เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มรีเด็ม ( redem ) ได้มีการรวมตัวที่บริเวณท้องสนามหลวง เพื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองด้วยขอเรียกร้องของพวกเขาสามข้อที่มีการกล่าวถึงกันมาบ่อยแล้ว มีส่วนหนึ่งที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงโดยการรื้อตู้คอนเทนเนอร์ และจากนั้นก็เห็นเป็นข่าวอย่างที่เราเห็น คือเกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับ ตร.ควบคุมฝูงชน ( คฝ.) และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากทั้งตำรวจและผู้ชุมนุมเอง
ในวินาทีนั้น หลายคนก็อยากเห็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” แสดงความกล้าหาญในการออกมาต่อสู้ เป็นปากเสียงให้ประชาชนที่ร่วมชุมนุม ซึ่งส่วนมากก็เป็นเยาวชน ปรากฏว่าก็มีแต่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ในช่วงเปิดสภาสมัยสามัญก็คุ้นๆ เหมือนกับว่าไม่ค่อยมีหารือประเด็นนี้แล้วเรียกให้นายกรัฐมนตรีตอบให้เป็นข่าวใหญ่นัก แต่หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นของม็อบ หรือของตำรวจ หน้าที่ของรัฐบาลคือการแสวงหาความจริง
เมื่อได้ความจริงแล้วต้องนำมาตีแผ่ว่า “เกิดอะไรขึ้น ใครเริ่มก่อนกัน” แต่ในยุคที่ความแตกแยกทางความคิดมีอย่างชัดเจนแบบนี้ การอธิบาย “ความจริง” เป็นเรื่องยาก เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีจุดยืน มีแนวคิดของตัวเองและเลือกจะหลับตาเชื่ออะไรที่สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง “ความจริง” ที่รัฐบาลต้องนำมาอธิบายจำต้องมี “หลักฐาน” แต่ทางฝ่ายม็อบเองก็เป็นรองในการไม่มีโฆษกหรือแกนนำชัดเจนในการรวบรวมเหตุการณ์มาบอกเล่า
สิ่งที่สำคัญของสปิริต ส.ส. หรือนักการเมืองคือ “ไม่ซ้ำเติมเหตุการณ์” บางครั้งเราจะเห็นนักการเมืองออกมาแสดงท่าทีในเชิงโจมตีม็อบ ซึ่งแน่นอน เพราะข้อเสนอที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันเป็นข้อเสนอที่ไม่เคยมีการพูดถึงมาก่อน มันก็เกิดการปะทะกันระหว่างขั้วอนุรักษ์นิยมและขั้วเสรีนิยม และนักการเมืองหลายคนก็ยังยึดติดความคิดในขั้วอนุรักษ์นิยมอยู่มาก แต่ก็ต้องไม่แสดงท่าทีให้นำไปสู่การ “กระทบกระทั่ง”สถาบันเพิ่มขึ้น
ส.ส.ควรจะคิดว่า กลไกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนช่วย ณ เหตุการณ์เฉพาะหน้าในการระงับความรุนแรงได้หรือไม่ ไม่ใช่รอผลคณะกรรมการสมานฉันท์ที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ตั้งขึ้นมาอีก เพราะเราวนเวียนอยู่กับเรื่องตั้งกรรมการสมานฉันท์มาเยอะแล้ว แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา มันน่าคิดว่า เพราะอะไร เพราะมีการบอกให้ลืมอดีต ให้อีกฝ่ายยอมหรือไม่ หรือคณะกรรมการเหล่านี้ไม่มีอำนาจแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
ซึ่งเรื่องการแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาจริงๆ ขณะนี้มีการใช้ ม.112 ถึงขั้นสร้างความกลัวแล้ว วิธีแก้ไขที่สำคัญคือการที่ไม่ใช่ว่าใครจะฟ้อง ม.112 ต่อผู้อื่นก็ได้ง่ายๆ มันต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรอง หรือมีผู้ที่เป็นตัวแทนจากสำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้องเท่านั้น และพฤติการณ์แห่งคดีไม่ใช่เหมารวม หรืออนุมานเอาว่า “เข้าข่าย” ดังนั้น เรื่องการแก้ไข ม.112 เป็นความกล้าหาญหนึ่งที่อยากเห็นการแสดงออกของ ส.ส. เรื่อง ม.112 อยากให้พิจารณาเรื่องการบังคับใช้อย่างจริงจังได้แล้ว เพราะไม่อยากให้กลายเป็นแรงสะท้อนกลับที่ส่งผลกระทบให้คนยิ่งมีปัญหากับสถาบันฯ การใช้ ม.112 ตอนนี้ลามไปถึงว่าจัดการกับเยาวชน ส.ส.มีหน้าที่ในการนิติบัญญัติไม่รู้ว่า ตระหนักถึงปัญหาของการใช้ ป.อาญามาตรานี้แค่ไหน อย่าให้เรื่อง ม.112 สร้างความเกลียดชัง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนขยายเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โมเดล คงไม่มีใครอยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ความกล้าหาญเรื่องต่อมาของ ส.ส.ที่น่าสนใจคือการผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ….ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.ซึ่งเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ เนื้อหาสำคัญเกิดขึ้นแล้วในมาตรา 9 ที่โหวตในวาระสอง เมื่อนายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอให้ปรับแก้ไขเนื้อหาให้เพิ่มเติมสิทธิ์ของประชาชน และรัฐสภา ขอทำประชามติได้
