ไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน ประวัติศาสตร์การต่อสู้เป็นอย่างไร แต่เรื่องเพศ คือเรื่องที่ยังเป็น ปัญหาความไม่เท่าเทียม ในไทยรัฐธรรมนูญกำหนดให้เกิดความเสมอภาคในหญิงชาย และมีการออก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองการไม่เลือกปฏิบัติ และยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ แต่การเหยียดหรือการล่วงละเมิดทางเพศก็ขยายพื้นที่มาอยู่ในออนไลน์ที่มีการควบคุมยากขึ้น 

ในโอกาส วันสตรีสากล วันที่ 8 มี.ค.นี้ เรามาลองสำรวจเรื่องบทบาทของผู้หญิงในสภาฯ ดู จากการศึกษาเรื่อง “เกลียด / โกรธ / กลัว : ความรุนแรงทางเพศ / เพศสภาพในพื้นที่ออนไลน์ ของ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโครงการของศูนย์ข่าวสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายปีที่ผ่านมามีประเด็นที่น่าสนใจ

ผลการสำรวจพบว่า เรายังเห็นเรื่องการนิยามความพึงประสงค์ของร่างกาย หน้าที่ของแต่ละเพศ มาใช้ในการตอกย้ำความรุนแรงระหว่างเพศมากโดยผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ และเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ โจมตีออนไลน์ อาทิ  ผู้หญิงถูกเชื่อมโยงเรื่องคุณค่ากับ ความงาม เสื้อผ้าหน้าผม กิริยามารยาท หรือกระทั่งความเป็นแม่ที่ดี  มาตรฐานการยอมรับพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศของชายหญิงก็มีความต่างกัน ผู้หญิงจะถูกประเมินมากกว่า  

งานศึกษาของ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ศึกษาถึงผู้หญิงในการเมืองภาครัฐ พบว่า นักการเมืองหญิง และ นักเคลื่อนไหวหญิง ยังเป็นกลุ่มที่ ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศอยู่มาก ถ้าพยายามเข้าไปมีบทบาทในการเลือกตั้ง หรือกระทั่งเป็นคนทำสื่อก็ตาม ความรุนแรงที่พบไม่ใช่ทางกายเพียงอย่างเดียว แต่ถูกดูหมิ่นประณามในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค โดยผู้ใช้โซเชี่ยลมีเดียในการประจานนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวหญิงส่วนหนึ่งก็คือรัฐ

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ได้ศึกษาในช่วงเวลาการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 และ 2563  พบว่า ในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กมีการหยิบยกเรื่องเรื่องเสื้อผ้า การแต่งกาย ที่มีการวิจารณ์เสื้อผ้าของนักการเมืองหญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศตั้งแต่ในช่วงที่มีการเปิดประชุมรัฐสภา จนเรื่องเสื้อผ้ากลายเป็นประเด็นรัก ชัง ทางการเมือง ( เช่นเราเคยได้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์เสื้อผ้าแบรนด์ Poem ของพรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ที่สวมเข้าประชุมสภาฯวันแรก

เสื้อผ้านั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกมองเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ลดคุณค่า ในต่างประเทศ เสื้อผ้าเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวด้วยซ้ำ อย่างเช่นกรณีกมลา แฮริส ว่าที่รองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตเลือกใช้เสื้อผ้าสีขาวทั้งชุดในการแถลงข่าวหลังโจ ไบเดน ชนะเลือกตั้ง หรือฮิลลารี่ คลินตัน อดีตแคนดิเดตประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต ก็เลือกใช้ เสื้อผ้าสีขาว ทั้งชุดในการแถลงข่าว เพราะสีขาวคือ สัญลักษณ์หนึ่งของการต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงได้รับสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา

มิติการพูดถึงเสื้อผ้าผู้หญิง ( หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ ) ของไทยคืการมองในเชิงความงาม ไม่คิดถึงเรื่องประเด็นการต่อสู้ทางการเมือง แต่กลับมองว่าไร้สาระ อย่างเมื่อครั้งกอล์ฟ-ธัญญ์วารินทร์ สุขะพิศิษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แต่งหญิงเข้าสภา มันก็คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการเรียกร้องให้ยอมรับความหลากหลายทางเพศก็ถูกวิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสมต่อกาลเทศะ

ธัญญ์วารินทร์ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ตนเองโดนวิจารณ์มานับสิบปีแล้ว พอประกาศตัวเป็น ส.ส.กะเทยแต่งหญิงคนแรกก็โดน ‘ทัวร์ลง’ หรือโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ธัญญ์วารินทร์ระบุว่า 

“สิ่งที่เรารู้สึกแย่มากคือ ในฐานะที่เราเป็นกรรมาธิการศิลปวัฒนธรรม มีข้าราชการระดับรองอธิบดีคนนึงบอกว่า ‘ผมกลัวน้องเสื้อม่วง’ มันเป็นการไม่ให้เกียรติ เราก็บอกว่าท่านอาจไม่ชินเพราะท่านขึ้นมาในระบอบ คสช. แต่อยู่ไปก็จะเจอเราเรื่อยๆ เองแหละ”

“นอกจากนี้เรายังเจอการไม่ให้เกียรติจาก ส.ส.ด้วยกัน เช่นมี ส.ส.ผู้ชายคนหนึ่งมาจับก้นเราตอนคนเต็มเลย เราก็ต้องถอยหลบฉากออกมา หรือที่เคยเจอในห้องอาหาร ก็มี ส.ส.ผู้ชายมาพูดว่า ‘ผมจะให้รางวัลการแต่งกายยั่วเพศดีเด่นกับคุณ’ ซึ่งเราก็หน้าชาแล้วก็เดินหนี มันก็ทำให้เรารู้สึกแย่”

แต่สิ่งที่เป็นกำลังใจให้อดีต ส.ส.ผู้นี้คือเมื่อถูกวิจารณ์ ก็มีกลุ่มเสรีนิยมเข้าไปช่วยโต้แย้งแทน อย่างที่ธัญญ์วารินทร์ระบุว่า “ก็มีทัวร์คุณภาพมาช่วยแก้ต่าง”

นอกจากเรื่องเสื้อผ้าแล้ว การเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมืองหญิงก็ ถูกใส่ไคล้ โจมตีเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ เช่น การเล่าลือในโลกออนไลน์ว่า ใครเป็นเมียน้อยใคร นักการเมืองหญิงที่ได้รับการเชิดชูให้มีบทบาทมาก ก็ยิ่งถูกจับจ้องประจานเรื่องเพศ กระทั่งนักเคลื่อนไหวหญิงก็ถูกเอาพฤติกรรมทางเพศปล่อยคลิปประจาน แล้วก็โจมตีตามมาว่า ‘มีพฤติกรรมแบบนี้เหมาะสมหรือที่จะพูดเรื่องประชาธิปไตย’ เสียงที่พูดเรื่องการเมืองหรือสังคมของพวกเธอก็จะเงียบลง  

ถัดจากเรื่องเสื้อผ้าคือเรื่องเชิงภาพลักษณ์ ภาพของนักการเมืองหญิงในไทยยังมีลักษณะของความเป็น “นอมินี” มากกว่าการเข้ามาทำงานด้วยความสามารถ เช่น นักการเมืองหญิง หรือรัฐมนตรีหญิงคนนี้เป็น “นอมินี” ของครอบครัวไหน  ยังมีนักการเมืองหญิงที่ถูกโจมตีด้วยถ้อยคำที่เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ( sexism ) แต่กลับไม่ได้รับการปกป้อง โดยสังคมหรือใครก็ตามบอกว่า ‘ผู้หญิงคนนี้เป็นตัวป่วน สมควรแล้วที่จะโดน

การโจมตีไปถึงขั้นโจมตีความเป็นแม่ทำนองว่า ‘เป็นแบบนี้ไม่กลัวลูกอายเหรอ’ แต่ขณะที่นักการเมืองชายที่ปรากฏข่าวมีปัญหาครอบครัวกลับได้รับการปกป้องมากกว่า ทำให้เกิดการได้เปรียบ เช่นเมื่อนักการเมืองชายคนหนึ่งถูกโจมตี ก็มีการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ในเชิงเห็นใจ หรือยกประสบการณ์ตัวเองขึ้นมาเปรียบเทียบให้ภาพด้านบวกกับนักการเมืองชายคนนั้น กลายเป็นการเห็นความรุนแรงในสังคมยอมรับสองเพศ  


รศ.ดร.ชลิดาภรณ์สรุปว่า  ที่สำคัญคือนักการเมืองหญิงต้องไม่เงียบ และบอกว่าสิ่งที่เราเผชิญคืออะไร มันต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งมันต้องเป็นภาพรวมไม่ใช่ การแบ่งแยกพรรคหรือความชอบชังทางการเมือง ตั้งคำถามเกี่ยวกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากเรื่องเพศ และที่สำคัญคือบทบาทของสื่อที่ต้องไม่ผลิตซ้ำความรุนแรง โดยเอาความเห็นในทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กเหล่านั้นมาเป็นข่าวซ้ำอีก เพราะมันจะยิ่งกระจาย

ทั้งนี้ เวลาเราพูดถึงความรุนแรงออนไลน์ เรามีแนวโน้มที่จะพึ่งพารัฐให้เป็นฝ่ายจัดการ แต่ถ้าให้รัฐควบคุมจัดการก็แปลว่า เราปล่อยให้รัฐลดทอนเสรีภาพได้ และอย่าลืมว่ารัฐก็คือผู้เล่น ที่บางครั้งก็ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ดังนั้น ถ้ามีหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแลเรื่องการใช้ความรุนแรงออนไลน์เหล่านี้ต้องพิจารณาว่าหน่วยงานนั้นเป็นใคร บทบาท หน้าที่อย่างไร ทางออกคือต้องใช้พื้นที่ออนไลน์นั่นแหละที่ให้คนตั้งคำถามแลกเปลี่ยนกันว่าจะจัดการอย่างไร

โดยสรุปแล้ว ภาพลักษณ์ของผู้หญิงทางการเมืองก็ยังไม่ถูกมองว่าโดดเด่น และมีการตั้งคำถามกับเรื่องอื่นมากกว่าผลงานของพวกเธอ ถ้าเราจะสร้างความเสมอภาคทางเพศเราต้องก้าวข้ามเรื่องนี้ไปให้ได

—————————-
คอลัมน์”ที่เห็นที่เป็นอยู่”
โดย”บุงหาตันยง”