ปัจจุบันอาหารกึ่งสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยสภาพการดำรงชีวิตในปัจจุบันตกอยู่ในภาวะที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหาร หรือจากสถานการณ์ COVID-19 จึงทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะใช้เวลาในการเตรียมไม่นาน และปรุงก็ไม่ยาก แถมยังมีรสชาติที่อร่อย แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความรีบเร่งเช่นนี้ กลับมีสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือ “โซเดียมที่แอบแฝงมา” ไม่ว่ารสชาติเดิมจากผลิตภัณฑ์จะอร่อยแค่ไหน คนเราก็หนีไม่พ้นกับการปรุงเพิ่ม โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสเค็ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสถั่วเหลือง ซอสปรุงรส

โดยทาง นางสาวศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้เปิดข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว่ว่า จาก ผลสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ประจำปี 2564 เริ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ในเดือนพฤษภาคม-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 จำแนกออกเป็น กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 300 ตัวอย่าง กลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง ในซองผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วย ฉลากอาหาร ฉลากโภชนาการ (แบบเต็มและแบบย่อ) และฉลากโภชนาการแบบ GDA ที่มีข้อมูลแตกต่างกันไปตามผลิตภัณฑ์ บางผลิตภัณฑ์ข้อมูลในฉลากโภชนาการกับฉลาก GDAไม่ตรงกัน ผลิตภัณฑ์หมดอายุแล้วแต่ยังวางจำหน่วย เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดคือก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต้องอ่านฉลากทุกครั้ง

ในส่วนของผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 300 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 3 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียมดังนี้
1)ประเภท ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 220-7,200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
2)ประเภท โจ๊ก ข้าวต้ม มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 0-1,420 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
3)ประเภท ซุป มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 170-810 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

ในส่วนของผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 4 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียมดังนี้
1)ประเภท ซอส ซีอิ๊ว น้ำมันหอย น้ำปลา มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 130-2,560 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)
2) ประเภท น้ำปรุงรส พริกแกง กะปิ มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210-1,490 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 2 ช้อนชา)
3) ประเภท ผงปรุงรส มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 430-1,910 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนชา)
4) ประเภท เนย ชีส มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 45-280 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)

ด้านรศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยว่าคนไทยกินเค็ม เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ในอนาคตได้ ซึ่งในปัจจุบัน “สาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม”

“โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยังมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่มีขนาดอวัยวะที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะไตและหัวใจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง หากเด็กได้รับโซเดียมจากอาหารที่มากเกินความต้องการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน” นอกจากนี้ การติดกินเค็มจนเป็นนิสัยตั้งแต่เด็กก็ย่อมมีแนวโน้มที่ลิ้นจะติดเค็มไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ในขณะที่ผู้ใหญ่ รับประทานโซเดียมเฉลี่ยที่ 3,636 มิลลิกรัม/วัน แต่ในขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียนอายุ 6-15 ปี และผู้ใหญ่ ควรได้รับ เท่ากับ 1,500 และ 2,000 มิลลิกรัมตามลำดับเท่านั้น และโซเดียมสามารถกระตุ้นน้ำลาย ทำให้อยากอาหารมากขึ้น ยิ่งกินก็ยิ่งติดเค็ม

ทุกวันนี้โรค NCDs เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยสูงมากเนื่องจากการบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนด หากเราหันมาอ่านฉลากกันแบบจริงจัง ก่อนที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ก็จะช่วยลดการนำโซเดียมเข้าสู่ร่างกายได้อีกทางหนึ่งอีกด้วย…

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”