@ เริ่มต้นที่การระบาดของ “โควิด-19” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ ปัตตานี, ยะลา และ สงขลา ที่ผู้ติดเชื้อยังติดอยู่ในการจัดอันดับ 1 ใน 10 ของทุกวัน และจำนวนผู้เสียชีวิต ใน จ.ยะลา และ ปัตตานี ที่มีการตายวันละ 4-5 ราย เป็น “นัย” ที่สำคัญ ที่แสดงว่าการ “ล็อกดาวน์” พื้นที่อย่างเดียวกำลังจะ “เอาไม่อยู่”...เพราะการระบาดจาก “มัรกัส” ยะลา ไปสู่ ครัวเรือน และ ขณะนี้ โรงเรียนสอนศาสนาอีกหลายแห่ง กำลังเป็น ”คลัสเตอร์” ใหญ่ ประเด็นสำคัญวันนี้ อยู่ที่คน ”ส่วนหนึ่ง” ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ ศบค.จังหวัด ยกตัวอย่าง วันศุกร์ ที่ผ่านมา มีการรวมตัวกัน “ละหมาดวันศุกร์” ใน “มัรกัส” จำนวนมาก ทั้งที่มีการ “สั่งห้าม” การละหมาดวันศุกร์ ทั้งจาก ผอ.ศบค., ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และ จาก จุฬาราชมนตรี…รวมทั้งผู้ติดเชื้อ ในหมู่บ้านหรือ “กำปง” ต่างปกปิดข้อมูล ไม่ให้ความร่วมมือในการ “กันตัว” และ เข้าสู่การรักษาพยาบาล เมื่อใช้ “ไม้อ่อน” ด้วยการทำความเข้าใจแล้วไม่ได้ผล ก็ถึงคราวที่ต้องใช้ “ไม้แข็ง” ใครที่ฝ่าฝืน คำสั่ง และเห็นชัดว่าเป็น “พาหะ” ในการ แพร่เชื้อ ก็ต้องใช้ “กฎหมาย” จัดการ ถ้ามัวแต่ ”หวั่นไหว” ว่าการใช้ “กฎหมาย” เป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” เชื่อเถอะ หยุดการระบาดของ “โควิด-19” ไม่ได้ อย่าลืมว่า สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในพื้นที่ เป็น “สายพันธ์ุเบต้า” ที่หนักหนาสาหัสเอาการ…

@ นอกจาก ราชิต พุ่มสุด ผวจ.ปัตตานี และ ชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผวจ. ยะลา ในฐานะ ผอ.ศบค.จังหวัดแล้ว อิสมาแอ ฮารี และ แวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรคมการอิสลามทั้ง 2 จังหวัด ข้างต้น จะต้อง “จริงจัง” กลับกลุ่มคนที่ “ดื้อด้าน” ให้มากกว่านี้…โดยเฉพาะใน “มัรกัส” ยะลา ที่ยังเป็นปัญหาของการแพร่ระบาด ก็ต้องฝาก อุดร น้อยทับทิม อดีต รอง ผวจ.ยะลา และอีกคนที่เป็นคนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ มีบทบาทสำคัญใน “ศูนย์ดาวะห์” แห่งนี้คือ “ผู้พันแพะ” ต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ให้มากกว่านี้….และสุดท้ายแล้ว หากต้องใช้ “ยาแรง” อย่างจริงจังในการหยุดการระบาด ในครัวเรือน ก็ต้อง “พึ่งพา” บทบาทของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งงานด้าน “มวลชน” เป็นงานที่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 รวมทั้ง พล.ต.ธิรา แดหวา รองแม่ทัพภาคที่ 4 และ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ….

@ จากภารกิจปิดล้อม “ป่าสาคู” ที่ “โจรใต้” ยึดเป็น “ชัยภูมิ” ต่อสู้กับ ทหาร, ตำรวจ ที่ ต.กะดูนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นเวลา 7 วัน เพื่อ “จัดการ” กับ “โจรใต้” 2 คน งานนี้เหมือน “ขี่ช้างจับตักแตน” เมื่อจบภารกิจแล้ว ก็อย่าให้จบไปเฉยๆ แต่อยากจะให้ “แม่ทัพ” นายกอง ผบ.ฉก.ต้องมีการ วิเคราะห์, สังเคราะห์ ถอดบทเรียน ที่เกิดขึ้นและประเด็นสำคัญที่สุดคือ ทุกสถานการณ์ของการ “ปิดล้อม” ทำไม “โจรใต้” หรือ สมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น จึงเลือกที่จะ “สู้ตาย” ทั้งที่มีทางเลือกที่จะ “วางอาวุธ” เพื่อ “มอบตัว” จำได้ว่าในอดีต ที่ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 สถานการณ์รุนแรงกว่านี้มาก แต่ในการล้อมปราบ ก็สามารถที่จะ “จับเป็น” ทั้ง “แนวร่วม” ระดับ “สั่งการ” และระดับ “ปฏิบัติการ” ที่สามารถนำเข้าสู่ ขบวนการ “ซักถาม” ได้ประโยชน์กับการดับ “ไฟใต้” เป็นอย่างยิ่ง หรือวันนี้ ขบวนการ บีอาร์เอ็น สามารถ “ฝังชิพ” ให้ กองกำลังติดอาวุธ หรือ “อาร์เคเค” มีอุดมการณ์ ถึงขั้นยอม “พลีชีพ” เพื่อ “ยกระดับ” ของความรุนแรงแล้วจริงๆ หรือ ขบวนการปลูกฝัง ให้การ ตาย 1 เกิด 10 ที่ บีอาร์เอ็น ต้องการ ทำได้สำเร็จแล้วจริงๆ …

@ ที่สำคัญ “โจรใต้” ที่ต่อสู้กับ เจ้าหน้าที่ และ เสียชีวิต ในหลายปีที่ผ่านมา ล้วนแต่อายุ 30 ต้นๆ ทั้งสิ้น นี่คือ คนรุ่นใหม่ และเป็นกลุ่ม “หน้าขาว” ของ ขบวนการ บีอาร์เอ็น ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ จะแก้โจทย์นี้อย่างไร ก็ฝากเป็น “การบ้าน” สำหรับ แม่ทัพ, นายกอง ผบ. ฉก. หน่วยกำลัง ในพื้นที่ และสุดท้าย สภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) คิดอย่างไร มียุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงอย่างไร ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. ผู้รับผิดชอบปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าอย่างไร….

@ “โควิด-19” อย่างไรเสียก็ต้องจบ แต่งานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเดินต่อ ล่าสุด พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ร่วมหารือกับกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อ จบปัญหาต่างๆ ที่ยัง “คาราคาซัง” ของสนามบินเบตง จ.ยะลา อาทิ ยกเว้นค่าธรรมเนียม ลดหย่อนภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศ หารือกับ รัฐบาลมาเลเซีย ในกรณีที่เครื่องบินขนาดใหญ่ จำเป็นต้องล้ำน่านฟ้ามาเลเซีย เพื่อการ ขึ้น-ลง เพื่อหลังจากที่หมดเรื่อง “โควิด-19” แล้ว จะได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สะดุด ไปเพราะ โควิด-19 อีกครั้ง….

@ เห็นด้วยกับ “ไอเดีย” ของ เดชอิศม์ ขาวทอง (นายกชาย) ส.ส.เขต 5 พรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา ที่จะส่งเสริมให้ คนในเขตเลือกตั้ง ทำอาชีพ เกษตรอินทรีย์ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะด้วยพื้นที่เพของคนพื้นที่ก็คือการทำการเกษตรอยู่แล้ว ส่งเสริมให้ถูกหลักวิชา ใช้ “นวัตกรรม” การเกษตรแผนใหม่ และสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ที่ไม่มีทุน เชื่อว่านอกจากเป็นการ สร้างอาชีพที่มั่นคงแล้ว ยังเป็นการสร้างสังคมที่มั่นคง และยั่งยืนด้วย….เช่นเดียวกับ ส.ส. หนึ่งเดียวของ “ภูมิใจไทย” ใน จ.สงขลา ส.ส. ณัฎญ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ขวัญใจของประชาชนในเขต 7 ที่ คิด “ไอเดีย” ให้ประชาชนในเขตเลือกตั้ง นำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ไปแลก “ไข่ไก่” ในจุดที่มีการกำหนดเอาไว้ นอกจากจะเป็นการ ป้องกัน “ขยะติดเชื้อ” แล้วประชาชนยังได้ประโยชน์อีกด้วย ทำดีก็ชื่นชมเป็นเรื่องธรรมดา….

@ ยัง “ยักตื้นติดกึก ยังลึกติดกัก” สำหรับการเปิดให้สัมปทานรังนกนางแอ่น ที่เกาะสี่ เกาะห้า อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เพราะผ่านไปแล้ว 2 เดือน ยังหาผู้ “สัมปทาน” รายใหม่ไม่ได้ ทรัพย์สินของแผ่นดิน จะหายไปเฉยๆ ไม่ได้ วันนี้ กู้เกียรติ วงศ์กระพันธ์ ผวจ.พัทลุง กับ วิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง ต้อง ร่วมมือกันในการหาทางออก โดยเฉพาะต้อง วางแผนล่วงหน้า ถ้าไม่มีบริษัทไหนยื่น “สัมปทาน” จังหวัดจะทำอย่างไรกับ “รังนก” ใน เกาะสี่ เกาะห้า….ยังเป็นพื้นที่ระบาดที่ “หนักหน่วง” คือ จ.สงขลา ซึ่งต้นตอมาจาก โรงงานอุตสาหกรรม และ ระบาดสู่ครัวเรือน พื้นที่ซึ่ง จารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา ต้องติดตามเป็นพิเศษ คือ 4 อำเภอใน โซนสีแดง อ.จะนะ, เทพา, สะบ้าย้อย และ นาทวี ที่ผู้ติดเชื้อในครอบครัว ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ต้องเน้นให้ฝ่ายปกครอง คือ “นายอำเภอ” กับ เจ้าหน้าที่ “สาธารณสุข” ทำงานให้ “เข้มข้น” มากขึ้น….

@ ส่วนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ ปิดตลาดทีเดียว 14 แห่ง หวังว่าการใช้ “ยาแรง” ในครั้งนี้ จะทำให้สถานการณ์การระบาดในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่จะลดน้อยลง……แม้จะมีการ ปิดประเทศ ปิดพรมแดน ไทย-มาเลเซีย ไปแล้ว แต่ ขบวนการลักลอบค้าของเถื่อน ก็ยังไม่หยุดนิ่ง ล่าสุด เจ้าหน้าที่ สรรพสามิต และ ศุลกากร สามารถจับกุมพ่อค้ารายใหญ่ ใน จ.นราธิวาส ได้ของกลาง เป็น บุหรี่ หลบหนีภาษี เป็นจำนวนมาก สินค้าเหล่านี้ ลำเลียงมาทางทะเล ซึ่งวันนี้ ต้องยอมรับความจริงว่า ของเถื่อน จาก มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น เหล้า บุหรี่ น้ำมัน ต่างใช้ เส้นทางทางน้ำ เป็นเส้นทางลำเลียง โดยการให้ เรือประมงดัดแปลง ขนถ่ายขึ้นฝั่ง ถ้า หน่วยงานที่รับผิดชอบ “ทางทะเล” ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจน้ำ, ศุลกากร และทหารเรือ ไม่เข้มงวด หรือ มีผลประโยชน์ กับ “นายทุน” ก็ป้องกันไม่ได้…

@ ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูที่ชายแดนไทย–มาเลเซีย ด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งมีการปิดพรมแดนเกือบจะถึง 2 ปี แล้ว แต่ น้ำมันเถื่อน จากประเทศมาเลเซีย ยังมีขายเกลื่อน ใน อ.สะเดา จ.สงขลา และ อำเภอใกล้เคียง ด้วยการลักลอบนำเข้ามา โดยขบวนรถบรรทุกสินค้า ที่มีการซุกซ่อนน้ำมันดีเซลเข้ามา คันละ 1,000-2,000 ลิตร ถามว่า ถ้า ศุลกากร ตำรวจ สรรพสามิต และ ชุดปราบปรามน้ำมันเถื่อน “ปนม.” เอาจริง มีหรือที่ ผู้นำผิด หรือ กลุ่ม “นายทุน” จะไม่ถูกจับ อย่าลืมว่ารถบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศ เข้า-ออก วันละนับร้อยๆ คัน ลักลอบนำน้ำมันโซล่า เข้ามาคันละ 1,000-2,000 ลิตร ความเสียหายของประเทศชาติ คือเงินภาษี ลิตรละ 5 บาทเศษ ที่หายไปวันละเท่าไหร่ เดือนละเท่าไหร่ ปีละกี่ล้านบาท ดังนั้นที่มีเสียง “นินทา” ว่า ต้องการ “จ่าย” เบี้ยใบ้รายทาง ให้ เจ้าหน้าที่ ทุก “สีเสื้อ” จึงไม่ใช่เรื่อง “กล่าวหา” แต่เป็น “เรื่องจริง” ล่าสุด มีการร้องเรียนมาว่า ที่ ต.เขามีเกียรติ เขตพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.คลองแงะ อ.สะเดา จ.สงขลา มี คอกน้ำมันเถื่อนคอกใหญ่ ตั้งอยู่ก็น่าจะเป็นเรื่องจริง ฝาก พ.ต.อ.สมชาย นพศรี ผกก. เจ้าของพื้นที่ ตรวจสอบ ด้วย….

———————

ไชยยงค์ มณีพิลึก

โรงครัวพระราชทาน…. พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมเจ้าหน้าที่ นำอาหารจากโรงครัวพระราชทาน “มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย แจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.กาบัง จ.ยะลา ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” โดยมีอัมรันท์ กาบา นายอำเภอกาบัง ให้การต้อนรับ

พระราชทานเพลิง…. พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ส.อ.นิติพจน์ เพชรรัตน์ จนท.จรยุทธ์ หน่วย ฉก.40 ซึ่งเสียชีวิตจากการซุ่มโจมตี ของ “โจรใต้” พร้อมมอบเงินให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ณ วัดดอนใคร อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ช่วยชาวบ้าน…. พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ช่วยซื้อทุเรียนพื้นบ้าน จากพ่อค้าแม่ค้า ในตลาด ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อแจกให้กับชาวบ้านและกำลังพล ฉก.นราธิวาส เป็นการช่วยผู้ค้าและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19

บทบาทผู้แทนพิเศษ…. ธนาธิป พรหมชื่น ที่ปรึกษาผู้แทนพิเศษรัฐบาล อนิรุทร บัวอ่อน นายอำเภอสุไหงปาดี และ เพียร มะโนภักดิ์ นายก อบต.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส พร้อมทีมงาน ส.ท.สามสหาย นำของกินของใช้ มอบให้ชาวบ้านโคกสะตอ 50 ครัวเรือน และมอบน้ำดื่มให้ รพ.สุไหงปาดี จำนวน 2,400 ขวด

รับกลับบ้าน…. บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง เป็นประธาน ปล่อยรถตู้กู้ภัยมูลนิธิสว่างภักดี ตรัง ไปรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จาก กทม.และพื้นที่เสี่ยง ที่รอเตียงเข้ารักษา กลับมาพักรักษาตัวยังจังหวัดตรัง ภายหลังจาก มติ ศบค.ตรัง มีมติรับในหลักการ จัดทำแนวทางการรับผู้ป่วย และเปิดศูนย์ประสานรับผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 กลับบ้าน

มอบทุน…. สมมิตร โชคเจริญผล ที่ปรึกษาบริษัทโตโยต้า 1988 พัทลุง จำกัด สนับสนุนกิจกรรม “ทำนาริมเล” ของนักเรียนโรงเรียนวัดปากประ ต.ลำปำ อ.เมือง พัทลุง ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของจังหวัด โดยมี จารุวรรณ ทองวิเศษ ผอ.โรงเรียน เป็นผู้รับมอบ

ตรวจความพร้อม…. ไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว รองนายกองค์การบริหารส่วนสงขลา และสมาชิกสภาฯ ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการเปิดให้บริการโรงพยาบาลสนาม โรงเรียนบ้านพังเภา ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ

กราบนมัสการ…. โยธิน ทองเนื้อแข็ง ส.อบจ.สงขลา เขต อ.กระแสสินธุ์ ในนามพี่น้องชาวอำเภอกระแสสินธุ์ ขอกราบนมัสการขอบพระคุณ ท่านพระครูวิรัตธรรมโชติ เจ้าคณะอำเภอเมืองสงขลาและท่านพระครูปลัดยอดโดม สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดไทรงาม สงขลา ได้มอบข้าวกล่องจากโรงทานอาสาวัดไทรงาม ให้กับเจ้าหน้าที่ รพ.กระแสสินธุ์ เพื่อเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ต่อสู้กับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในการนี้ ท่านพระครูวิรัตธรรมโชติ ได้มอบเจลแอลกอฮอล์ แบบสเปรย์พกพา ให้กับผู้ป่วยที่มารอการรักษาด้วย

ตรวจเยี่ยม…. สุพจน์ นวลทอง นายกเทศมนตรีตำบลระโนดและคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและแก้ไขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ด่านตรวจตำบลคลองแดน และ โรงพยาบาลสนามท่าบอน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ปฏิบัติงานในจุดต่างๆ

ปล่อยพันธุ์กุ้ง…. กระจายศักดิ์ ศรีสงค์ นายกเทศมนตรีตำบ่อตรุ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 6 (สงขลา) และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันปล่อยพันธุ์กุ้งแชบ๊วยลงทะเลในโครงการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและอ่าวไทย สนับสนุนโดย บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ณ บริเวณชายหาดหน้า ศูนย์อนุรักษ์เพาะพักลูกปูและสัตว์น้ำกลุ่มพังเค็ม จำนวน 2,100,000 ตัว

มอบหน้ากาก…. ตัวแทนของ ประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ อดีต ส.ส. เขต 1 จ.ยะลา มอบหน้ากากจำนวนหนึ่งใหกับสถานีตำรวจโกตาบารู อ.เมือง ยะลา เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการ โดยมีตัวแทนของ พ.ต.อ.ตรับฤกษ์ ปัญญาไตรรัตน์ ผกก.สภ.โกตมบารู เป็นผู้รับมอบ

น้ำใจตำรวจ…. พ.ต.อ.จุฬาชัย แสงกุลผกก.ปพ.ภ.จว.ยะลา สนับสนุนรถเข็น แพมเพิส ถุงยังชีพและหน้ากากอนามัย (แมสก์) สำหรับผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุ ในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านอุเผะ หมู่ที่ 5 ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา

ช่วยประชาชน…. โอฬาร บิลสัน นายอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง, สาธารณสุขอำเภอยะหริ่ง, ผู้อำนวยการโรงเรียนยะหริ่ง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และกำลังพล ตำรวจ ทหารพราน ฝ่ายปกครอง ภาคประชาชน เข้าช่วยเหลือ ดอเลาะ ยูโซะ อายุ 84 ปี ชาวบ้านประสบภัยต้นไม้ล้มทับบ้านเสียหายทั้งหลัง ที่บ้านเลขที่ 209/1 หมู่ที่ 1 ต.ตันหยงดาลอ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยได้มอบของอุปโภค บริโภคและเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น

มอบถุงยังชีพ…. พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผบก.ภ.จว.ยะลาพร้อมด้วย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ กรรมการ สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ( สนต.) ลงพื้นที่ เพื่อมอบถุงยังชีพ (ข้าวสาร น้ำดื่ม อาหารแห้ง และไข่ไก่) ให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากมาตรการปิดหมู่บ้าน ตามคำสั่ง ศบค.ยะลา หมู่ที่ 2 บ้านจะรังตาดง ต.ท่าธง อ.รามันห์ จ.ยะลา

แสดงความยินดี…. นพ.เจฎษา จงไพบูลย์วัฒนะ ผอ.รพ.ราษฎร์ยินดี มอบกระเช้าแสดงความยินดีกับ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี ในโอกาส รีบตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ และร่วมหารือในการจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนในเขตเทศบาล