พอช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็มีความคิดความเชื่อกันว่า “อะไรร้ายๆ ก็ให้ผ่านไปในปีนี้ แล้วปีใหม่ก็เริ่มต้นใหม่กับสิ่งดีๆ” พูดง่ายๆ คือใช้วาระหนึ่งเป็นหมุดหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเอาเข้าจริง ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่มันขึ้นอยู่กับความตั้งใจจะให้มันเปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นวันไหน
ในปีที่ผ่านมา 2564 สิ่งที่เลวร้ายที่สุดและน่าจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์โลกไปอีกนาน คือการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด สายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำคนไทยติดเชื้อช่วงสถานการณ์แรงๆ ต่อวันถึงวันละเป็นหมื่น ตายวันละเป็นร้อย ก็คาดหวังภาวนาให้ปี 2565 ไม่มีเหตุการณ์เชื้อกลายพันธุ์แล้วเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงอีก เพราะความสูญเสียมันมีมาก หลายมิติ ทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม อารมณ์ของผู้เกี่ยวข้องในฝ่ายต่างๆ
ส่วนสถานการณ์ไทย ปี 2564 น่าจะเรียกได้ว่าเป็นปีที่มี ความขัดแย้งทางความคิดสูงมาก จากสองขั้วความคิดคือเสรีนิยมและอนุรักษนิยม หรือถ้าจะเรียกให้คุ้นชินกับปากคนยุคนี้ก็น่าจะต้องเรียกว่าพวก สามกีบ กับ สลิ่ม.. ซึ่งฝ่ายหนึ่งก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ล้างขั้วอำนาจเก่าออก เพิ่มอำนาจประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ การตรวจสอบถ่วงดุล และท่องคาถา “คนเท่ากัน” ดูเป็นโลกอุดมคติยูโธเปีย
อีกฝ่ายหนึ่งคุ้นชินกับระเบียบแบบแผนทางอำนาจแบบเดิม และคงไม่เชื่อเท่าไรว่าความเปลี่ยนแปลงมันนำมาซึ่งข้อดี โดยเฉพาะไม่ชอบใจ “การเคลื่อนไหวแบบสามกีบ” ว่า มุ่งแต่จะเอาชนะ ไม่สนใจประวัติศาสตร์, วัฒนธรรมทางสังคม ใช้วิธีที่หยาบคายเข้าว่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ.. หรือเหตุผลอื่นๆ แต่ใจความคือกลุ่มที่ถูกเรียกว่าสลิ่มก็ขัดแย้งกับกลุ่มที่ถูกเรียกว่าสามกีบ ต่างก็ว่าอีกฝ่ายเป็น อีพวกย้อนแย้งเอง เช่น สลิ่มก็ว่าสามกีบอ้างความเป็นประชาธิปไตย แต่ใครเห็นต่างก็ไม่เปิดใจ จะรุมด่าจะล่าแม่มด สามกีบก็ว่าสลิ่มนั่นแหละมีพฤติกรรมล่าแม่มด
การเอาชนะโดยเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง กลายเป็นความหยาบคาย ลามไปจนกลายเป็นการสร้าง “ขยะทางอารมณ์” ให้ทับถมเต็มโลกโซเชียลเน็ตเวิร์d บางทีก็กลายเป็นความย้อนแย้งที่ไม่รู้จะขำดีหรือไม่ขำดี อย่างเช่นกรณีการ “ชดใช้ทั้งโคตร” สามกีบหรือสายเสรีนิยมหลายๆ คนมองว่า ใครเคยไปร่วมม็อบพันธมิตรฯ หรือม็อบเสื้อเหลือง หรือม็อบ กปปส. นั่นแหละตัวพาชาติพินาศ ทำเยาวชนไม่มีอนาคต ดังนั้น “เราจะไม่อภัยเด็ดขาด”
พอดีก็มีข่าว “ลูกหนัง-ศีตลา วงษ์กระจ่าง” ลูกดาราแกนนำเสื้อเหลืองผู้ล่วงลับ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” จะได้เดบิวต์เป็นเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีวง H1KEY (ไฮคีย์) ก็มีคนพุ่งเข้าไปโจมตีทันที ติดแฮชแท็กทวิตเตอร์ “แบนลูกหนัง” ปั่นกระแสรัวๆ ให้เรื่องไปถึงเกาหลีใต้ให้ค่ายเอาศีตลาออกจากวง แล้วต่างก็พออกพอใจกันใหญ่พอสำนักข่าวเกาหลีไปออกข่าวว่า เนติเซนไทยช่วยกันแบนศีตลาเพราะมีพ่อสนับสนุนเผด็จการ
