่งน้ำ แหล่งต้นไม้ แหล่งพันธุ์พืช สัตว์ ฯลฯ ทั้งยังมีการควบคุมกลไกในระบบนิเวศต่าง ๆ เช่น การผสมเกสร การทำงานของดิน ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของระบบนิเวศ ในการควบคุมสิ่ง ต่าง ๆ ในธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ในธรรมชาติ เป็นมูลค่าที่เผื่อใช้เกิดจากการสงวนไว้ใช้ในอนาคต
สิ่งที่เราเห็นว่าระบบนิเวศนั้นมีความสำคัญ ทั้งยังมีการให้บริบททางวัฒนธรรม คือการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ ได้แก่ การท่องเที่ยว การศึกษา จิตวิญญาณ ศาสนาความเชื่อและคุณค่าทางจิตใจ ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยตรง และโดยอ้อม เป็นการบริการด้านการสนับสนุนและการค้ำจุน ซึ่งเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น วัฏจักรอาหาร วัฏจักรน้ำ วัฏจักรดิน รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพอื่น ๆ เพราะฉะนั้นกลไกที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง จะพบว่าระบบนิเวศมีความสำคัญและความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับทิศทางวิถีชีวิตมนุษย์ก็จะดีไปด้วย ในพื้นที่ก็จะเกิดการเกื้อกูลกัน อาจจะมีการเหลื่อมล้ำไปบ้าง ทำมากไป ทำน้อยไป อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เราก็ต้องจัดการกันต่อไป
ผศ.ดร.ดำรงพล กล่าวต่อว่า การประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานนั้น ตนคิดว่าสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือเรื่องของ สิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก ซึ่งเป็นข้อพิพาทกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องตระหนักว่ามี กลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิม อยู่มาก่อนหลายรุ่นแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นคนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติมาช้านาน เพียงแต่ว่าการพัฒนา การขยายตัวของประชากรหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ป่าไม้หรือว่าสัตว์ป่าในพื้นที่ ทำให้รัฐระแวดระวังกับคนที่อยู่ในป่า แนวคิดที่รัฐมองว่า ป่าจะปลอดคนจึงเป็นไปได้ยากมาก ทางเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดูแลก็ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงภายใต้บุคลากรที่จำกัด
“ผมมองว่าคนพื้นเมือง หรือ คนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อน ได้อาศัยร่วมกันกับธรรมชาติ มีการพึ่งพากันในระบบ บริการทางนิเวศ ระบบทางวัฒนธรรม เช่น กรณีไร่หมุนเวียน ที่หลายคนมองว่า เป็นการทำลายป่าอย่างเดียว แต่ปรากฏว่ามีรายงานการทบทวนงานศึกษาด้านบริการทางนิเวศของระบบไร่หมุนเวียน ของคณะทำงานทางวิชาการในคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา สัตว์ป่า ต้นน้ำ และการบริการทางนิเวศ และข้อเปรียบเทียบการทำไร่หมุนเวียนกับป่าธรรมชาติปัจจุบัน กรณีชาวกะเหรี่ยงกลับแอยู่อาศัยและทำกิน รวมทั้งดำเนินวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่บ้านบางกลอยบน อ.แก่งกระจาน”
อย่างเช่น กรณีของ ทุ่งใหญ่โมเดล (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง) ที่ได้ประกาศเป็นมรดกโลกก่อนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ยังมีชุมชนอยู่ร่วมกันในผืนป่าได้ในลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่ได้ถูกขับไล่ กีดกันออกมาจากผืนป่าแต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถปรับตัวภายใต้กลไกของการอนุรักษ์ การควบคุมของรัฐได้ หากสามารถจัดการกันในพื้นที่ มีการพูดคุยกัน หาทางออกร่วมกัน หาฉันทามติ สร้างนิเวศทางธรรมชาติกับวัฒนธรรมให้อยู่ร่วมกันได้ เช่น รัฐร่วมกับชุมชนร่วมกันศึกษาวิจัยว่าการทำไร่หมุนเวียน สามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้ รักษาพันธุ์พืช ลดการทำลายดิน ควบคุมวัชพืช ศัตรูพืช ก็สามารถที่จะมีแนวทางที่จะหาทางออกในการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป่าได้
ในพื้นที่ทางแถบยุโรป ก็เกิดเหตุการณ์ที่พื้นที่อนุรักษ์ทับซ้อนกับกลุ่มชนพื้นเมือง แต่รัฐและชุมชนมีการจัดการพื้นที่ร่วมกัน สร้างระบบนิเวศ และ ระบบวัฒนธรรม ไปพร้อม ๆ กัน ใช้วิธีการสร้างแนวทางการใช้พื้นที่ที่สมเหตุสมผลในเชิงนิเวศและในเชิงวัฒนธรรม มีการแบ่งเขตการใช้พื้นที่ที่สมเหตุสมผลในระบบเชิงนิเวศและเชิงวัฒนธรรมควบคู่กันไป เช่น มีการแบ่งโซนพื้นที่ เป็น 1.พื้นที่สงวนเข้มงวด ก็จะมีการกำหนดอย่างชัดเจน ว่าเป็นพื้นที่ตรงไหน มีข้อกฎหมายบังคับอย่างไร 2.พื้นที่สงวนทั่วไป ก็คือ พื้นที่ที่ชุมชนสามารถใช้สอยได้ จะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่ามีคนอยู่อาศัยมาก่อน อนุญาตให้ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมได้ เช่น เก็บเห็ด เก็บฟืน เป็นพื้นที่ที่ชุมชนสามารถทำกิจกรรมได้ 3.พื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม คือ พื้นที่เกษตรของหมู่บ้าน ให้เป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน และสุดท้ายคือ 4.พื้นที่พัฒนา คือ เป็นพื้นที่ที่รัฐจะเข้ามาช่วยในการส่งเสริมความยั่งยืนให้กับชาวบ้าน เช่น พัฒนาพื้นที่เป็นพื้นที่ที่จะเข้ามาช่วยในการที่จะดำเนินการเพิ่มการจ้างงาน ใครเป็นลูกจ้างที่ช่วยดูแลเขตอนุรักษ์หรือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานอนุรักษ์ มีการจัดการเส้นทางการเดินทางศึกษาธรรมชาติควบคู่ไปภายในหมู่บ้าน
การบริหารจัดการแบบร่วมกัน ภายใต้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ของการบริหารจัดการความเสี่ยงของคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดก็อาจจะทำให้เห็นได้ว่า ’คนอยู่กับธรรมชาติ คนก็สร้างวัฒนธรรมจากธรรมชาติ และสามารถอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับคนได้“ ผศ.ดร.ดำรงพล กล่าวทิ้งท้าย
ผืนป่าใหญ่แก่งกระจาน
สำหรับ กลุ่มป่าแก่งกระจาน นับเป็นผืนป่าใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่านานาชนิด ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี มีอาณาบริเวณอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ราชบุรี, เพชรบุรี, และ ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี, อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อ.บ้านคา จ.ราชบุรี มีเนื้อที่มากถึง 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร นับเป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 และเป็น มรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจากมรดกโลก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ปี พ.ศ. 2548) และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง (ปี พ.ศ. 2534)