กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศปิดล้อมอาวุธกัมพูชา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. โดยอ้างเหตุผล “อิทธิพลทางทหารของจีน ที่กำลังฝังรากลึกในกัมพูชา บ่อนทำลายและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของภูมิภาค” รวมทั้งกล่าวหากัมพูชามีการ “ทุจริต คอร์รัปชั่น และละเมิดสิทธิมนุษยชน”

และในวันเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังได้ประกาศข้อจำกัด การนำเข้าของกัมพูชา เทคโนโลยีและฮาร์ดแวร์กองทัพ ที่ผลิตในสหรัฐ

นี่ไม่ใช้การคว่ำบาตร แต่เป็นการเพิ่มขีดข้อจำกัด การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กัมพูชา

วันที่ 10 ธ.ค. สมเด็จฮุน เซน ประกาศขอบคุณสหรัฐ ที่ห้ามการส่งอาวุธให้กัมพูชา และว่ารู้สึกว่าตัวเองฉลาด ที่ตัดสินใจในปี 2537 เลือกที่จะไม่เปลี่ยนระบบอาวุธของประเทศ ไปใช้ของสหรัฐ

ฮุน เซน กล่าวว่า บทเรียนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่า ประเทศใดที่ใช้อาวุธผลิตในสหรัฐ มักจะแพ้สงครามเสมอ ยกตัวอย่าง ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลกัมพูชา ภายใต้การนำของ จอมพลลอน นอล ในปี 2518 ซึ่งตอนนั้นสหรัฐส่งอาวุธสารพัดชนิด ไปช่วยลอน นอล จำนวนมหาศาล

ที่สำคัญ อาวุธเหล่านั้นทำให้กัมพูชาเป็นหนี้สหรัฐบานเบอะ และรัฐบาลพนมเปญยังใช้หนี้ส่วนนี้ไม่หมดจนถึงปัจจุบัน

และที่เห็นล่าสุด ฝ่ายแพ้สงครามในอัฟกานิสถาน ใช้อาวุธผลิตในสหรัฐเป็นหลักเช่นกัน ฮุน เซน บอกว่า เขาเชื่อมั่นในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของทหารกัมพูชา ในการสู้รบเพื่อปกป้องประเทศชาติ มากกว่าคิดพึ่งพาอาวุธเพียงอย่างเดียว

อันที่จริง กัมพูชาไม่ได้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐ “โดยตรง” ตั้งแต่ปี 2516 แล้ว พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา บอกว่า ปัจจุบันมีอาวุธผลิตในสหรัฐ เหลืออยู่ในกัมพูชาแค่พอประมาณ และอาวุธเหล่านี้ทั้งหมด นำเข้าโดยรัฐบาลของ จอมพล ลอน นอล ในช่วงประมาณปี 2513 นอกจากนั้นยังมีลูกระเบิดจำนวนมหาศาล รวมน้ำหนักหลายล้านตัน ที่เครื่องบินกองทัพสหรัฐ ในยุคประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน นำมาทิ้งโดยผิดกฎหมาย ในดินแดนกัมพูชา

Khmer Times

อาวุธเหล่านี้ปัจจุบันถูกเก็บไว้ในคลังแสงของฐานทัพหลายแห่งทั่วประเทศ แต่เก่าคร่ำคร่า จนใช้การไม่ได้แล้ว และภายใต้รัฐบาลของฮุน เซน กัมพูชาไม่เคยซื้ออาวุธจากสหรัฐ อุปกรณ์บางอย่าง เช่น รถยนต์ทหารที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐ ก็แทบไม่ได้ใช้งาน

เล้า หมง ฮาย นักวิเคราะห์การเมืองในพนมเปญ กล่าวว่า จะเป็นผลดีต่อกัมพูชามากกว่า หาก ฮุน เซน จะเลือกใช้วิธีตอบโต้ การทูตแบบบีบบังคับ (coercive diplomacy) ของสหรัฐ ด้วยความเงียบ และไม่ใส่ใจ มากกว่าแสดงความโกรธเคือง

การตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรง ท้าทาย หรือประชดประชัน มีแต่จะทำให้เสียบุคลิกคนพูด และเสียภาพลักษณ์ของประเทศ ในสายตาชาวโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐ จะไม่ดีขึ้น จากการตอบโต้ของฮุน เซน ตามที่เป็นข่าว และอาจจะส่งผลกระทบในทางลบในอนาคต รวมถึง การคว่ำบาตรทางการค้า หรือสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้า ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับกัมพูชา

แต่ คิม เพีย ผู้อำนวยการราชวิทยาลัยสถาบันวิเทศสัมพันธ์กัมพูชา กล่าวว่า การตอบโต้ของฮุน เซน ต่อการปิดล้อมอาวุธ ที่ “ไม่ยุติธรรมและไร้จุดหมาย” ของสหรัฐ ถือว่าเหมาะสมแล้ว ฮุน เซน เพียงแค่พูดข้อเท็จจริงว่า กองทัพกัมพูชาไม่ได้ซื้อและไม่ได้พึ่งพา อาวุธที่ผลิตในสหรัฐ ดังนั้นการปิดล้อมจึงไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อสรรพาวุธของประเทศ ปัจจุบันอาวุธส่วนหลักที่กองทัพกัมพูชาใช้ ผลิตในจีน รัสเซีย และกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก

เชื่อว่าปฏิกิริยาตอบโต้ของ ฮุน เซน จะไม่ทำให้ความสัมพันธ์ กัมพูชา-สหรัฐ จืดจางลง เพราะจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างระมัดระวัง ผ่านการเจรจาโดยตรง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี โดยยึดหลักเคารพผลประโยชน์ซึ่งกันละกัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES