เป็นเรื่องที่เรียกว่ามีหลายอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ กับการที่ต้องมาเขียนเรื่องโควิดในแง่มุมร้ายๆ คือมันเกิดกรณีระบาดใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว แถมเที่ยวนี้ตามคำหมอเขาบอกว่า เป็น โควิดสายพันธุ์อังกฤษที่สามารถระบาดได้เร็วกว่าปกติ 1.7 เท่า แถมอาการก็ต่างจากเดิมทำให้ใช้วิธีสังเกตอาการแบบเดิมลำบาก ซึ่งคนไทยก็พยายามตั้งการ์ดกันสุดฤทธิ์ตั้งแต่โควิดรอบแรกแล้ว แต่สุดท้ายก็มีกรณี “การ์ดตก” ให้เกิดเรื่องจนได้
ถามว่า “การ์ดตก” เที่ยวนี้โทษใครดี? บางคนก็บอกว่าเขาโทษกลุ่มที่เป็นจุดเริ่มของคลัสเตอร์ใหม่ คือที่เที่ยวไฮโซย่านทองหล่อ ที่มีลักษณะเป็นผับ หรือบาร์โฮสให้มี “ผู้ให้บริการ” หรือ “ผู้ให้ความบันเทิง” ก็แล้วแต่ ซึ่งคน กทม.ก็เที่ยวทองหล่อกันเยอะตอนเช้าก็ไปทำงานที่โน่นที่นี่คนละย่านกัน กลายเป็น “คลัสเตอร์ปาร์ตี้”(แต่ตอนคลัสเตอร์สองที่ระบาดจากบ่อนเรียกว่า “คลัสเตอร์มั่วสุม” เออมีความแบ่งแยกทางภาษาดี)
คนที่ซวยไปเต็มๆ คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ถูกหาว่าเกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์ ทั้งที่เขาก็เปิดเผยไทม์ไลน์เรียบร้อยแล้วว่า ไม่ได้ไปเที่ยว แต่ติดจากคนทำงานใกล้ชิดที่ไปเที่ยว แม้จะมีคนเหน็บแนมบอกว่า “เป็นแค่คนตามเข้าผับระดับนั้นได้ไง” มันก็มีเหตุผลส่วนตัวให้เขามีเงินและเขาใช้เงินได้ แม้กระทั่งไปกับเพื่อนก็ได้ อันนี้แล้วแต่จะมองกัน แต่เมื่อไรที่คุณเป็น “คนของสังคม” ก็มีโอกาสที่จะถูกจับตาและประณามมากกว่าคนอื่น
ต่อมามันก็ติดคนโน้นทีคนนี้ทีเป็นข่าวไปเรื่อยๆ จุดแข็งของคนไทยข้อนึงคือในเรื่องโควิดนี่ คนดังค่อนข้างจะแคร์สังคม คือดาราที่ติดมาอย่าง เวย์ ไทเทเนี่ยม, แจ๊ส ชวนชื่น, ดีเจเพชรจ้า หรือกระทั่งดาราคนอื่นๆ ก็ เปิดเผยไทม์ไลน์เพื่อให้คนเผลอมีโอกาสใกล้ชิดได้รีบไปตรวจ อันนี้ก็ถือเป็นกุศโลบาย “ด้านดี” (มั้ง) อันนึงของรัฐบาลในการจัดการปัญหาการระบาดตั้งแต่รอบแรก โดยการสร้างความกลัวไว้ก่อนเพื่อความสะดวกแพทย์ทำงาน
แต่อนิจจาเอ๋ย เมื่อรัฐบาลขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโควิดโดยการสร้างความกลัว สิ่งที่ตามมาคือ ประชาชนเดินตามรัฐบาลด้วยเสียงด่า เพราะความพร้อมอะไรของประเทศเราก็ดูล่าช้านัก อย่างเรื่องวัคซีน ก็มีการตั้งคำถามกันมากมายว่าทำไม เราได้ฉีดหลังประเทศโลกที่สาม ต้องลงทะเบียนช่วงเดือน พ.ค.แล้วกว่าจะได้ฉีดก็เดือน มิ.ย. ..ขณะนี้มันอะไร เกิดการระบาดระลอก 3 ไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก็ไม่ได้ฉีด อีวัคซีนแอสตราเซเนก้าก็มีข่าวมีปัญหานัก
คนก็ตั้งคำถามกันเยอะว่า ทำไมถึงไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนไปซื้อวัคซีนมาฉีด จนกระทั่งเพิ่งจะมี การประชุมคณะกรรมการจัดหาวัคซีนสำหรับภาคเอกชน เพื่อเปิด letter to intent ( LOI ) คือจดหมายเร่งขออนุญาตนำเข้าจากภาครัฐ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนขายจะมีการอนุมัติให้เอกชนซื้อได้เมื่อไร เพราะในต่างประเทศความต้องการเขาก็มากและประเทศเขาก็ต้องมาก่อน อย่างไฟเซอร์ที่อยากได้กันนักหนาก็ต้องฉีดให้ในอเมริกาเพียงพอก่อน
แล้วในช่วงที่เกิดการระบาดระลอก 3 ใหม่ๆ มันเป็นระลอกที่ไม่รู้แล้วว่า ใครติดจากใคร คนก็กลัวโควิดหนักเพราะรัฐบาลสร้างความกลัวไว้มากตั้งแต่ระลอกหนึ่ง ก็แห่กันไปหาที่ตรวจ ชนิดที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งถึงกับไม่รับตรวจกันแล้วเพราะน้ำยาตรวจไม่พอ จะตรวจเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในย่านเสี่ยงก่อนอย่าง เขตวัฒนา คลองเตย บางแค ก็มีคนย่านอื่นที่เขาห่วงว่า คนที่มีโอกาสเป็นพาหะจะมาอยู่ใกล้ๆ เขาหรือเปล่า แต่ก็ไม่ได้ตรวจ เขาก็ด่ารัฐบาลบกพร่อง
พอเกิดภาวะโรงพยาบาลไม่พร้อม โรงพยาบาลเตียงเต็ม มันก็ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องเลื่อนนัดหมอ ไปหาหมอไม่ได้ (แถมบุคลากรทางการแพทย์ก็ติดโควิด) แล้วเขาก็เป็นโรคที่เสี่ยงต่อชีวิตเหมือนกัน อย่าง ความดัน เบาหวาน หัวใจ ใครว่าไม่เสี่ยง ผู้ป่วยเรื้อรังเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยากกว่าเดิม มันกระทบเป็นลูกโซ่ จะให้ผู้ป่วยโควิดอาการไม่หนักมากักตัวอยู่บ้าน คนรอบข้างก็กลัวเพราะเราสื่อสารสร้างความกลัวไปแล้ว
นึกถึงคำพูดของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่บอกว่า “รัฐบาลสื่อสารไม่ครบ” คือแม้ว่าโควิดสายพันธุ์อังกฤษนี้จะติดได้ง่ายกว่าปกติ 1.7 เท่า ควรบอกด้วยว่า อัตราตายของสายพันธุ์อังกฤษลดลงจากสายพันธุ์เดิมกว่า 4 เท่าด้วย แม้มีข้อมูลว่า อัตราตายสูงขึ้นจาก 6 คนใน 1,000 คน เป็น 9 คนใน 1,000 คน แต่นั่นเป็นในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนคนวัยทำงานจำนวนมากแทบไม่มีอาการ และอัตราตายน้อยลงมาก ดังนั้น จึงควรเตือนให้ระมัดระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ
การสร้างความกลัวมันทำให้สามารถควบคุมสังคมได้ง่าย แต่รัฐบาลเองก็ต้องมีทรัพยากรในการบริหารจัดการอะไรต่อมิอะไรให้พร้อม เรื่องสุขภาพนี่เชื่อว่า คนไทยพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เพียงแต่ให้ข้อมูลให้รอบด้าน และอย่าสร้างความกลัวเพราะความวิตกกังวล ความกลัวมันจะเป็นแรงสะท้อนในมุมลบต่อรัฐบาลเอง ว่าบ้อท่าไม่สามารถจัดการปัญหาอะไรต่อมิอะไรได้ แล้วความเชื่อมั่นของรัฐบาลก็ลดลงกราวรูด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากว่า ครั้งนี้ “จะตายก่อนเพื่อน” คือ ธุรกิจภาคกลางคืนของไทย ซึ่งเป็นขาหนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำเงินสะพัดมหาศาลในแต่ละปี ธุรกิจภาคกลางคืนเจอปัญหาโควิดมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ที่ถูกสั่งปิดสถานประกอบการไปหลายเดือน ซึ่งในย่านเที่ยวดังๆ อย่าง สีลม พวกร้าน ผับ บาร์ ต่างๆ มักจะเป็นที่เช่า และต้องอาศัยการต่อสัญญาเช่าหลายเดือนติดกัน มันก็มีปัญหาเรื่องต้นทุนที่ต้องจ่ายไป และค่าแรงพนักงาน
หลายร้าน ในกรณีที่ทำประกันสังคมก็ให้พนักงานลาออกเพื่อใช้สิทธิรับเงินกรณีว่างงาน หรือรับเงินจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล แต่ก็มีหลายร้านที่พนักงานไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของร้านจะมีกำลังในการช่วยเหลือลูกน้องแค่ไหน เกร็ดจ่ายรายอาทิตย์ละ 500 บาท บางร้านก็ต้องทำ พนักงานในวงการทำงานกลางคืน หลายๆ คนตกงานก็ต้องไปหาสัมมาอาชีพอื่นทำที่ต่างจังหวัด แต่หลายคนก็ไม่มี “ต้นทุน” ตรงนั้น
พอปลายปี ธุรกิจภาคกลางคืนพอทำท่าจะหายใจได้บ้าง ก็โดน การระบาดคลัสเตอร์สองจากเมียนมาที่สมุทรสาคร ระบาดเข้ามายังบ่อน ก็ถูกสั่งปิดอีก แล้วเพิ่งมาเปิดได้เมื่อเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา แล้วก็บิงโก.. คลัสเตอร์สามจากสถานบริการในย่านทองหล่อ ก็ทำให้ต้องถูกสั่งปิดอีก คราวนี้คือไม่รู้ว่า ธุรกิจกลางคืน อย่างร้านอาหาร ผับ บาร์ จะรวมตัวกันไปขอความช่วยเหลือรัฐบาลได้แค่ไหน และก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลมีเงินช่วยหรือไม่เพราะเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า
ความน่าเห็นใจของธุรกิจภาคกลางคืนอย่างหนึ่งคือ “เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ” หลายคนมีความรู้สึกว่ามันเป็น “อบายมุข” คือรัฐบาลไม่ต้องให้การช่วยเหลืออะไรก็ได้ แต่จริงๆ แล้วเอาใจเขามาใส่ใจเรา เขาก็คือคนที่ทำมาหากิน เป็นที่พักผ่อนใจให้กับคนที่เหนื่อยล้าจากการทำงานในยามกลางคืน เป็นที่สนุกสนานสังสรรค์ เขาก็คือคนกลุ่มหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำอย่างไรให้เขาหายใจต่อได้ด้วยไม่ใช่ “อดทนกันไปก่อน”
ด้วยความเห็นใจธุรกิจภาคกลางคืน ก็อยากให้รัฐบาลมองคนกลุ่มนี้บ้าง เขาเจ็บมานานแล้ว.
…………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”