พื้นที่อินเทอร์เน็ตทุกวันนี้เดือดพล่านจากความไม่พอใจต่อรัฐบาล เกี่ยวกับการจัดการปัญหาสถานการณ์โควิด ซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกว่าระบาดใหม่หรือระบาดระลอก 3 หรืออะไรก็ตามแต่ ใครจะบอกว่า นาทีนี้ต้องช่วยตัวเองและช่วยกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์คนทำงานดีกว่า ก็จะถูกสวนกลับว่า “บุคลากรทางการแพทย์น่ะเหนื่อย คนไม่พอ ให้กำลังใจอยู่แล้ว แต่ที่ด่าคือการทำงานของรัฐบาล ที่สร้างความหวาดวิตกไปหมด”

หลายคนเขาว่า ตั้งแต่การระบาดคลัสเตอร์แรก อันนั้นยอมรับว่า รัฐบาลเอาอยู่ คืออัตราผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อย แต่พอมาระลอกนี้ขึ้นมาถึงหลักวันละสองพันมันเกิดความกลัวแล้ว เพราะ “ภาพตัวอย่าง” ในต่างประเทศก็มีให้เห็นอยู่เยอะในกรณีที่มีการระบาดหนัก ว่า มีการสูญเสียล้มตายกันไปเท่าไร ช่วงปีก่อนในอิตาลีนี่ถึงขั้นหาที่ทำศพไม่ทัน ในประเทศแถบลาตินอเมริกามีข่าวว่า เอาศพมากองข้างทางกันเลยทีเดียว
               
ในประเทศไทยยังไม่ถึงขนาดนั้นก็จริง แต่ “ภาพฝันร้าย” ที่ประชาชนมี โดยเฉพาะล่าสุดที่ เกิดกับอินเดีย ที่ตั้งกองฟอนเผาศพกันข้างทาง ทำให้เกิดความกลัวกันเข้าไปใหญ่ สิ่งเดียวที่จะถ่ายเทความกลัวออกไปได้คือ “ต้องด่า” หมายถึง เร่งให้รัฐบาลรู้เสียทีว่าประชาชนไม่พอใจมากแล้ว กลัวจะเกิดภาพเหตุการณ์แบบนั้น ให้รีบหาทางแก้ เชิญเอกชน เชิญใครก็ได้มาร่วมบูรณาการให้แก้ปัญหาให้มันเร็วขึ้น ไม่ใช่มาพูดแต่เรื่อง “วัคซีนทิพย์” คือแนวทางการอยู่บ้านกักตัว

“ภาพ” ที่ทำให้ประชาชนเกิดความกลัวมาก คือภาพของ “ความไม่พร้อมรับสถานการณ์” เช่น กรณีของคุณกุลทรัพย์ วัฒนพล นักกีฬาอีสปอร์ตที่ต้องกักตัวอยู่บ้านเพราะติดโควิด ติดต่อสายด่วนเรียกรถพยาบาลมารับไม่ได้ แล้วสุดท้าย เสียชีวิตคาบ้าน ซึ่งโควิดระบาดเที่ยวนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “เฟส 3” คือติดจากไหนก็ไม่รู้แล้ว รายงานไทม์ไลน์คนติดว่าเคยไปพื้นที่เสี่ยงที่ไหนบ้างก็แทบไม่มีประโยชน์แล้ว ดังนั้น ใครก็กลัวว่า “กูติดยังวะ”

แล้วมาตอกย้ำความโกรธของประชาชนโดยที่มีการเผยแพร่ภาพศูนย์รับ เรื่องสายด่วน 1668 แบบ “โคตรอนาถา” คือเป็นภาพมีโต๊ะอยู่ไม่ถึงสิบตัว เจ้าหน้าที่รับข้อมูลแบบนั่งเขียนกับมือ ชนิดที่ประชาชนตั้งคำถามกันเลยว่าแล้วแบบนี้จะให้มั่นใจได้อย่างไรว่าถ้าเกิดเหตุกับตัวเองแล้วจะติดต่อศูนย์ดังกล่าวได้ แล้วถ้าติดขึ้นมาจะได้เตียงโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งคนส่วนมากก็ต้องการการรักษาตาม สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือฟรี เพราะค่าใช้จ่ายมันสูงอีกภาพหนึ่งที่สร้างความไม่พอใจยิ่งยวดต่อรัฐบาลคือ “พริวิเลจ” (privilege) ซึ่งสงสัยเตรียมจะเป็นคำฮิตต่อจาก โรมานติไซซ์ (romanticize) เพราะคลัสเตอร์การระบาดเที่ยวนี้มาจากที่เที่ยวย่านคนรวย แล้วก็ติด คนรวย คนดัง เยอะ ปรากฏว่า คนรวย คนดังนั้นได้เตียงโรงพยาบาลไป ส่วนคนชั้นกลางไปจนถึงระดับล่างนี่ ไม่ตายคาบ้านแบบเคสบ้านอาม่าที่มีรายนึงเสียชีวิต อีกสองรายต้องเฝ้าศพ ก็ต้องไปนอนโรงพยาบาลสนามที่ไม่มีความเป็นส่วนตัว

พริวิเลจ คือ การได้รับสิทธิพิเศษ ที่คนไม่พอใจกันเรื่องหนึ่งก็เกิดจากกรณี “บอล เชิญยิ้ม” ออกมาขอเตียงให้ “น้าค่อม ชวนชื่น” ตอนที่อาการหนัก และได้รับการย้ายโรงพยาบาล ซึ่งแม้ว่าทางสายสาธารณสุขจะชี้แจงว่าเป็น การย้ายตามความเหมาะสมไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่บังเอิญดันผิดซีนตรงที่มีอดีตดีเจดังออกมาขอบคุณนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ที่ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ ซึ่งอำนวยให้จริงหรือไม่ก็ไม่รู้แต่อาจมีการติดต่อไป

แบบนี้เองที่ทำให้คนเราในยุคปัจจุบันนี้อยากเป็น “someone” คือเป็นใครสักคนที่สำคัญ เป็นเน็ตไอดอลอะไรก็ได้ หรือมีช่องทางติดต่อคนดัง เน็ตไอดอล ให้ช่วยสื่อสารเผื่อเป็นข่าวหรือถึงหูรัฐบาลว่า “กูก็ไม่ไหวแล้ว” แต่จะมีคนเป็นแบบนั้นได้กี่คนในท่ามกลางภาวะที่คนระแวงไม่หยุดว่า “กูติดยังวะ” ถ้าไม่เป็นข่าว เผลอๆ ก็ไม่มีโอกาสได้รับการรักษา เช่น ครอบครัวที่แถวหลักสี่ ที่ติดแล้วต้องกักตัวทั้งบ้านก็ไม่มีเตียง ขณะที่พวกพริวิเลจมีเตียง

มันยิ่งสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมหนักขึ้นเรื่อยๆ การขับเคลื่อนด้วยเสียงด่า ก็ทำให้รัฐบาลรู้บ้างว่าควรจะขยับตัวอย่างไร อย่างพอมีข่าวเรื่องคนตายคาบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีคำสั่งให้หน่วยทหารจัดรถของกองทัพขึ้นมาเป็นรถขนย้ายผู้ป่วยเพิ่มจากที่รถพยาบาลมีไม่พอ และทำให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เร่งจัดการเรื่องการเพิ่มวัคซีน ไปติดต่อบริษัทอื่นอย่างไฟเซอร์เพิ่มขึ้น

ขณะที่หลายภาคส่วนก็พร้อมจะร่วมมือร่วมใจ อย่างอุปกรณ์ขาดแคลน ล่าสุด เพจมูลนิธิชัยพัฒนาก็แจ้งว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานเครื่อง Oxygen High Flow จำนวน 130 เครื่อง แก่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 130 เครื่อง เป็นเครื่องช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหายใจล้มเหลว หรือมีภาวะพร่องออกซิเจน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชินี ก็ทรงพระราชทานเครื่องช่วยหายใจมาจำนวนหนึ่งให้กับโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากสถาบันฯ แล้วก็มี ภาคเอกชน ภาคการเมือง ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลต้องพูดคุย บริหารจัดการให้ทันต่อเวลา สร้างความมั่นใจว่ามียารักษา อย่าใช้วิธีเบี่ยงไปโทษแต่โรคแทรก เช่น โรคอ้วน ความดัน เบาหวาน เพราะเรามั่นใจไม่ได้แล้วว่า ที่ตายเพราะมีโรคประจำตัวอยู่ก่อน

ขณะเดียวกัน ได้คุยกับหมอบางคน เขาเสนอความเห็นให้ทำเป็น แบบโมเดลอู่ฮั่น ซึ่งเป็นจุดแรกที่เกิดการระบาดและควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว คือทำ โรงพยาบาลสนามแบบมีไอซียู อาจขอเช่าพื้นที่เอกชนขนาดใหญ่มาทำ เช่น เมืองทอง ไบเทค กั้นสัดส่วนให้เรียบร้อย สร้างความมั่นใจได้ว่า ถ้าโรงพยาบาลไม่มีเตียงก็ต้องมีสถานที่ให้การรักษาพยาบาลที่พร้อมจะส่งคนป่วยหนักเข้าไปได้ตลอดเวลา และย้อนกลับไปที่กล่าวข้างต้นคือ ระบบสายด่วนนั้นทำให้มันเข้มแข็งขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ทางหมอเขาเป็นห่วงคือเรื่องของ การระบาดในพื้นที่ชุมชนแออัด อย่างชุมชนคลองเตย ที่หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกันไม่ได้ สุขอนามัยก็ไม่ค่อยดี อาจต้องทำเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวเพิ่มเพื่อลดความแออัด เพราะใครจะรู้ว่า เกิดแจ๊กพอตแตกติดขึ้นมาสักคนมันจะขยายไปแค่ไหน รัฐบาลก็ต้องเชิญเอ็นจีโอต่างๆ ที่ดูแลเรื่องนี้อย่าง มูลนิธิดวงประทีป โครงการคลองเตยดีจัง เข้าหารือถึงแนวทางการจัดการปัญหาด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญมากคือ สิทธิในการตรวจคัดกรอง ต้องจัดสวัสดิการให้เพียงพอ เพราะอย่างที่บอกคือมันน่าจะเรียกว่าเข้าเฟส 3 ที่ไม่รู้ติดจากไหนแล้ว การที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จัดพื้นที่ตรวจให้ ผู้ประกันตนตาม ม.33, 39, 40 ที่อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เห็นทีจะไม่ค่อยพอ คนอยากตรวจโดยไม่ต้องระบุความเสี่ยงแล้ว เพราะหลาย ๆ เคสที่ติดก็ไม่รู้ว่าตัวเองติดจากไหน ตรงนี้ไม่รู้ว่ารัฐบาลขอภาคเอกชนช่วยอีกแรงได้หรือไม่

แม้เรียกว่าต้องขับเคลื่อนด้วยการด่า แต่นาทีนี้ก็ขอให้รัฐบาลเร่งทำอะไรให้มันเร็วๆ เพื่อคลายความกลัว.

…………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”