จากการสอบถามของผู้สื่อข่าวอาร์เอฟเอ ชาวเมียนมาหลายคนบอกว่า รัฐบาลทหารทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ

10 เดือนหลังจากกองทัพเมียนมาภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เมียนมาถลำเข้าสู่ภาวะยุ่งเหยิง เกิดการประท้วงตามท้องถนนในเมืองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และเกิดขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) ทั่วประเทศ และการสู้รบระหว่างทหารกองทัพรัฐบาล กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในรัฐต่าง ๆ ปะทุขึ้นอีก รวมทั้งกองกำลังจัดตั้งใหม่ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร

อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตกับดอลลาร์สหรัฐลดดิ่งลง และธุรกิจต่างชาติทยอยถอนการลงทุนออก ท่ามกลางความเสี่ยงด้านความมั่นคงขณะที่กลุ่มชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นระลอก จากการใช้กำลังปราบปรามการประท้วง

หนุ่มชาวเมืองย่างกุ้ง ชื่อเซยาร์ อาชีพนักออกแบบกราฟิก ซึ่งเข้าแถวทำพาสปอร์ตกับประชาชนอีกประมาณ 1,000 คน เผยต่อผู้สื่อข่าวของอาร์เอฟเอว่า ตอนนี้มนุษย์เงินเดือนในเมียนมาประสบความยากลำบากมากขึ้น ในการหาเลี้ยงชีวิต ตัวเขาเองเงินเดือนถูกลดลงครึ่งหนึ่ง ก่อนจะถูกเลิกจ้าง เมื่อนักลงทุนต่างชาติถอนตัวออกจากเมียนมา และการหางานทำในประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย

เซยาร์บอกว่า ประชาชนหลายร้อยคนมาจองคิวหน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในย่านยานขิ่น ของเมืองย่างกุ้งตั้งแต่ 03.00 น. แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวในเมืองย่างกุ้งระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. วันนี้เขามาเป็นครั้งที่สอง หลังจากวันแรกรอคิวทั้งวันแต่ไม่ได้

ส่วน ปยี เพียว บอกว่า มาเข้าคิวเป็นครั้งที่สามแล้ว ปัญหาคือประมาณ 45 ใน 50 คนที่เข้าคิว เป็นพวกนายหน้า หรือพวกรับจ้างยื่นเอกสาร ตามปกติค่าทำพาสปอร์ตตกเล่มละ 30,000 จ๊าด (556 บาท)แต่ถ้าใช้บริหารพวกนายหน้า ราคาจะอยู่ที่เล่มละประมาณ 75,000 จ๊าด สูงเกินกว่าชาวเมียนมาทั่วไปจะจ่ายได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่อย่างนี้

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวยอมรับต่อที่ประชุมนายทหารระดับสูง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของประเทศปีนี้ หดตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปีนี้ จะหดตัว 18% จากปัจจัยหลัก วิกฤติการเมืองเลวร้ายลง ผลพวงจากการก่อรัฐประหาร และโควิด-19 ระบาดระลอก 3 ในประเทศ

ผลการสำรวจสำมะโนประชากรเมียนมาในปี 2557 พบว่า กว่า 32 ล้านคน ของประชากรทั้งประเทศ 51 ล้านคน อยู่ในวัยทำงาน และปีที่แล้วรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพียงอย่างเดียว ทำให้ชาวเมียนมาตกงานสูงถึง 7.3 ล้านคน

จากข้อมูลของสหภาพแรงงานแห่งชาติเมียนมา (Myanmar National Trade Union) นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหาร 1 ก.พ. แรงงานตกงานมากที่สุด ในภาคการก่อสร้างเหมืองแร่ และการท่องเที่ยว และเมื่อโรงงานผลิตทยอยปิดตัวลงจำนวนมาก มีแรงงานในส่วนนี้ตกงานอีกหลายแสนคน

ปยี เพียว กล่าวว่า ดูเหมือนความหวังหนึ่งเดียวของชาวเมียนมาที่ว่างงานในประเทศตอนนี้ คือออกหางานทำในต่างแดนเท่านั้น ความหวังในประเทศแทบไม่มี แถมจำนวนคนว่างงานยังเพิ่มขึ้นทุกวัน

ก่อนหน้านี้ชาวเมียนมานับล้านคนที่ออกไปทำงานในต่างแดนส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มคนในชนบทหรือกลุ่มแรงงานไร้ทักษะ แต่ตอนนี้เป็นกลุ่มคนจบการศึกษาสูง กลุ่มคนชั้นกลางซึ่งเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนในภาคธุรกิจต่างๆ                                                                                                 

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP