เอ็นเอเอส แห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ส่วนหนึ่งของสถาบันวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและการแพทย์แห่งชาติสหรัฐ ก่อตั้งในเดือน มี.ค. 2406 หรือ 158 ปีที่แล้ว ในยุคของประธานาธิบดัอับราฮัม ลินคอล์น เพื่อให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลสหรัฐ เกี่ยวกับผลวิจัยสำคัญ

จากรายงานของสำนักข่าวเอพี การศึกษาของเอ็นเอเอส พบว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้ผลิตขยะพลาสติก มากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเฉลี่ยปีละมากกว่า 46 ล้านตัน และประมาณ 1 ล้านเมตริกตันในจำนวนดังกล่าว (2,200 ล้านปอนด์) สุดท้ายไหลลงไปจมอยู่ในมหาสมุทร

หากแนวโน้มมลพิษพลาสติกสูงขึ้น ยังคงดำเนินต่อไป ภายในปี 2573 โลกจะมีขยะพลาสติกไหลลงสู่มหาสมุทร ปีละ 58.4 ล้านตัน (53 ล้านเมตริกตัน) หรือประมาณครึ่งหนึ่ง ของน้ำหนักปลาและสัตว์ทะเลอื่น ๆ ที่มนุษย์จับได้

การรีไซเคิลและการกำจัดที่เหมาะสมเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น สหรัฐควรลดการผลิตขยะมูลฝอยขนานใหญ่ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

มาร์กาเร็ต สปริง หัวหน้านักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์ ประจำพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์ เบย์ กล่าวว่า ปัญหาพลาสติกของสหรัฐ ไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากต้องทำให้มันลดลง ออกแบบแตกต่างออกไป รวมทั้งมีกระบวนการติดตามที่ดีกว่า และกำจัดขยะมากกว่าเดิม

โดยข้อแนะนำอันดับหนึ่ง ที่สมควรต้องทำมากที่สุดคือ ลดการผลิตขยะมูลฝอย เพราะวิธีเดียวที่ได้ผล ในการลดขยะพลาสติกก็คือ ต้องลดการผลิตแต่แรก

ทีมวิจัยผู้เขียนรายงาน เสนอแนะหลายวิธีที่เป็นไปได้ ในการแก้ไขปัญหาพลาสติก เริ่มจาก “การกำหนดเป้าหมาย และยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อจำกัดเพดานหรือลดการผลิต เม็ดพลาสติกใหม่ (virgin plastic)

ปัญหาของเม็ดพลาสติกใหม่คือ มันมีราคาต่ำเกินจริง เนื่องจากการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ จึงทำกำไรได้มากกว่า และการผลิตในสหรัฐยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนการรีไซเคิล เป็นไปได้ในทางเทคนิคสำหรับพลาติกบางส่วน แต่ในสหรัฐมีการรีไซเคิลขยะพลาสติกน้อยมาก นอกจากนั้น วัตถุดิบที่ใส่ในพลาสติก เพื่อเปลี่ยนความแข็งหรือเปลี่ยนสี ทำให้มีความซับซ้อนเกินกว่าจะรีไซเคิลได้ในราคาถูก เมื่อเทียบกับการทำเม็ดพลาสติกใหม่

หนึ่งในอุปสรรคใหญ่สำหรับการรีไซเคิล คือ คุณค่าทางเศรษฐกิจของเม็ดพลาสติกใหม่ และการอุดหนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล

ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดีเอ็นเอ พบว่า พลาสติกบางส่วน โดยเฉพาะที่อยู่ในน้ำเสีย บรรจุไวรัสและแบคทีเรียมนุษย์และสัตว์ป่า ที่สามารถแพร่เชื้อโรคได้

มลพิษพลาสติกไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะมหาสมุทร แต่ยังส่งกระทบต่อแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบ และบนบกด้วย อย่างทะเลสาบทั้ง 5 หรือ เกรต เลคส์ ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก บนเขตแดนรอยต่อ สหรัฐ-แคนาดา มีระดับมลพิษพลาสติก สูงกว่าทะเลหลายแห่งทั่วโลก

โจชัว บากา รองประธานสมาคมเคมีอเมริกันหรือ เอซีซี (American Chemistry Council : ACC) ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มโรงงานผลิตพลาสติก แสดงความชื่นชมต่อส่วนใหญ่ในรายงานของเอ็นเอเอส ยกเว้นแนวคิดจำกัดการผลิตพลาสติก โดยระบุว่า เป็นการชี้นำในทางที่ผิด และอาจจะนำไปสู่ภาวะห่วงโซ่อุปทานสะดุด เพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่อผู้บริโภค.                                        

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES