นับตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา รัสเซียประจำการทหารจำนวนมหาศาล และสรรพาวุธจำนวนมาก ประชิดตลอดแนวพรมแดนทางตะวันตกที่ติดกับยูเครน และในภูมิภาคไครเมีย ซึ่งรัฐบาลมอสโกผนวกดินแดน “กลับเป็นส่วนหนึ่ง” เมื่อปี 2557 ความเคลื่อนไหวที่สื่อถึงการ “พร้อมบุกยูเครน” อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใคร “สามารถเดาใจ” ได้ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน “กำลังคิดอะไรอยู่” สหรัฐกล่าวเพียงว่า รัสเซีย “อาจใช้ตำราเดิม” คือ “อ้างการถูกยั่วยุ จึงต้องเคลื่อนไหว” แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะเป็นไปตามนั้น
ภูมิภาคที่ต้องจับตาที่สุดในทางยุทธศาสตร์ทหารของยูเครน ณ เวลานี้ ยังคงเป็นภูมิภาคดอนบาสส์ ที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งการสู้รบล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 8 และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 14,000 ราย หากทหารรัสเซียเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่ยูเครน นั่นจะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์โดยปริยาย ให้กับกองกำลังสาธารณรัฐในพื้นที่ ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองฝักใฝ่รัสเซีย แต่จะส่งผลลบต่อภาพลษณ์ของรัสเซีย ในสายตาของประชาคมโลกอย่างแน่นอน
สถานการณ์ทางทหารในยูเครนยุคนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก “ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” ต้องถอดรหัสทางทหารของรัสเซีย “อย่างระมัดระวังที่สุด” เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์ในภูมิภาคดอนบาสส์ของยูเครนยังคงรุนแรง มีการละเมิดการหยุดยิงอย่างน้อย 303 ครั้ง ระหว่างเดือนก.ค. จนถึงก.ย.ที่ผ่านมา ตามสถิติขององค์การความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ( โอเอสซีอี )
อย่างไรก็ตาม การที่ปูตินเอ่ยปากเองเมื่อไม่นานมานี้ ว่าการที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ยังคงเดินหน้าเสริมกำลังทางทหาร ตามแนวพรมแดนทางตะวันออก “เป็นภัยคุกคามต่อแกนกลางด้านผลประโยชน์ของรัสเซีย” รัฐบาลมอสโกมีความวิตกกังวลว่า ในอนาคตนาโตอาจอาศัยยูเครนเป็นฐานปล่อยขีปนาวุธ ที่มีพิสัยทำการถึงกรุงมอสโก “ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที”
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของนาโตกดดันให้รัสเซียต้องพัฒนา “สิ่งที่ทัดเทียมกัน” เพื่อให้สามารถตอบสนองกับภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน ปูตินกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ตามแนวชายแดนระหว่างยูเครนกับรัสเซียในเวลานี้ “เป็นอะไรที่มากกว่าการจะเกิดสงครามจริงหรือไม่” ผู้นำรัสเซียยืนกรานว่า รัฐบาลบาลมอสโกต้องการ “หลักประกันอย่างเป็นทางการ” เกี่ยวกับการไม่ขยายอาณาเขตทางทหารตามแนวพรมแดนทางตะวันออก และการที่นาโต “ซึ่งมีสหรัฐเป็นหัวเรือใหญ่” ต้องไม่ติดตั้ง “อาวุธโจมตีนำวิถี” ในประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียแห่งใดก็ตาม
ขณะที่นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย บุคคลซึ่งถือได้ว่าเป็น “มือขวาด้านการทูต” ของปูติน กล่าวว่า นาโตต้องไม่รับยูเครนเป็นสมาชิก และหากนาโตไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดได้ รัสเซียจะเดินหน้านโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อปกป้องเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ
ท่าทีเหล่านี้ของผู้นำรัสเซียและนักการทูตหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลมอสโก น่าจะเพียงพอใช้อนุมานได้ในระดับหนึ่ง เกี่ยวกับมุมมองของรัสเซียที่มีต่อสถานการณ์ครั้งนี้ ที่สื่อสารออกมาในรูปแบบของการขนกำลังพลและสรรพาวุธมหาศาลมากองประชิดชายแดนของยูเครน ว่ารัฐบาลมอสโกไม่ต้องการให้รัฐบาลเคียฟ “อยู่ภายใต้บรรยากาศของตะวันตก” เพราะรัสเซียยังคงต้องการอยู่ในสถานะถือไพ่เหนือกว่าในบริเวณนี้ ซึ่งถือเป็นเขตอิทธิพลหรือหลังบ้านของตัวเอง
นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็น “การออกแบบ” ของปูติน เพื่อทดสอบและประเมินสหรัฐ และพันธมิตรในยุโรป โดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนีที่เพิ่งรับตำแหน่ง ตลอดจนจุดยืนของนาโตด้วย ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐไม่มีแผนส่งทหารเข้าไปในยูเครนในนามของนาโต เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปตามกฎบัตรของนาโตเท่านั้น และไม่ครอบคลุมยูเครน เนื่องจากรัฐบาลเคียฟ “ไม่ใช่สมาชิกนาโต”
ทั้งนี้ ไบเดนยังคงทิ้งท้ายว่า รัฐบาลวอชิงตันไม่ลังเลใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจรอบใหม่กับรัฐบาลมอสโก หากการบุกยูเครน “เกิดขึ้นจริง” แต่การที่รัสเซียจะใช้มาตรการทางทหารแบบเต็มรูปแบบกับยูเครนนั้น “แทบเป็นไปไม่ได้เลย” ขณะที่นาโตคงไม่อาจทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม “สงครามเย็น” ตามแนวพรมแดนระหว่างยูเครนกับรัสเซียรอบนี้ จะยังคง “ร้อนระอุ” ไปอีกสักระยะ.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES