วันนี้ทีมข่าว “1/4 Special Report” มีโอกาสคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งมีที่ดินอยู่ในความครอบครองจำนวน 40 ล้านไร่ทั่วประเทศ และต้องจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน อย่างถูกต้องและเป็นธรรม ท่ามกลางเสียงครหาต่าง ๆ นานา จากปัญหาที่สลับซับซ้อนมากมายสะสมมาเป็นเวลาหลายปี
ปัญหา “ส.ป.ก.” ส่วนใหญ่เมืองท่องเที่ยว
ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่าปัญหาที่ดิน ส.ป.ก. เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อนมาก ตั้งแต่ปัญหาหน่วยงานรัฐด้วยกันถือแผนที่กันคนละฉบับ จึงมีการเรียกร้องขอ “ONE MAP” คือใช้แผนที่เดียวกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำให้เรื่องดังกล่าวต้องจบภายใน 2 เดือนนี้ ในส่วนของส.ป.ก.ที่มีปัญหาส่วนใหญ่ป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น นครราชสีมา (ปากช่อง-วังน้ำเขียว) เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ พังงา เกาะสมุย ชลบุรี ระยอง ฯลฯ ที่ดินส.ป.ก.ทุกจังหวัดส่วนใหญ่เป็นของนายทุน มีตัวอย่างที่ อ.ปากช่อง เป็นที่ดินจากนายทุนที่เราไปยึดมา เพราะก่อนหน้านั้นมีการขายที่ดิน ส.ป.ก. กันไร่ละ 20 ล้านบาท เหมือนกับอ.วังน้ำเขียว ถูกประกาศเป็นเขตส.ป.ก.ทั้งอำเภอ ราคาที่ดินจึงกลายเป็นทองคำ
หรือแม้แต่สวนปาล์มน้ำมันใน จ.กระบี่ ที่หมดอายุสัมปทานแล้วเป็นหมื่น ๆ ไร่ แต่ปัญหาคาราคาซังแก้ไม่ได้เสียที มีการประท้วงขับไล่ มีการทำร้ายกัน เพราะตนรู้มาว่ามีการจ่ายผลประโยชน์ให้กับคนหลายระดับทั้งข้าราชการ และนายทุนผู้มีอิทธิพล ในอัตราปาล์มน้ำมันต้นละ 5 บาท คือเอาเงินส่วนนี้ไปจ่ายส่วย จึงแก้ปัญหาไม่จบเสียที
แต่เมื่อตนเข้ามาแก้ปัญหาง่ายมาก เพราะต้นปาล์มฯ อายุมากก็ต้องโค่นทิ้งให้หมด เพื่อจะได้ไม่มีการจ่ายส่วยจากต้นปาล์มฯ ต้นละ 5 บาทอีกต่อไป แล้วนำที่ดินเหล่านี้มาจัดสรรให้เกษตรกร โดยไม่อยากส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มฯกันอีก เพราะสุดท้ายจะล้นตลาด ต้องนำปาล์มมาเทประท้วงรัฐบาล แต่เราจะส่งเสริมให้ไปทำอาชีพอื่น เช่น ประมง และปศุสัตว์ ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงแพะใน จ.กระบี่ และนราธิวาส ซึ่งไปได้ดีพอสมควร
เหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ ที่ส.ป.ก.จัดสรรที่ดินไปให้เกษตรกร เช่นในภาคเหนือไม่อยากให้ปลูกกันแต่ลิ้นจี่ ลำไย เพราะสุดท้ายแล้วลิ้นจี่ ลำไยล้นตลาดทุกปี ราคาตกต่ำมีปัญหามาให้รัฐบาลเข้าไปช่วยอีก แต่อยากส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือพืชสมุนไพรที่มีตลาดรองรับ
ยึดมาเข้าระบบ “เช่า” ได้เงินเข้ากองทุนฯ
ที่ดินส.ป.ก.หลายพื้นที่ทำการเกษตรไม่ได้แล้ว เพราะบางจุดเป็นชุมชน กลายเป็นเชิงท่องเที่ยวไปเกือบหมด เช่น อ.วังน้ำเขียว แต่จะทำอย่างไรให้ที่ดินเหล่านี้มีรายได้กลับคืนมาสู่ “กองทุนส.ป.ก.” เพื่อส่งต่อไปยังเกษตรกร เนื่องจากที่หลวงถึงจะมีสภาพเปลี่ยนไปอย่างไรก็ยังเป็นที่หลวง ดังนั้นจึงต้องนำเข้ามาในระบบ “การเช่า” ให้หมด เหมือนการเช่าที่ดินราชพัสดุ ซึ่งตอนนี้ตนกำลังทำอยู่
โดยพื้นที่ 40 ล้านไร่ของส.ป.ก. ต้องสำรวจทั้งหมด ปัจจุบันมีการทำ “บิ๊กดาต้า” สมมุติ จ.ภูเก็ตมีที่ดินส.ป.ก. 1 แสนไร่ ในจำนวนแสนไร่มี นาย ก. นาย ข. ทำอะไรอยู่ ทุกคนทราบว่าพื้นที่ภูเก็ตเมื่อก่อนปลูกสับปะรด ปลูกยางพารา
