หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการทำงานที่เทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทักษะบางอย่างอาจถูกลดบทบาทลง ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงก็ทำให้หลายคนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับปีใหม่ 2565 จึงขอพาทุกท่านมาสำรวจตัวเอง และเรียนรู้เพื่อค้นหาทักษะใหม่ และวางแผนปรับตัวไปในโลกอนาคต  

ดร.สันติธาร เสถียรไทย

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ผู้เขียนหนังสือ The Great Remake สู่โลกใหม่หลังโควิด-19 ได้เล่าถึงการปรับตัวในงาน ครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บุคคลและองค์กรต่าง ๆ ต้องเร่งปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอด สิ่งนี้ทำให้คนเริ่มหาแนวทางในการใช้ชีวิตใหม่ ๆ ซึ่งจากประสบการณ์พบว่า โควิด ทำให้การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีรวดเร็วมากขึ้น แม้เราจะไม่ได้เดินทางไปในต่างประเทศ เห็นได้จากการที่ “โลกาภิวัตน์” มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการค้าและการส่งออกข้ามประเทศ ที่ตอนนี้มีการขนส่งมากขึ้น จนท่าเรือไม่พอที่จะรองรับการขนส่งสินค้า ขณะที่สภาวะทางการเงินมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตลาดการลงทุนที่เกี่ยวกับดิจิทัล ที่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างประเทศตอนนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่สิ่งที่ขาดหายไปหลังมีการแพร่ระบาดของโควิดคือ การท่องเที่ยว จากสถิติพบว่า มีคนหายไปจากการท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคน แต่ต่อให้เรามีการฉีดวัคซีนแล้ว การท่องเที่ยวจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมในอีก 1-2 ปี หรือการท่องเที่ยวอาจมีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแบบถาวร เพราะจากการรวบรวมสถิติพบว่า การเดินทางจะมีน้อยลง หรือถ้าสถานการณ์ดีขึ้น คนก็ไม่กลับมาเดินทางบ่อยเหมือนเดิม

ส่วนความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนทำงานจะมีมากขึ้นในยุคของโควิด โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานด้านการท่องเที่ยว, ร้านอาหาร สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาสุขภาพจิต ที่จะได้รับผลกระทบจากรายได้ และจากการสำรวจพบว่า ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากบางคนต้องลางาน เพื่อมาดูแลลูกที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน หรือผู้หญิงบางคนต้องดูแลผู้สูงอายุที่บ้านร่วมด้วย

ดังนั้นผลกระทบระยะยาวย่อมเกิดขึ้น เนื่องจากคนทำงานถูกบ่มเพาะการเรียนรู้มาจากแนวคิดในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม จะไม่ตอบโจทย์การทำงานในอนาคต เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่คนทำงาน เพราะเมื่อเกิดโควิด เทคโนโลยีเหล่านี้ยิ่งถูกผลิตมาแทนมนุษย์มากขึ้น เหตุจากหุ่นยนต์ที่ใช้ในการผลิตจะไม่มีปัญหาในด้านโรคติดต่อ แต่ถ้าใช้มนุษย์จะมีความเสี่ยง จนต้องหยุดการผลิต ซึ่งจากการสำรวจพบว่า บริษัทผู้ผลิตในอุตสาหกรรมของไทย มีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องการผลิตเทคโนโลยี เพื่อมาแทนมนุษย์มากขึ้น

“โลกยุคหลังโควิด ขั้วทางเศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่อเมริกาเป็นผู้นำ แต่ตอนนี้จีนและหลายประเทศในเอเชียเริ่มเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลก เพราะอเมริกาก้าวพลาดมาปีกว่า จากการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ประชากรบางส่วนเสียชีวิตลง และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ผิดจากจีนที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด จนควบคุมได้ ซึ่งมีหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะโตกว่าอเมริกา

แต่สิ่งที่แข่งขันกันเพื่อเป็นผู้นำของโลกตอนนี้คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่แม้อเมริกาจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่จีนมีเทคโนโลยีที่ไล่ตามมาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากจีนมีข้อมูลที่มหาศาล เพราะมีประชากรมากกว่าอเมริกาถึง 3 เท่า สิ่งนี้ทำให้มีข้อมูลที่จะฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ให้มีความฉลาดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ยุคนี้เทคโนโลยีชั้นนำส่วนใหญ่จะมาจากจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันประชากรอเมริกาก็มีความเชื่อมั่นในระบบปัญญาประดิษฐ์น้อยกว่าจีน จึงส่งผลให้การพัฒนาในด้านนี้ช้ากว่าจีน 

“ด้านนึงเทคโนโลยีอาจสร้างโอกาสให้กับคนที่ยากไร้ แต่อีกด้านนึงอาจสร้างความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน เพราะบางคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เนื่องมาจากขาดทักษะด้านดิจิทัล และหลายคนใช้เทคโนโลยีไม่เป็นทำให้ไม่ได้สัมผัสกับโลกใหม่ ๆ และอีกปัจจัยเกิดจากอินเทอร์เน็ตที่ราคาแพง รวมถึงคุณภาพอินเทอร์เน็ตที่ต่ำ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาสูง”  

ด้วยปัจจัยนี้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแนวทางในการผลิตคนในตลาดแรงงาน ให้มีทักษะดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความรู้พื้นฐานดิจิทัล กับกลุ่มที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงในการสร้างโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยแรงงานที่มีความรู้ด้านดิจิทัลขั้นสูงยังค่อนข้างขาดแคลน

อีกปัจจัยต่อมาจะต้องสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ส่วนนึงเกิดจากการออกไปเรียนรู้แก้ไขปัญหาในงานด้านอื่น ๆ ที่เราไม่มีทักษะหรือไม่เคยเรียนรู้มาก่อน เพราะเราสามารถสร้างนวัตกรรมบางอย่างขึ้นได้ โดยที่เราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นโดยตรง เนื่องจากเราอาจมองเห็นอะไรใหม่ ที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นมองไม่เห็น ซึ่งนวัตกรรมอาจเกิดจากการมองของเดิมในมุมมองที่แตกต่าง หรือสายตาที่ต่างจากเดิม แต่สิ่งสำคัญคือการมีสังคมที่แตกต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้

อีกทักษะที่สำคัญคือ การสร้างมุมมอง ที่เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ดีกว่าวันนี้ โดยที่ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ในสิ่งที่ทำวันนี้ ดังนั้นถ้าเกิดผิดพลาด เราจะไม่กลัว เนื่องจากพรุ่งนี้เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ดีกว่าวันนี้ได้ตลอด และจะทำให้รับกับความล้มเหลวได้ โดยไม่กลัว ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เราพัฒนาตัวเองไปตลอดชีวิต

ที่สำคัญการเรียนรู้ของผู้คนในการทำงานจะเปลี่ยนไปจากเดิม ที่จะต้องเร่งเรียนเพื่อได้ทำงานและมีเงินเดือนสูง ๆ แต่ในโลกยุคใหม่ ช่วงนึงเราอาจต้องเรียนรู้ เมื่อทำงานไปได้สักพักก็ต้องกลับมาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดยต้องทิ้งความรู้เก่าที่เคยเรียนหรือใช้ในการทำงาน เพราะความรู้เดิมอาจไม่ตอบโจทย์ในการทำงานในยุคใหม่

แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง เพราะเมื่อเราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดชีวิต เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในชีวิต พอขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ก็จะขาดกำลังใจ และจะทำให้ชีวิตของตัวเองดิ่งลงไปพร้อมกับความรู้และการทำงานแบบเก่า ที่ไม่ได้พัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางในการพัฒนาตัวเองสู่ปีใหม่และสิ่งใหม่ ที่ส่วนหนึ่งนอกจากจะสร้างความสุขให้กับตัวเองแล้ว ยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้อื่น ได้เห็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน.