หลังการประกาศใช้กฎหมายใหม่เกี่ยวกับยาเสพติดไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีหลายคำถามถึงกระบวนการบังคับใช้ ทั้งตัวกฎหมายเอง และบทบาทของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ได้เริ่มปรับตัวกันอย่างไรแล้วบ้างเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายใหม่

วิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส.

เน้นขยายผลยึดทรัพย์เครือข่าย

นอกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ยังมีอีกหน่วยงานที่เข้าไปมีบทบาททำงานเพื่อปราบปรามยาเสพติดโดยตรงเช่นกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ทีมข่าว 1/4  Special Report ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า กฎหมายยาเสพติดฉบับเก่ามีอุปสรรคในการทำงาน เช่น การยึดทรัพย์สิน ที่ระบุว่าให้ยึดทรัพย์ตามมีอยู่จริง ซึ่งกรณีที่นักค้ายาเสพติดทำมาเป็นเวลานาน จนมีเงินเป็นร้อยล้าน แต่พอไปตรวจยึดจริงอาจมีการยักย้ายถ่ายเท จนเหลือเพียงรถยนต์คันเดียวให้เจ้าหน้าที่ยึดทรัพย์สิน แต่ในกฎหมายใหม่ระบุว่าให้ยึดตามมูลค่าเพิ่ม โดยดูพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหากระทำความผิดมา ซึ่งจะมีการคำนวณดูว่าผู้ต้องหาได้รายได้จากยาเสพติดมาเท่าไร โดยถ้าทำมาเป็นเวลานานเราจะเสนอหลักฐานให้ศาลพิจารณา

ตัวอย่างเช่น เมื่อประเมินแล้วว่า มีทรัพย์สินประมาณร้อยล้าน แต่ผู้ต้องหามีแค่รถคันเดียว ก็ต้องไปไล่ยึดทรัพย์อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติด เช่น ทรัพย์จากมรดก หรือทรัพย์ที่ได้มาโดยสุจริต เพื่อนำมาขายทอดตลาด และชดใช้เข้ากองทุน ป.ป.ส. ให้ครบตามจำนวนที่ประเมินไว้ ขณะที่กฎหมายเก่า ยังมีช่องว่างที่ยึดคดีอาญาเป็นหลัก อย่างกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมคดียาเสพติดและถูกยึดทรัพย์ ถ้าในคดีอาญาศาลยกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องจะต้องคืนทรัพย์ให้กับผู้ต้องสงสัยทั้งหมด แม้จะรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการขายยาเสพติด
ก็ต้องคืนทั้งหมด แต่กฎหมายใหม่แยกออกจากกัน แม้ผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง แต่ในส่วนทรัพย์สิน ป.ป.ส.สามารถยึดได้ หากมีการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการขายยาเสพติด โดยศาลมีอำนาจในการสั่งยึดทรัพย์

 “การคำนวณมูลค่าเพื่อยึดทรัพย์จะเริ่มตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ที่มีทั้งการสืบ สวนทางอาญา และทางการเงิน โดยจะต้องไปไล่ดูว่าทรัพย์สินแต่ละอย่างได้มาอย่างไร และหลังจากจับกุมจะต้องสืบสวนด้านบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ ของผู้ต้องหา แต่สิ่งสำคัญจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน

สำหรับประเด็นสำคัญต่อมาคือ การยึดของกลาง โดยเฉพาะพวกตัวยาเสพติด หรือสารเคมีต่าง ๆ กฎหมายเก่าเมื่อยึดสารเคมีมาจะต้องให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ และกระบวนการต่อมาต้องให้ อย.จัดเก็บไว้จนกว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี หรือกรณีที่ยึดของกลางได้ แต่ผู้ต้องหาหลบหนีไป การจะทำลายได้ต้องให้หมดอายุความคดีใน 30 ปี แต่ถ้าหากเป็นคดีที่จับผู้ต้องหาได้ กว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินก็ใช้เวลาหลายปี จึงกลายเป็นภาระที่จะต้องนำยาเสพติดมาเก็บรักษา ซึ่งสารเคมีส่วนใหญ่เมื่อเก็บไว้หลายปีก็จะแปรสภาพไป จนเป็นอันตรายอย่างมาก    

ในกฎหมายใหม่ เมื่อยึดของกลางได้ เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกและส่งให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ จนได้ผลข้อมูล โดยจะใช้ผลพิสูจน์นี้ไว้ดำเนินคดี แต่ตัวยาเสพติดของกลาง อย. สามารถนำไปทำลายได้ทันที โดยไม่ต้องรอศาลพิพากษา หรือรอให้คดีหมดอายุความ สิ่งนี้จะช่วยทำให้ไม่เกิดการครหาว่า เจ้าหน้าที่นำยาเสพติดมาเวียนเพื่อจับกุม

ลุยขุดรากถอนโคนผู้ค้ารายใหญ่

เลขาธิการ ป.ป.ส. มีมุมมองถึงในส่วนการบำบัดรักษาว่า เรายังยึดหลักในการนำผู้เสพมาบำบัด โดยถือว่า ผู้เสพคือผู้ป่วย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความผิด เพราะในกรณีที่เจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้และพบว่าติดยาเสพติด สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ผู้ต้องหาต้องสมัครใจบำบัดยาเสพติดก่อน ผู้ต้องหาสามารถสมัครใจบำบัดเข้ากระบวนการต่าง ๆ จนเสร็จสิ้นก็จะไม่มีความผิด โดยหลังจากบำบัดเสร็จจะมีการออกใบรับรองว่าได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการจนเสร็จสิ้นแล้ว สิ่งเหล่านี้คือ ทางเลือกที่กฎหมายใหม่สร้างไว้ให้ ถ้าหากจับกุมแล้วพบว่าเสพ แต่ไม่ยอมบำบัดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือว่ามียาและเสพด้วยจะถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งยังมีโทษจำคุกอยู่ แต่เปิดช่องให้โอกาสผู้ที่หลงผิดได้เข้ามาบำบัด

ด้วยความที่กฎหมายใหม่ มีการจำแนกผู้ต้องหาเป็น กลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ ผู้ค้ารายย่อย และ ผู้เสพ ซึ่งจะมีการลงโทษต่างกัน โดยหลายคนกังวลว่า อาจเป็นช่องให้เจ้าหน้าที่หาผลประโยชน์ แต่จริง ๆ แล้วในการจับกุม หากเป็นผู้ค้ารายใหญ่จะมีอยู่ในฐานข้อมูล เพราะในฐานข้อมูลของ ป.ป.ส. มีเก็บรายละเอียดเหล่านี้ไว้ทั้งหมด ดังนั้นต่อไป พนักงานสอบสวนในท้องที่ อาจจะทำหนังสือมายัง ป.ป.ส. เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลของผู้ค้ายาเสพติดที่จับกุมได้ว่า เป็นผู้ค้ารายใหญ่ในฐานข้อมูลหรือไม่

หากมีข้อสงสัยและกังวลว่า จะมีการเล่นแร่แปรธาตุในการตีความผู้ต้องหาจากรายใหญ่มาเป็นรายเล็ก เพื่อให้โทษเบาลง ป.ป.ส.จะมีบทบาทเข้าไปตรวจสอบ โดยใช้ฐานข้อมูลผู้ค้ายาเสพติดที่มี สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในแต่ละท้องที่ เพราะการจับกุมในคดียาเสพติด ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ไปจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่มีข้อมูล แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นรายใหญ่ หรือเครือข่ายจะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว

กรณีที่ไม่มีประวัติ แต่เพิ่งมาเจอและจับกุม ก็ต้องไปสืบสวนดูประวัติทางการเงิน โดยดูว่ามีประวัติการโอนเงินอย่างไร หรือการสอบถามพยานแวดล้อมถึงพฤติกรรมว่า บางคนอาจเริ่มมีเงินมากเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมาจากการค้ายาเสพติด ซึ่งพยานหลักฐานเหล่านี้ถือเป็นมูลเหตุในการพิจารณาว่า ผู้ต้องหาคนนั้นจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ หรือรายย่อย เพื่อให้เกิดกระบวนการรับโทษที่เหมาะสม

บทบาทพนักงานสอบสวนที่ต้องเปลี่ยน

นายวิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวน เมื่อมีการเปลี่ยนกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ จะต้องสืบสวนในทางการเงิน และทรัพย์สินรายได้ต่าง ๆ เพิ่มเติมจากเดิม โดยในชั้นสอบสวนจากที่สอบสวนเพื่อเอาความผิดในการหาหลักฐาน จะต้องปรับเปลี่ยนในการสอบสวนเพื่อหาแหล่งที่มาของรายได้ และต้องสืบสวนให้รู้ว่าผู้ต้องหาเริ่มค้ายามาตั้งแต่เมื่อไร เพราะกฎหมายใหม่เราจะคิดมูลค่าของทรัพย์สินที่จะยึดนับตั้งแต่วันที่ผู้ต้องหาค้ายาเสพติด

โดยเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์จะตกมาอยู่ที่กองทุน ป.ป.ส. ที่จะนำเงินเหล่านี้มาแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ แต่จะมีการแบ่งทรัพย์สินเป็น 70% และ 30% โดย 70 เปอร์เซ็นต์ที่ยึดทรัพย์มาจะนำเข้ากองทุน ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์จะแบ่งให้กับเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม สืบสวน และขยายผลจนนำสู่การจับกุม แต่ถ้าหากมีประชาชนให้เบาะแสข้อมูล จนนำสู่การจับกุมขยายผล จะมีการแบ่งเงินให้ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยดึงมาจาก 30 เปอร์เซ็นต์ที่เจ้าหน้าที่จะได้ 

ตอนนี้เราพยายามส่งเสริมความรู้ในชั้นสอบสวนให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะปัจจุบันขบวนการค้ายาเสพติดมีการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น เช่น การฟองเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัล ดังนั้น ป.ป.ส. ได้ทำงานประสานกับประเทศต่าง ๆ 26 ประเทศ ในการตรวจสอบ ซึ่งตอนนี้องค์กรในต่างประเทศ มีการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการฟอกเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัล เพื่อให้มาฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในไทยแล้ว.