ดูอะไรดีสัปดาห์นี้ เราจัดรีวิวหนัง 2 สัญชาติ 2 รสชาติมาให้ได้อ่านกัน ก่อนตัดสินใจว่าจะไปดูเรื่องไหนดี

                เริ่มต้นกันที่หนังไทยกระแสแรง “4Kings” อาชีวะยุค 90 ที่แรงซะจนเป็นข่าวครึกโครม ขนาดตำรวจยังต้องออกโรงห้ามปรามเหล่าวัยรุ่นทั้งหลาย ว่าควรเข้าไปชมภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว อย่าได้มีพฤติกรรมเลียนแบบหนังเป็นอันขาด เพราะนอกจากจะเจ็บเนื้อเจ็บตัวหลังจากตีกันแล้ว ยังต้องคดีอาญา ถูกจับปรับติดคุกเสียอนาคต เดือดร้อนไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย โดยหนังเรื่องนี้เป็นผลงานของ “พุฒิพงษ์ นาคทอง” ที่เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในกองถ่ายของ ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่หยิบจับเอาเรื่องราวของ 4 สถาบันการศึกษาในยุค 90 โยงเกี่ยวกับวงจรของ “นักเรียน-นักเลง” ที่มีความคึกคะนองไล่ทำร้ายร่างกายนักเรียนและนักศึกษาต่างสถาบันชนิดไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง มาจับใส่เรื่องราวให้เกิดความลึกในมิติของบทหนัง นำพาให้ผู้ชมไปรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเหล่าชีวิตนักเรียนนักเลง เพื่อสะท้อนมุมมองของปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมที่ผูกโยงเป็นลูกโซ่ มุ่งหวังเพียงสิ่งเดียวคือ “การลดความรุนแรง เปลี่ยนค่านิยมและความผิดพลาดต่าง ๆ ในอดีตให้ได้”

                4Kings ถูกบอกเล่าผ่านตัวละครชื่อ “บิลลี่” (รับบทโดย จ๋าย ไทยทศมิตร หรือ อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) เด็กหนุ่มจากโรงเรียนอินทรอาชีวศึกษา ชั้นปี 3 (พ.ศ. 2538) พร้อมกับพลพรรควัยรุ่นสถาบันเดียวกันอย่าง “ดา” (รับบทโดย เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ) และ “รูแปง” (รับบทโดย ภูมิ-ภูมิ รังษีธนานนท์) ซึ่งทั้ง 3 คนต่างก็มีนิสัยคล้าย ๆ กัน แม้พวกเขาจะชอบทำอะไรห่าม ๆ และคึกคะนอง แต่ก็ยังรู้จักรักครอบครัว สำหรับสิ่งที่โปรดปรานที่สุด คงไม่พ้นการเที่ยวเตร่ กินเหล้าเมายา และโหนรถเมล์ไปหาเรื่องวิวาทกับนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ปรับเก่าที่ค้างคาใจกันมานานอย่าง “เทคโนโลยีประชาชล” หรือ “เทคโนโลยีประชาชื่น” ที่มี “มด” (รับบทโดย โจ๊ก อัครินทร์ อัครนิธิเมธรัฐ) กับ “โอ๋” (รับบทโดย นัท ณัฏฐ์ กิจจริต) เป็นหัวโจกของกลุ่ม

                ส่วนอีก 2 สถาบันที่ยังคงมีเรื่องปะทะกันไม่จบสิ้นก็คือ “กนกอาชีวะ” ซึ่งมี “บ่าง” (รับบทโดย แหลม 25Hours หรือ แหลม-สมพล รุ่งพาณิชย์) พี่ใหญ่ของแก๊งที่ชอบลุยเดี่ยวปะทะกับ “ช่างกลบุรณพนธ์” ที่มี “เอก” (รับบทโดย ทู-สิราษฎร์ อินทรโชติ) เป็นหัวโจก ขณะเดียวกันตัวหนังยังบอกเล่าถึงกลุ่ม “เด็กบ้าน” (เด็กบ้านเมตตา) ที่มี “ยาท” (รับบทโดย บิ๊ก อุกฤษ วิลลีย์ บรอด ดอนกาเบรียล) เป็นผู้นำ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ เพราะมีความดุดัน โหดเหี้ยม ไล่ทำร้ายกลุ่มเด็กอาชีวะชนิดไม่เลือกหน้าอีกด้วย

                จุดเด่นของ 4Kings ต้องบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีฉากความรุนแรงจากการต่อสู้เหมือนกับที่คอหนังคาดหวังกันเอาไว้ มีฉากแอ๊คชั่นไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นั่นก็เพราะเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งเน้นโชว์ความรุนแรง เพื่อให้เกิดความฮึกเหิมเอาคืนกันไปมาแต่แรกอยู่แล้ว ในทางกลับกันต้องขอชื่นชมผู้เขียนบทและผู้กำกับที่สามารถทำให้คำพูดเพียงไม่กี่คำ พลิกอารมณ์เดือด ๆ ของคนให้กลับมาขำและตลกได้ พลิกอารมณ์ที่ขุ่นมัวกลับมาซาบซึ้งน้ำตาไหล ทั้งยังพยายามให้ผู้ชมเห็นความสำคัญของความรักในครอบครัว ความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า การเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันนั้นสำคัญเพียงไร เช่นเดียวกับความขัดแย้งต่าง ๆ ของนักศึกษาต่างสถาบัน หากรู้จักพูดคุยและหาทางออกให้ได้ ก็จะไม่เกิดความรุนแรงเช่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งในแง่มุมของการตัดสินใจ ว่าอะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความไม่ถูกต้อง บางครั้งก็ไม่สามารถบอกได้ ณ ห้วงเวลานั้น จึงควรใช้สติและหัวใจร่วมกันพิจารณาให้ดีที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง

                ไปต่อกันที่หนังเรื่องที่ 2 The Power ไฟดับ จับผี” ตอนแรกที่ได้ยินว่าเป็นหนังผีจากอังกฤษแบบหลอนเกินเบอร์ ก็เลยให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่เมื่อได้มาสัมผัสประสบการณ์สยองในโรงภาพยนตร์ บอกได้เลยว่านี่คือส่วนผสมระหว่าง “วิญญาณอาฆาตกับสิงสู่” (ที่ไม่ใช่ร่างทรง) บวกกับความหนาวยะเยือก (แอร์ในโรงหนังเย็นมาก… ขอบอก) รู้สึกได้เลยถึงความเย็นของน้ำในตอนเช้าที่นางเอกบอกว่า ..เย็นมาก.. เมื่อต้องลุกจากที่นอนมาอาบน้ำแต่งตัวในตอนเช้า แต่โดยรวมบอกไว้ก่อนว่า หน้าหนังนั้นน่าสนใจมาตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้วว่า “The Power” ที่อาจหมายถึงพลังงานไฟฟ้า หรืออำนาจของผู้ที่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ ๆ เหนือกว่า แบบผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ในเรื่องก็คือคุณหมอโรคจิตกับคุณพยาบาลโลกสวย

                หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในปี 1974 เมื่อสหภาพคนงานเหมืองประกาศสไตร์ค ทำให้ไฟดับทั่วเกาะอังกฤษ และถ้าไฟดับในโรงพยาบาล อะไรก็เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอหรือคุุณพยาบาล

                แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในหนังแทบทั้งเรื่อง ก็มีอันต้องพ่ายแพ้ต่อพลานุภาพของ พส.ก็คือพลังเสียงเดซิเบล ทำให้ต้องมีอันงงงวยไปอยู่เหมือนกันว่า อย่างนี้ก็ได้เหรอ.. เอาเป็นว่าโดยรวมถือว่าชอบอยู่กับภาพหม่น ๆ อึมครึมนัวร์ ๆ ซึ่งก็ลงตัวไปกับเสียงประกอบ บอกเลยว่าต้องไปดูในโรงถึงจะได้อรรถรสแบบนี้.

หมีบอย-หมีวิน