ขนมไทย ๆ ประเภทขนมอบ ที่สามารถเก็บไว้ได้นานและยังคงความอร่อยอยู่มีหลากหลายชนิด และชนิดหนึ่งที่ทำไม่ยากนัก รายได้ก็พองาม ก็คือ “ขนมไข่” ขนมพื้นบ้านซึ่งเป็นของว่างที่รับประทานกับนํ้าชากาแฟหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ ซึ่งวันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” นำสูตรขนมไข่สูตรโบราณ กรอบนอกนุ่มในมาแนะนำ เพื่อเป็นช่องทางสำหรับผู้ที่สนใจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพสร้างรายได้ ที่ไม่ควรมองข้าม..
ผู้ที่จะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้ คือ อ้อย นุ้ยนํ้าวงษ์ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปากปิง อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า ครอบครัวเธอนั้นมีอาชีพเกษตรกร เมื่อหมดฤดูกาลทำไร่ทำนาบรรดาแม่บ้านจะว่างไม่มีอะไรทำ บางปีผลผลิตไม่ได้ราคาทำให้ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว จึงมานั่งปรึกษากันว่าน่าจะหาอะไรทำเพื่อหารายได้เสริม และเพื่อสร้างความรักสามัคคีในชุมชน จึงได้รวมกลุ่มตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปากปิง ทำขนมพื้นบ้านโบราณเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษเอาไว้ไม่ให้สูญหายไปจากชุมชน โดยมีสมาชิก 20 คน ระดมทุนคนละ 100 บาท จัดซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบในการทำ
“เริ่มจากการทำขนมนมบุหงาบูดะ มักทำกันเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมาก กลายเป็นสินค้าโอทอปที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสตูล จากนั้นก็เริ่มทำส่งในตลาดและละแวกใกล้เคียง เราเริ่มจากขนาดเล็ก ๆ ต่อยอดต่อทุนไปเรื่อย ๆ จนกลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการพัฒนาขนมพื้นบ้านจนมีขนมหลากหลายอย่าง อาทิ ขนมไข่เต่า ขนมโรตีกะปาย ขนมปะการัง โรตีกรอบ ขนมผูกรัก ขนมถั่วอัด และล่าสุดคือ “ขนมไข่สูตรโบราณ” เป็นที่นิยมและขายดีมาก ๆ เวลาไปออกงานที่ไหนก็จะทำโชว์กันสด ๆ ส่งกลิ่นหอมยั่วยวนให้คนต้องหันกลับมาซื้อ”
“สำหรับรายได้ของสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปากปิง อ้อย บอกว่าจะเน้นทำมากได้มาก ใครทำน้อยได้น้อย จะแบ่งงานกันทำ ยากบ้างง่ายบ้าง บางอย่างต้องปั้นกับมือ แต่บางอย่างก็ใช้พิมพ์ อย่างขนมไข่กรอบเป็นขนมที่ทำง่าย กินง่าย กินได้ทุกศาสนา ปัจจุบันสมาชิกแต่ละคนมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เฉลี่ยประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน ช่วงนี้รายได้สมาชิกลดลงเพราะสถานการณ์โควิดระบาด ไปออกร้านหรือออกบูธขายที่ไหนไม่ได้ จึงทำขายตามออร์เดอร์ลูกค้าเท่านั้น ใครสนใจสั่งมาได้เลยค่ะ”
อุปกรณ์ ที่ใช้ในการทำมี…เตาสำหรับอบขนม, แม่พิมพ์ขนมไข่ (มีช่องหยอดแป้ง 14 ช่องต่อ 1 พิมพ์ แต่ละช่องจะเป็นรูปกลมรี), ที่ร่อนแป้ง, ตะแกรง, ถาด, เครื่องตีไข่, กระบวย, ช้อน-ส้อม, กะละมัง และเครื่องใช้เครื่องมืออย่างอื่น ๆ ที่หยิบยืมเอาจากในครัวได้
วัตถุดิบ มี ไข่เป็ด 50 ฟอง, นํ้าตาลทราย 2 กก., แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 1/2 กก., กลิ่นวานิลลา 1/2 ½ ถ้วยตวง, ลูกเกดแห้งอย่างดี, นํ้ามันบัวหรือเนยสำหรับทาพิมพ์ และนํ้าสะอาด
ขั้นตอนการทำ “ขนมไข่สูตรโบราณ”
เริ่มจากนำแป้งสาลีมาทำการร่อน 3 ครั้ง แล้วพักวางไว้ เสร็จแล้วนำไข่เป็ดที่เตรียมไว้มาตอกใส่ภาชนะ ตีให้ขึ้นฟู ขณะตีไข่ให้เติม นํ้าตาลทรายทีละน้อยจนหมด ตีต่อไปจนนํ้าตาลละลายและส่วนผสมขึ้นเป็นครีมขาว เสร็จแล้วนำแป้งที่ร่อนเตรียมไว้ ค่อย ๆ ใส่ลงไปในส่วนผสมไข่กับนํ้าตาลจนหมด ตามด้วยกลิ่นวานิลลา (ใส่กลิ่นวานิลลาเพื่อกันคาวไข่) ตีแป้งต่ออีกสักพัก เมื่อส่วนผสมเข้ากันดี แล้วให้พักไว้สักครู่
นำแม่พิมพ์ขนมเข้าวอร์มในเตาอบ พอให้พิมพ์ร้อน เอาพิมพ์ออกมาทานํ้ามันบัวหรือเนยให้ทั่วหลุม แล้วใช้ทัพพีตักส่วนผสมแป้งที่ทำเสร็จแล้วหยอดลงในพิมพ์ (การหยอดแป้ง อย่าใส่จนเต็มพิมพ์ เพราะเมื่ออบแล้วตัวขนมจะฟูขึ้นอีก ควรใส่ประมาณ 3 ใน 4 ของพิมพ์ก็พอ) ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความ เร็ว เพราะถ้าช้าจะทำให้ขนมเสียหายได้
ทั้งนี้ หากต้อง การเพิ่มความอร่อย ก่อนหยอดแป้งให้นำลูกเกด 2-3 เม็ดใส่ลงไปก่อน แล้วหยอดแป้งตามไป
เมื่อหยอดแป้งจนครบจำนวนพิมพ์ขนมแล้ว ให้นำเข้าไปอบโดยใช้ความร้อน 250 องศา อบนานประมาณ 20 นาที เปิดเตาออกแล้วทำการกลับด้านพิมพ์ (ด้านในออกด้านนอก เพื่อให้ขนมสุกเสมอกัน) อบต่ออีก 10 นาที ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย แซะขนมออกจากพิมพ์ พักไว้ให้เย็นก่อนจะบรรจุ
สำหรับคนที่ต้องการทำขายเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจ อ้อยบอกว่า สามารถนำสูตรไปปรับและเพิ่มปริมาณได้ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ หากเป็นคนที่ชื่นชอบการทำขนมและต้องการมีรายได้พิเศษ
ราคาขาย “ขนมไข่สูตรโบราณ” ของกลุ่มฯ ขายกล่องละ 50 บาท มีจำนวน 13 ลูก (มีทั้งแบบใส่ลูกเกดและไม่ใส่)
ใครสนใจอยากลองชิมรสชาติความอร่อยของ “ขนมไข่สูตรโบราณ” ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปากปิงว่ามีความแตกต่างจากขนมไข่เจ้าอื่นอย่างไร แหล่งผลิตอยู่ที่ 120 บ้านปากปิง หมู่ 10 ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล หากสนใจจะสั่งไปจำหน่าย หรือสั่งไปในงานต่าง ๆ ช่วงนี้โควิดระบาดไปออกร้านหรือออกบูธขายที่ไหนไม่ได้ จึงทำขายตามออร์เดอร์ สนใจ ติดต่อ อ้อย เจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ได้ที่ 08-9974-6913.
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง