การเคลื่อนไหวพยายามผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ซึ่งถือเป็นร่างกฎหมายที่ต่อสู้กันมายาวนานหลายสิบปีแล้ว กระทั่งวันที่ 17 ส.ค. 2564 เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน มีตัวแทนหลาย ๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงตัวแทนจาก กลุ่มสิทธิมนุษยชน เข้าไปมีส่วนร่วม
คณะกมธ.วิสามัญชุดนี้ ซึ่งมี นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้เดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ประชุมพิจารณาร่างกันชนิดละเอียดเข้มข้น โดยมุ่งหวังให้ทันเสนอเข้าที่ ประชุมรัฐสภา สมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 (มีระยะเวลา 120 วัน)
ผิดอาญาสากล-ไม่มีอายุความ
ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสเกาะติดความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นร่างกฎหมายฉบับสำคัญที่หลาย ๆ ฝ่ายกำลังเฝ้ารอลุ้นมาตลอด น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ คณะ กมธ.วิสามัญฯ ชุดนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายมาตรา ทั้ง 34 มาตรา เสร็จสิ้นแล้ว หลังจากที่ได้ประชุมไปแล้วทั้งสิ้น 27 ครั้ง มาตั้งแต่ ก.ย. 64 สำหรับสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับของคณะ กมธ.วิสามัญในครั้งนี้ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากร่างหลักของกระทรวงยุติธรรม พิจารณาร่วมกับร่างของ ส.ส.พรรคต่าง ๆ อีก 3 ร่าง ภายหลังพิจารณาแล้วมีเนื้อหาทั้งหมด 15 ประเด็นสำคัญ คือ
1.การบัญญัติให้การกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นความผิดในทางอาญา ตามข้อตกลงในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) มีลักษณะเป็น ความผิดอาญาสากล ที่แม้จะกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรก็ให้มีผลให้ราชอาณาจักรด้วย2.การบัญญัติให้ผู้เสียหายครอบคลุมถึง สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงคำว่า “คู่ชีวิต” 3.การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้เป็นการห้ามโดยเด็ดขาด ไม่ให้สถานการณ์พิเศษใด ๆ ไม่ว่าจะภาวะสงคราม ภาวะความไม่มั่นทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นใดมาเป็นเหตุแห่งการกระทำความผิดได้
4.การห้ามผลักดันหรือส่งกลับบุคคล หากมีเหตุให้เชื่อว่าจะถูกกระทำทรมาน กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือกระทำให้บุคคลสูญหายเมื่อถูกส่งกลับ 5.ความผิดตามพรบ.ฉบับนี้ไม่มีอายุความ 6.ให้พนักงานอัยการ และพนักงานปกครองมีอำนาจในการสอบสวนได้ 7.พนักงานอัยการ และพนักงานปกครองมีหน้าที่แจ้งสิทธิให้แก่ผู้เสียหายในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากการถูกกระทำตาม พ.ร.บ.นี้ 8.การกระทำให้บุคคลสูญหายจะต้องมีการสืบสวนจนกระทั่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวถึงแก่ความตาย รวมไปถึงสืบสวนจนทราบรายละเอียดการกระทำความผิดและตัวผู้กระทำผิด
ขึ้นพิจารณาในศาลยุติธรรมเท่านั้น
9.การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้จะต้องขึ้นศาลยุติธรรมเท่านั้น แม้ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดจะอยู่ในขอบเขตอำนาจศาลทหารก็ให้พิจารณาคดีในศาลยุติธรรม 10.การให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมาจากหน่วยงานรัฐ 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่ผ่านการสรรหา 7 คน เพื่อติดตามตรวจข้อเท็จจริงการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ สามารถเข้าตรวจสถานที่ควบคุมตัว พิจารณารายงานสถานการณ์การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งเสนอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรับกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบายให้การป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ รวมทั้งนโยบายและหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว 11.เมื่อมีการควบคุมตัวจะต้องมีการบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุม และต้องแจ้งให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่นั้น ๆ ทราบโดยทันที 12.เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวบุคคลจะต้องลงบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นข้อมูลอัตลักษณ์ตัวตนบุคคล วัน เวลา สถานที่จับและปล่อยตัว รวมทั้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจับกุม
13.สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ ผู้แทนหรือทนายความ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตาม พ.ร.บ.นี้ มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้ และหากเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยข้อมูล ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลหรือไม่ได้ 14.สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ พนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนพิเศษ สามารถร้องศาลกรณีรับทราบข้อมูลการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว หรือถ้าไม่มีเหตุจำเป็นให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว รวมทั้งให้ได้พบญาติ ผู้ไว้วางใจ และทนายความ และต้องได้รับการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ และต้องมีการบันทึกทางการแพทย์ นิติวิทยาศาสตร์ และนิติจิตเวชศาสตร์ด้วย และ 15.ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเด็ดขาด
ผ่านร่างกฎหมายได้ยกระดับสังคม
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รองประธานคณะ กมธ. ชุดนี้ เปิดเผยว่า คณะกมธ.ได้ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ครบทุกประเด็นแล้ว และเตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติรายมาตราต่อไป โดยตลอดเวลากว่า 3 เดือน ในการพิจารณา 29 ครั้ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรรมาธิการ ที่ปรึกษา และผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน ไม่ว่าจะมาจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงยุติธรรม ฯลฯ ทำให้ได้ผลผลิตออกมาเป็นร่างกฎหมายที่มีคุณภาพมากฉบับหนึ่ง แม้อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้าง แต่สุดท้ายก็สามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ และแม้ในทางธรรมเนียมประเพณีจะมีกรรมาธิการบางท่านขอสงวนความเห็นที่ไม่ตรงกับกรรมาธิการส่วนใหญ่ แต่ก็ยังหวังว่าสภาจะยังคงได้รับการสนับสนุนเช่นนี้ต่อไป
“ผมมองว่าภารกิจของคณะกรรมาธิการชุดนี้ยังไม่จบ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคืออธิบายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าใจถึงความสำคัญของร่างกฎหมายนี้ว่าก่อนจะเข้ามาสู่กระบวนการสภาได้ พี่น้องประชาชนหลายคน หลายครอบครัว ต้องผ่านประสบการณ์ของการถูกซ้อมทรมาน ถูกอุ้มหาย อย่างกรณีที่เกิดขึ้นที่ จ.นครสวรรค์ เป็นตัวอย่างของฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ต้องมาลงมือผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่าถ้าผ่านร่างกฎหมายนี้ไปได้ สังคมจะปลอดภัยขึ้น จะเห็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือใครปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว กฎหมายนี้ก็จะคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่หลายครั้งมีข้อครหามากมายก็จะได้รับความโปร่งใส ข้อครหาต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป”
ถือว่าการเดินทางของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำลังใกล้ถึงปลายทาง หลังจากที่หลาย ๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและประชาชน สื่อมวลชน รวมไปถึงองค์กรต่างประเทศ ก็จับตาดูอยู่ว่าบทสรุปจะเป็นเช่นไร ในเมื่อ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาร่างเสร็จสิ้นไป 34 มาตรา โดยมีประเด็นที่สำคัญ 15 ข้อหลัก กระบวนการและกรอบเวลานับจากนี้ วันพุธที่ 5 ม.ค. 65 กมธ.จะร่วมกันพิจารณาตรวจรับรายงาน พร้อมเล่มเป็นเอกสารประกอบยื่นต่อให้สภา เพื่อพิจารณาเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมให้ทันในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะสิ้นสุดสมัยประชุมเดือน ก.พ. 65 นี้.