จากเนื้อหาเดิมให้สิทธิ์เฉพาะฝ่ายบริหาร และประชามติแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ทำให้นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ต้องออกมายอมรับว่ากรณีที่ต้องแก้ไขนั้นเป็นปัญหาที่กระทบกับรัฐบาล ดังนั้นสิ่งที่กฤษฎีกาพิจารณา คือการหามาตรการถ่วงดุลประเด็นที่รัฐสภาหรือภาคประชาชนเสนอให้รัฐบาลทำประชามติ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการทำประชามติบ่อยครั้ง หรือข้อเสนอของรัฐสภาหรือประชาชนผูกมัดรัฐบาลฝ่ายเดียว ซึ่งเท่ากับเป็นการให้สิทธิส่วนเกินมากเกินไป
นายวันชัยระบุว่า “วันที่มีการลงมติและเสียงข้างน้อยชนะเพียง 7 คะแนน เป็นเพราะการเพลี่ยงพล้ำ เป็นอุบัติเหตุที่ ส.ว. และส.ส.รัฐบาลไม่อยู่ในห้องประชุมและไม่คิดว่าเขาจะชนะ ผมยอมรับว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นกระทบเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการขอทำประชามติ หากมาจากฝ่ายบริหารนั้นยอมรับได้ แต่หากรัฐสภาลงมติขอทำประชามติ หรือประชาชนขอทำ อาจเป็นการบังคับรัฐบาลมากเกินไป บ้านเราถึงยุคที่ต้องออกเสียงประชามติกันอย่างมาก”
หาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติผ่านจะมีผลกระทบต่อรัฐบาล แต่หากไม่ให้ผ่าน ตามที่มีคนระบุว่าอาจถูกคว่ำวาระสาม นั้นจะเป็นปัญหากับรัฐบาลเช่นกัน เพราะร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ถือเป็นกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลและเป็นกฎหมายปฏิรูปที่สำคัญ ดังนั้นหากร่างกฎหมายถูกคว่ำโดยรัฐสภาอาจเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลต้องยุบสภาหรือลาออกได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบหากกฎหมายสำคัญของรัฐสภาไม่ผ่าน ร่างกฎหมายประชามติ เป็นชนวนระเบิดของรัฐบาล
เรื่องกฎหมายทำประชามติแล้วแก้ตามเสียงข้างน้อย ให้ประชาชน และฝ่ายนิติบัญญัติเสนอให้ทำประชามติได้ มุมหนึ่งก็เป็นอย่างที่นายวันชัยบอก คือการทำประชามติมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง และสิ้นเปลืองงบประมาณ อย่างจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติ 2 รอบ งบประมาณก็น่าจะใช้ไปร่วมๆ 6,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว และประชามติถ้าภาคประชาชนเสนอ มีโอกาสแตะกฎหมายที่มีผลกระทบมากอย่าง ม.112
ก็ไม่แน่ว่า ถ้าไม่มีการคว่ำร่างในวาระที่สาม ประชามติเรื่องหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเสนอแก้ไข ม.112 มีโอกาสเป็นไปได้สูงมากเพราะตอนนี้ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีในมาตรานี้สูงขึ้นเรื่อยๆ และถูกมองว่า “เป็นกฎหมายที่เอามาใช้เล่นงานกันในทางการเมือง” คือประชามติไม่ถึงกับให้ยกเลิก แต่เป็นความเหมาะสมในการบังคับใช้มากกว่า เพราะยังสามารถประนีประนอม รอมชอมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมได้มากกว่าหักกันด้วยประชามติ
ก็น่าจะรอดูว่า พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.จะกล้าคว่ำกฎหมายตัวนี้ในวาระสามหรือไม่ แต่ถ้าเอาตามที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอก็คือการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนอีกทางหนึ่ง และดีไม่ดี มันอาจกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ความขัดแย้งไม่ต้องไปจบลงโดยการลงถนนและมีความบาดเจ็บสูญเสียอีก อาจเสียงบประมาณ แต่น่าจะดีกว่าการสูญเสียชีวิตและสูญเสียความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ไปจนถึงดีกว่าลากรถถังออกมารัฐประหารอีก
สองเรื่องนี้คือสิ่งที่อยากวัดใจ ส.ส.เพื่อไม่ให้เกิดการขยายความรุนแรงไปอีก.
……………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”