ก็มีชุดเหตุผลที่อธิบายกันว่า “เด็กๆ ในเมืองไทยต้องเสียอนาคตที่ดีเพราะเผด็จการ ศีตลาเป็นลูกคนสนับสนุนเผด็จการก็ควรต้องรับรู้และรับผิดชอบสิ่งที่พ่อเธอทำ” เจ้าประคุณเอ๋ย..ถ่ายทอดความเกลียดให้รับผิดชอบกันข้ามรุ่น แต่ปัญหาคือต่อมาค่ายเขาไม่เล่นด้วย ไม่ถอดศีตลาออกจากวง (ก็เข้าใจว่าจะเดบิวต์แล้ว มันเสียเงินในการฝึกไปแล้ว จะไปตามใจชาวเน็ตไทยคงไม่ได้) ก็โวยวายกันใหญ่ขนาดจะแบนค่ายอีก คือเอาใจยากพิลึก
ปรากฏว่า ฝั่งสลิ่มก็ไม่หยุดด้วย พอสายสามกีบจะแบนศีตลา ก็หยิบขวัญใจสามกีบมาทวงถามบ้าง คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่กำลังจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาตินั้นเป็นลูก พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ นายตำรวจคนสนิท พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่ง พล.ต.อ.เสน่ห์นั้นถูกกล่าวถึงว่า “มีส่วนในการสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519” สลิ่มว่าสามกีบดิ้นไม่ให้อภัยคนฆ่านักศึกษาเหตุการณ์นั้นกันใหญ่แล้วว่าไงเรื่องพ่อชัชชาติ
ก็เห็นกระแสในอินเทอร์เน็ตจากฝั่งสามกีบมีอยู่สองอย่างคือ ไม่เงียบ ก็ตอบโต้ว่า “เรื่องของพ่อไม่เกี่ยวกับลูก, ชัชชาติได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าพยายามทำคุณงามความดีให้แผ่นดิน ฯลฯ” ก็แล้วแต่นะ คนจะรักทำยังไงก็รัก.. ยิ่งมีประเด็นจะเอาชนะว่าคนของเราดีกว่าก็ยิ่งต้องเชิดชู แต่พาลไปถึงศีตลาอีก..จากที่ว่าจะให้เธอรับผิดชอบเรื่องพ่อ พอเอาเรื่องชัชชาติมาเทียบก็เอาใหม่ บอกว่า “ศีตลาไม่เคยออกมาขอโทษเรื่องพ่อเธอ, ศีตลาเองนั่นแหละคาบนกหวีดคาปาก” ..แล้วแต่จะให้เหตุผล แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างเอาอารมณ์มาห้ำหั่นกันก็ไม่จบ เพราะมันมุ่งจะเอาชนะเกินเหตุ
บางทีก็สงสัยว่า “มันมีความสุขไหมที่ต่างฝ่ายต่างใช้ความเกลียดชังสู้กัน” ในประวัติศาสตร์ ความเห็นต่างที่นำไปสู่ความเกลียดชังไม่ค่อยจะจบสวยหรอก เผลอๆ กลายเป็นสงครามกลางเมือง แล้วก็เละ ใครจะฟื้นฟูประเทศจากซากปรักหักพัง แต่จะให้ละวางความเกลียดชังก็ยาก เพราะฝั่งหนึ่งเขาก็ต่อสู้ในประเด็นว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ความเท่าเทียมจากผู้มีอำนาจ ทั้งที่เขาแค่ต้องการเรียกร้องสร้างสังคมดีขึ้น เป็นผู้ถูกกดขี่ ขณะที่อีกฝ่ายที่สมาทานตัวเองกับอำนาจอยู่ ก็บอกว่าพวก “ผู้ถูกกดขี่” นี่ประสาทหลอนกันไปเอง เมื่อทำผิดกฎหมายก็ต้องยอมรับกฎเกณฑ์บ้านเมือง
มันเป็นเรื่อง “คนละทาง คนละอย่าง คนละอุดมการณ์” จริงๆ ถ้าจะหาทางออกจากความขัดแย้ง เอาวิธีที่เรียกว่าประนีประนอมที่สุด น่าจะเป็นกรณีที่ รัฐบาลต้องแพ้ภัยตัวเองเร็ว ทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ ผลการเลือกตั้งต้องนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วอำนาจให้ได้ ซึ่งก็ต้องให้พรรคการเมืองอีกขั้วที่ไม่เอา คสช. รวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของเสียงสองสภา เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้โดยตัดปัญหาเรื่องเสียง ส.ว.คสช.ตั้งเลือกนายกฯ ออกไป
แต่กรณีเปลี่ยนขั้วอำนาจจะไว้ใจได้หรือไม่ว่า ขั้วใหม่ที่เข้ามาจะมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแท้จริง มั่นใจได้หรือไม่ว่าฝ่ายการเมืองไทยจะไม่สมยอมกับกลุ่มมีอำนาจที่ฝังลึกในสังคมมานาน คือ กลุ่มทหาร กลุ่มนายทุน กลุ่มอำมาตย์ และถ้าไม่เป็นที่พอใจของสังคมจะไม่พยายามรักษาอำนาจ ทำให้ประท้วงกันอยู่ร่ำไป ..เพียงแต่เสรีนิยมยังมีความหวังว่าหากเปลี่ยนขั้วอำนาจจะเป็นเมล็ดฝันเมล็ดแรกเพื่อไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
แต่วันนี้ กลุ่มที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจจะรณรงค์ได้สำเร็จแค่ไหน ในเมื่อ ความรุนแรง ใจร้อนด่วนผลักไสคนเห็นต่างหรือคนตั้งคำถาม จะกลายเป็นหอกกลับมาทิ่มคนรณรงค์เอง เพราะยังมีกลุ่ม “เป็นกลาง” ที่ยังคิดไม่ตกว่าจะเชื่อแนวคิดฝั่งไหน ..แนวๆ เชื่อฝั่งนึงก็ดูภาพฝันสวยดี เชื่ออีกฝั่งก็ดูชีวิตไม่วุ่นวาย แต่ถ้ากลุ่มคนที่คิดยังไม่ตกนี้ถูกปฏิบัติด้วยความเกลียดชังจากฝั่งไหนก็ตาม (เพราะไม่เห็นด้วยกับฝั่งนั้น) เขาก็มีโอกาสกลายเป็น ignorance หรือคนที่เมินเฉยต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง แนวๆ นั่งอยู่บนภูดูเสือกัดกันดีกว่า ไม่ลงมายุ่ง
บางครั้งมันก็เป็นสิ่งน่าสนใจว่า การขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ต้องใช้โทสะ furious ขับเคลื่อนหรือจึงจะสำเร็จ โทสะ โมหะบังตา มันเป็นสิ่งที่ทำให้คนเรา ละวางการใช้เหตุผล ที่สำคัญมองคนคิดต่างเป็นศัตรู เมื่ออะไรบังตา การขับเคลื่อนทางสังคมไม่ไปด้วยปัญญา ลองคิดดูว่าผลมันจะเป็นอย่างไร ..และที่สำคัญการเอาไฟเกลียดชังมาสุม มันก็ร้อนรุม ส่งผลกับใจเราเอง ทุกข์กับการเฝ้าคิดเล็กคิดน้อย หาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเมื่อชุดความคิดมันย้อนแย้ง
ความเห็นต่างทางความคิดเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ว่าขั้วความคิดไหนก็ตาม ก็ไม่ควรผลักไสมันให้กลายเป็นความเกลียดชัง อยากจะย้ำว่า “ความเกลียดชังไม่มีประโยชน์” สุดท้ายจะชนะไปทำไมถ้าต้องยืนบนซากปรักหักพังที่เยียวยาไม่ได้
ก็ไม่รู้ว่าจะยากเกินไปหรือไม่ ถ้าปีใหม่นี้มีความหวังว่า “สังคมไทยจะหันมาฟังกันด้วยเหตุผลมากขึ้น” ใช้ปัญญาในการขับเคลื่อน ยอมรับความเห็นต่าง สุดท้ายใช้ประชาธิปไตยในการตัดสิน เสียงข้างมากอาจชนะแต่จะเคารพเสียงส่วนน้อย…แต่ก็น่าคิดว่า กระบวนการประชาธิปไตยในไทยมันยังใช้ได้ไม่ดีพอหรือไม่ ? เพราะการ “แพ้ชนะ” นี้เดิมพันมันสูง ก็เลยมีแต่ฝ่าย “จ้องจะได้เปรียบ” เช่นนี้แหละจะเป็นการผลัก “ฝ่ายที่เสียเปรียบ” ให้ถลำลึกสู่ความเกลียดชังมากขึ้น
เขียนไปเขียนมาก็คงมีแต่ความหวัง แต่ก็หวังว่า “ผู้มีอำนาจ” จะมีปัญญารู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร เบื้องต้นทางออกมันน่าจะอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนั่นแหละ.
………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”