ก็เป็นอันรู้ผลกันไปแล้วถึง การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด ซึ่งก็มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า รัฐมนตรีที่จะได้รับคะแนนไว้วางใจเป็นอันดับบ๊วยน่าจะเป็น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งเขาก็ว่าเป็นเพราะสาเหตุ “สมบัติผลัดกันชม” คือให้ดูเหมือนไม่น่าไว้วางใจที่สุดและเวลาปรับ ครม.จะได้เด้งออกจากเก้าอี้ให้คนอื่นเป็นแทนบ้าง โดยเฉพาะ “ผู้มีอิทธิพลในพรรค” ที่เป็นรัฐมนตรีช่วย ก็จะได้ขึ้นว่าการเสียที
ต่อจากนี้วาระที่ต้องตาม ก็เป็นไปอย่างที่พรรคฝ่ายค้านประชุมกันเมื่อวันที่ 22 ก.พ. คือ “แต่ละพรรคจะต้องหาข้อมูลเพื่อยื่นเอาผิดรัฐมนตรีต่อองค์กรอิสระ” พรรคไหนอภิปรายใครก็หาข้อมูลยื่นไป ยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบทุจริตหรือจริยธรรมก็ได้ และที่ล็อกเป้าไว้แล้วก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม โดนแน่ ที่เพื่อไทยจะยื่นสอบอีกสองคนคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ และ นายณัฏฐพล
ต่อจากเรื่องนี้ก็ต้องเช็กเสียง “งูเห่า”ในพรรคฝ่ายค้านที่โหวตสวนมติพรรค ว่าจะดำเนินการอย่างไร ใน พลังประชารัฐ ก็จะให้เช็กบิล ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ที่ไม่โหวตไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ใน พรรคก้าวไกล ก็มี “งูเห่า” ใหม่ที่ไปไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข คือ นพ.เอกภาพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย นายขวัญเลิศ พานิชมาศ ส.ส.ชลบุรี นายคารม พลพรกลาง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ส่วนใน พรรคประชาธิปัตย์ ก็ฮึ่มฮั่มกันมาตั้งแต่ช่วงอภิปรายแล้วว่ามี นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่ออกมาแนะนำให้พรรคประชาธิปัตย์ใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการโหวต โดยฟังจากที่รัฐมนตรีชี้แจงได้หรือไม่ มากกว่าที่จะยกมือเป็น “สภาฝักถั่ว” ซึ่งผลก็คือมีคนโหวตตามนายอันวาร์ ได้แก่ นายอภิชัย เตชะอุบล และ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในพรรคเพื่อชาติ ก็มี นายอารี ไกรนรา การ์ดเสื้อแดงเก่าที่งดออกเสียงให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ส่วนผลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น “บิ๊กตู่” บอกว่า อะไรที่เป็นประโยชน์ก็รับมาแก้ไข อะไรที่ต้องดำเนินการสอบสวนต่อก็ต้องว่ากันไป แต่อยากให้เห็นผลงานของรัฐบาลด้วยไม่ใช่มองความขัดแย้งอย่างเดียว ด้านตัวบิ๊กตู่เองก็ถูกจี้ถามเรื่องปรับ ครม. ซึ่งตามธรรมชาติ พรรคพลังประชารัฐ มีหลายกลุ่มก๊วน ก็คงอยาก“สมบัติผลัดกันชม” บ้าง กลุ่มภาคใต้เขาก็แข็งขันจะชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เพราะจะได้มีกำลังมาต่อรองเอาเก้าอี้มากขึ้น
สิ่งที่ต้องตามต่อจากการอภิปรายคือ “มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง” อย่างล่าสุดวันที่ 22 ก.พ. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีดำเนินการขยายผลเมืองต้นแบบ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แล้วได้ข้อสรุปว่า ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ยุติโครงการไปก่อน เพื่อตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดย ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า ปัจจัยหลักที่พิจารณาให้ยุติโครงการนี้ก่อนนั้น จุดหลักคือ ครม.เห็นชอบกับแผนงาน แต่ ครม.มีเงื่อนไขว่าต้องให้ ศอ.บต.และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาโครงการร่วมกัน แต่ สศช.ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลย ศอ.บต.ทำแต่เพียงลำพัง จึงเดือดร้อนมาจนถึงวันนี้ ยอมรับว่า เรื่องที่มีการประท้วงว่าประชาพิจารณ์ไม่ครบถ้วนก็มีส่วนในการตัดสินใจ และมีผลมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ขณะที่ในส่วนของ ทหาร ที่ตกเป็นเป้าตลอดอยู่แล้วเรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ เที่ยวนี้โดนเรื่องจัดซื้อรถบัสปรับอากาศ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ชี้แจงเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ว่า โครงการจัดหารถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ปรับอากาศในปีงบประมาณ 2563 สืบเนื่องจากกองทัพบกได้จำหน่ายรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 25 ปี จำนวน 661 คัน จากทั้งหมด 1,175 คัน จึงต้องจัดหามาทดแทน
โดยได้ทยอยจัดซื้อมาตั้งแต่ปี 57 และขยายมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปีงบประมาณ 2563 ก็เป็นการจัดซื้อใน 2 โครงการ คือโครงการจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่จำนวน 100 คัน วงเงิน 450 ล้านบาท และโครงการจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ 12 คัน วงเงิน 54 ล้านบาท ปัจจุบันรอส่งมอบในช่วงกลางปี 64 จำนวน 112 คัน สเปกเป็นไปตามตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ในมาตรา 9 เลือกราคาต่ำที่สุดมากำหนดเป็นราคากลาง
พล.ท.กิตติชัย วงศ์หาญ เจ้ากรมพลาธิการทหารบก (พธ.ทบ.) ชี้แจงกรณีที่มีข้อคำถามว่า กองทัพบกกำหนดสเปกคุณสมบัติเครื่องแต่งกายลำลอง 7 ชนิดของทหารกองประจำการอย่างไร ราคาจึงแตกต่างจากท้องตลาดว่า การใช้งานทางทหารแตกต่างจากพลเรือน เน้นความคงทนและแข็งแรง กระทั่งผ้าเช็ดตัวและผ้าขาวม้าที่มีราคาสูงกว่าท้องตลาดก็ต้องแข็งแรง แต่การจัดซื้อในปีนี้ได้มีการปรับลดราคาของผ้าขาวม้าและผ้าเช็ดตัวลงแต่คุณสมบัติใกล้เคียงกับของเดิม
“ถึงแม้จะมองว่าผ้าขนหนูกับผ้าขาวม้าเป็นรายการที่ใช้ทั่วไป แต่ทางทหารถือว่าเราใช้งานหนักกว่าทั่วไป แต่เรื่องกางเกงในนั้นได้เตรียมที่จะยกเลิกการจัดซื้อ เพราะทหารทุกคนที่เข้ามาอยู่กับเราก็ต้องมีกางเกงในเป็นของตนเองติดตัวมาแล้ว จะนำงบประมาณส่วนนี้ไปจัดหาสิ่งอื่นที่มีความจำเป็นมากกว่า เช่นเครื่องสนาม และยืนยันว่าโครงการจัดซื้อชุดลำลอง 7 รายการ เราใช้วัสดุที่มีคุณภาพมากกว่าตามท้องตลาดแน่นอน” พล.ท.กิตติชัย ชี้แจง
แต่อย่างนั้นก็ยังมีหลายเรื่องที่รอการชี้แจง โดยเฉพาะเรื่องที่พรรคก้าวไกลขุดขึ้นมาในวันอภิปรายวันสุดท้าย คือ ปฏิบัติการไอโอของกองทัพ ที่ใช้เล่นสงครามกับพวกต่อต้านรัฐบาลในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องทำให้เคลียร์ว่า กองทัพไม่ใช่ผู้ก่อปฏิบัติการสร้างความเกลียดชังเสียเอง แล้วก็มีเรื่อง “ตั๋วช้าง” ที่ทำให้ตำรวจบางนายเติบโตเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการชี้แจงจากบางฝ่ายมาแล้วโดยเฉพาะฝั่งเดียวกับรัฐบาลคงหาอ่านได้ไม่ยาก
แล้ววันที่ 24 -25 ก.พ.นี้ที่ต้องตามต่อคือการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสอง ซึ่งจะมีการพิจารณาแก้ไข มาตรา 256 ให้มีการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ชุดใหม่ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถูกยื่นตีความว่า เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว จะยกร่างใหม่จะต้องทำประชามติหรือไม่ โดยเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการพิจารณาวาระสองก็เดินหน้าต่อไปได้ แล้วให้ค่อยทำประชามติเอาหลังผ่านวาระสาม
แต่อย่างไรก็ตาม นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยังมีความเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า “จะไม่ปลดล็อกความขัดแย้ง” เพราะ 1.ในร่างนี้ท้ายที่สุด ส.ส.ร.จะไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงหมวด 1 และหมวด 2 ได้ หากดูข้อเรียกร้องจากการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเขาก็เรียกร้องประเด็นนี้ ดังนั้น อาจนำไปสู่การสร้างชนวนความขัดแย้งใหม่ เพราะไม่ได้เป็นทางออกแท้จริง
2.ระหว่างที่มี ส.ส.ร.จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ปกติเราจะแก้รัฐธรรมนูญบางประเด็นระหว่างนี้ได้ แต่ปัญหาคือร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก กำหนดว่าหากจะแก้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งโอกาสในทางปฏิบัติเป็นไปยากมาก 3.กรณีที่ ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้ว ต้องนำไปลงประชามติ หากประชาชนไม่เห็นด้วย หมายความว่าประชาชนจะอยากทนอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือหมายถึง ส.ส.ร. ต้องไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ดีกว่าเดิม สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคตอาจต้องใช้วิธีการรัฐประหารเท่านั้น
เท่าที่เล่ามาก็แค่เรียบเรียงดูว่าการเมืองปีนี้จะมีอะไรบ้าง แค่นี้ก็หลายเรื่องพอแล้ว.
……………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”