“แต่ปัจจุบันกลายเป็นโรงแรม 4-5 ดาว จำนวน 300 กว่าแห่ง สร้างกันมาหลายปีแล้วบนที่ดินส.ป.ก. เราจะไปไล่รื้อถอนกันไหวหรือ? รัฐมนตรีแบบผมมาอยู่ไม่นานเดี๋ยวก็ไป ส่วนเลขาฯ ส.ป.ก.ปกติอยู่กันไม่เกิน 2 ปี ก็ต้องย้ายหรือเกษียณ แล้วใครจะอยากทำให้เป็นภาระทิ้งไว้ภายหลัง ยิ่งข้าราชการ ส.ป.ก. ระดับเล็กลงไป เขาไม่กล้าอยู่แล้ว เพราะเจ้าของโรงแรมรีสอร์ททุกแห่งไม่ธรรมดากันทั้งนั้น พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเข้าไปแตะแล้วมีปัญหาทุกแปลง”
ดังนั้นจึงหาทางด้วยการออก “ประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน” ขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบของการเก็บค่าเช่า ใครว่าจะเอื้อนายทุนก็ว่าไป แต่ถามว่าแถว ๆ “ป่าตอง” จ.ภูเก็ต คุณจะไปทำการเกษตรอะไร? ถ้าเป็น กรมธนารักษ์จะปล่อยให้เช่าเก็บเงินเข้ารัฐ อันนี้เราจะทำเหมือนกรมธนารักษ์ ในอัตราค่าเช่าเหมือนกรมธนารักษ์ ซึ่งตอนนี้มีการประกาศใช้แล้ว
บริหารจัดการดี ๆ ได้ค่าเช่าเป็น “หมื่นล้าน”
ร.อ.ธรรมนัสกล่าวด้วยว่าวันที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไป จ.ภูเก็ต มีพวกกลุ่มโรงแรมเข้ามาประท้วงนายกฯ ว่าต้องทำอย่างไรเพราะพวกเขาอยู่กันแบบผิด ๆ จะต่อยอดขยับขยายกิจการ หรือจะไปขอกู้เงินก็ไม่ได้ เนื่องจากอยู่กันแบบผิดกฎหมาย แต่ถ้าให้เขาเช่าที่ดินได้ ก็สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ เหมือนกรมธนารักษ์ให้คนเช่าที่ดินเต็มไปหมด
ปีนี้มีรายได้จากค่าเช่าเข้ากองทุนส.ป.ก.ประมาณ 1,000 ล้านบาท ถือว่ายังน้อยเพราะยังมีการหมกเม็ดกันอยู่ คือเมื่อก่อนอาจจะไปเช่ากับส.ป.ก.จังหวัด แต่วันนี้ตนกำลังจะนำของที่อยู่ใต้โต๊ะขึ้นมาอยู่บนโต๊ะให้หมด เพราะที่ดินส.ป.ก. 40 ล้านไร่ ถ้าบริหารจัดการดี ๆ เก็บค่าเช่าอย่างจริง ๆ จัง ๆ น่าจะได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท พูดง่าย ๆ ว่าจะทำให้ถูกต้องและเข้ารูปเข้ารอยภายใน 1 ปีนี้
ดูง่าย ๆ ตั้งแต่จ.ฉะเชิงเทรา ไปถึงจ.ตราด ที่ดินติดชายทะเลเป็นที่ดิน ส.ป.ก.เกือบทั้งหมด แต่ปัจจุบันก่อสร้างกันเต็มไปหมด จะให้ทำอย่างไร ทุบทิ้งก็ไม่ได้ ก็ต้องค่อย ๆ ทำไปและเริ่มมีรายได้เข้ามาจากค่าเช่า การแก้ไขปัญหาที่ดินถ้าไม่มีกฎหมายรองรับเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่ผ่านมาไม่กล้าทำ คนทั่วไปจึงมองว่าเราเอื้อนายทุนซึ่งมันไม่ใช่ แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เข้าไปไล่ทุบ แต่เราเข้าไปยึด ยึดแล้วให้นายทุนรายเดิมเข้ามาเช่าให้ถูกต้องในอัตราเท่ากับของกรมธนารักษ์ และเอาเงินเข้ากองทุนส.ป.ก. โดยเฉพาะที่ดินในโครงการอีอีซีมีการขายให้นายทุนไปแล้ว 4-5 หมื่นไร่ จะยึดกลับคืนมาให้หมด
ตอนแรกนายกฯบอกว่าให้โอนที่ดินเหล่านี้ที่มีปัญหาไปให้กรมธนารักษ์ แต่บอกตามตรง ส.ป.ก. ไม่อยากจะเสีย เพราะถือว่าเป็นรายได้เข้ารัฐทั้งคู่ จึงยอมแก้ระเบียบการของเราดีกว่า สรุปคือระเบียบตรงนี้จบไปแล้ว ประกาศใช้แล้ว
“หลายคนไม่คืนที่ดินให้ ส.ป.ก. คืออยากให้ฟ้อง คนประเภทนี้มีเยอะ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวชายทะเลอันดามัน หรือแม้แต่ปากช่อง วังน้ำเขียว เขาใหญ่ ส่วนพัทยาก็เยอะ เมื่อเดือนที่แล้วผมลงไปเพราะโครงการอีอีซีต้องการที่ดินมาทำสมาร์ทซิตี้ พอสำรวจแล้วโอ้โฮ! เฉพาะพัทยาเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 3-4 หมื่นไร่ กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างไปเกือบหมดแล้ว ต้องถามว่าอยู่กันมาได้อย่างไร คือสมัยก่อนเขาประกาศเขตปฏิรูปที่ดินทั้งจังหวัด ทั้งอำเภอ แล้วไม่ได้แก้กฎหมาย”
ให้การบ้าน “ส.ป.ก.จังหวัด” เกียร์ว่างเจอเด้ง!
ส่วนโครงการอีอีซีถ้าไปโดนที่ดินส.ป.ก.ชาวบ้าน ก็ให้อีอีซีจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้าน เช่น ปลูกบ้านให้ใหม่ หาอาชีพใหม่ หรือถือหุ้นในอีอีซี พอมาอยู่ตรงนี้จึงเข้าใจเลยว่าทำไมคนอื่นไม่อยากมาดูแลงานส.ป.ก. เพราะมีปัญหาเยอะแยะและซับซ้อนมาก ยกตัวอย่างเกาะสมุยเป็นที่ดินส.ป.ก.ครึ่งเกาะ ราคาที่ดินเป็นทองคำไปหมดแล้ว ทางออกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้คือยึดมาเข้าระบบการเช่าเหมือนกรมธนารักษ์ เพื่อจะไม่มีข้อครหา อายุสัญญาเช่าครั้งละ 10 ปี แล้วสามารถต่อสัญญาได้
ถ้าสามารถทำได้ทั่วประเทศจะมีรายได้มาเข้ารัฐจำนวนมาก จะช่วยลดงบประมาณที่นำไปช่วยเหลือเกษตรกรได้มาก เพราะเงินที่เข้ากองทุนฯ จะนำไปช่วยส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร ถามว่าสมัยก่อนทำไมจึงไม่มีใครทำ เพราะมันเป็น“เผือกร้อน” ทำไปก็เสี่ยง โดยเฉพาะคนที่มาเป็นเลขาฯ ส.ป.ก.ไม่ค่อยกล้าทำ ตนไม่ได้สวมหมวกแค่เป็นรมช.เกษตรฯ แต่ยังดูแลเรื่องการจัดสรรที่ดินให้คนยากจน ทั้งกลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มพรีมูฟ กลุ่มประชาชน 4 ภาค ดังนั้นเวลาไปแก้ปัญหาที่ดินให้ชาวบ้าน หรือตอนขึ้นทะเบียนผู้ยากไร ตนจึงสวมหมวกหลายใบแต่เอา ส.ป.ก.เป็นที่ตั้ง
ร.อ.ธรรมนัสกล่าวอีกว่าหลังจากเข้ามากำกับดูแลงาน ส.ป.ก. ได้ให้การบ้าน ส.ป.ก.จังหวัด ไปเร่งสำรวจตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก. ในความรับผิดชอบว่ามีกี่ไร่ กี่แปลง ใครเป็นผู้ถือครอง จังหวัดไหนที่มีปัญหาสะสมมาก ๆ ก็ต้องโยกย้ายส.ป.ก.จังหวัด ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 63 และปีนี้จะย้ายกันอีก คือเราต้องรู้ว่าใครถือครองที่ดินส.ป.ก. เช่นรายใหญ่ ๆ ตอนนี้รู้ชื่อหมด บางคนถือครองเป็นหมื่นไร่ เริ่มปล่อยคืนออกมาหลายคนแล้ว หรือพวก “เจ้าสัว” ครอบครองที่ส.ป.ก.ไว้เยอะ แต่ก็แบ่งให้ชาวบ้านเข้าไปทำมาหากินได้ ตรงนี้ยังพอรับได้ แต่เรามีนโยบายยึดคืน เพื่อนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านโดยตรง เหมือนสวนส้มใน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ยึดมาตั้งแต่ปี 59 ประมาณ 20,000 ไร่ ยังไม่ได้แจกจ่ายให้ใครเพราะ ส.ป.ก.ต้องจัดสรรให้คนยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน รายละ 6 ไร่
ใครครอบครองพื้นที่ ส.ป.ก. เกิน 500 ไร่ เราเข้าไปยึดคืนกลับมาง่าย เพราะมีมาตรา 44 คุ้มครองอยู่ แต่ถ้าต่ำกว่า 500 ไร่ ถ้าจะยึดก็ต้องฟ้องร้องขับไล่ ซึ่งปัจจุบันการฟ้องร้องกันในศาลไม่ได้ยืดเยื้อแล้ว คดีพวกนี้จึงจบเร็ว.