“ข้าวแต๋นนํ้าแตงโม” ขนมพื้นบ้าน ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์และภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้วิธีการทำแบบแปรรูปจากข้าวเหนียวมาเป็นขนม และเก็บไว้ได้นาน มีรสชาติที่อร่อยโดดเด่น คือ หวาน หอม กรอบและอร่อย โดยใช้ข้าวเหนียวกลางปีมาทำ เน้นว่าต้องใช้ข้าวเหนียวกลางปีเท่านั้น เพราะจะทำให้ข้าวเวลาทอดจะพอง กรอบนาน ใครชอบฝึกการทำอาหารแบบภูมิปัญญาชาวบ้านแบบนี้ ลองเริ่มต้นที่ข้าวแต๋นดูก่อนก็ได้ วันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีสูตรการทำมานำเสนอ…
ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ คือ วุธ–สราวุธ สุวรรณาบาง อายุ 49 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์ “ขนมนางเล็ตข้าวแต๋นโคราช” ซึ่งเล่าที่มาของอาชีพให้ฟังว่า ครอบครัวมีอาชีพทำนา พอว่างจากหน้าทำนาก็มารับจ้างทำงานทั่วไปเลี้ยงครอบครัว ต่อมาคนที่หมู่บ้านมีคนไปทำงานที่ประเทศไต้หวันหลายคน ตนก็เป็นหนึ่งในนั้นจึงปรึกษากับภรรยาว่าอยากจะไปทำงานเก็บเงินมาเป็นทุนรอน แล้วไปกู้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำงานอยู่ที่ประเทศไต้หวันได้ประมาณ 6 ปี ก็สามารถใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจนหมด และมีเงินเก็บกลับมาก้อนหนึ่ง แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะค้าขายอะไร
“แฟนเล่าให้ฟังว่า มีคนในหมู่บ้านมีหนี้สินเยอะ ทำข้าวแต๋นขายอยู่ประมาณ 3 ปี สามารถปลดหนี้สินได้หมด แฟนสนใจจึงอยากจะทำข้าวแต๋นขาย โดยไปขอสูตรจากญาติที่เคยทำขาย แล้วมาลองทำดู แต่สูตรที่ได้มาไม่ได้ ต้องใช้เวลาและพลิกแพลงเอาเอง ลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน กินได้บ้างไม่ได้บ้าง ช่วยกันทำจนได้รสชาติ และสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จากนั้นก็ไปซื้อรถกระบะ เพราะการค้าขายในยุคนี้ไม่มีรถก็ลำบาก ต่อมาก็ลองขายตลาดนัดปรากฏว่าตลาดนัดเช้าจะขายดีมากกว่าช่วงอื่น ๆ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ขายข้าวแต๋นนํ้าแตงโมนาน 14 ปี ปลดหนี้ได้ มีรถ 2 คัน และยังส่งต่ออาชีพนี้ถึงลูก 3 คนไว้ทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัวด้วย”
วุธ บอกว่า มองดูเหมือนจะทำง่าย แต่ความจริงทำยาก เพราะมีหลายขั้นตอนที่ต้องอาศัยเทคนิค-ความชำนาญเฉพาะตัว เช่น การวนหยอดนํ้าตาลบนข้าวทอด, การอัดพิมพ์ข้าว, การทอดข้าว รวมถึงการเลือกข้าวเหนียวก็สำคัญ ข้าวเหนียวต้องไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไป ต้องเป็นข้าวเหนียวกลางปี เพราะข้าวเก่าจะเหม็นสาบ ส่วนข้าวใหม่จะทอดไม่พอง ฯลฯ
อุปกรณ์ หลัก ๆ ที่ใช้ก็มี…เตาแก๊ส, กระทะหรือหม้อสเตนเลสขนาดใหญ่, เครื่องปั่น, กระด้ง, ตะแกรงด้ามยาว, คีมคีบ, มีด, เขียง, ผ้าขาวบาง, ถาด, พิมพ์ขนม, ไม้พายเล็ก (ใช้สำหรับวนหยอดนํ้าตาล) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดอื่น ก็หยิบยืมเอาจากในครัว
วัตถุดิบ ที่ใช้ในการทำ “ข้าวแต๋นนํ้าแตงโม” มี…ข้าวเหนียวกลางปี 1 กก., แตงโมสด 1 ลูก, นํ้าตาลทรายแดง
40 กรัม, เกลือ ½ ช้อนชา และนํ้ามันพืช ส่วนนํ้าตาลราดหน้าข้าวแต๋น นํ้าตาลมะพร้าวหรือนํ้าตาลปี๊บ 450 กรัม, เกลือป่น ½ ช้อนชา, นํ้าตาลอ้อย 100 กรัม และนํ้าสะอาด 40 กรัม
ขั้นตอนการทำ “ข้าวแต๋นนํ้าแตงโม”
เริ่มจากนำข้าวเหนียวมาล้างนํ้าสะอาด 2 ครั้ง แช่นํ้าทิ้งไว้ 1 คืน ล้างด้วยนํ้าสะอาดอีก 2 ครั้ง ก่อนจะนำไปนึ่ง ระหว่างนั้นนำแตงโมที่เตรียมไว้มาทำความสะอาด ผ่าแล้วหั่นเป็นชิ้นนำไปปั่น กรองเอาแต่นํ้า เสร็จแล้วผสมนํ้าสะอาดเล็กน้อย ใส่เกลือป่น, นํ้าตาลอ้อยผง ใช้ทัพพีคนส่วนผสมให้เข้ากัน
นึ่งข้าวเหนียวสุกแล้ว นำมาคลุกเคล้ากับนํ้าแตงโมให้เข้ากันดี พักให้ข้าวดูดนํ้า 5 นาที นำพิมพ์ที่เตรียมไว้จุ่มนํ้า หยิบข้าวเหนียวมากดลงในพิมพ์ให้พอเกาะกันเป็นแผ่น แล้วแกะข้าวออกจากพิมพ์ไปวางในกระด้งที่ทาด้วยนํ้ามันพืช นำไปตากแดด 2 วัน เมื่อแห้งแล้วนำลงทอดในนํ้ามันท่วม ข้าวแต๋นสุกจะลอยขึ้น ให้ตักขึ้นมาวางบนตะแกรงเพื่อให้สะเด็ดนํ้ามัน และพักไว้ให้เย็น
การเคี่ยวนํ้าตาลราดหน้าข้าวแต๋น นำนํ้าตาลปี๊บใส่หม้อ ตามด้วยนํ้าตาลอ้อย เกลือป่น และนํ้าสะอาด เคี่ยวด้วยไฟกลาง เคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนนํ้าตาลเหนียว ใช้ไม้พายเล็กจุ่มลงในนํ้าตาลมาหยอดวนเป็นวงกลมบนแผ่นข้าวที่ทอดจนหมด ตั้งพักไว้ให้เย็น แล้วนำบรรจุใส่ถุงต่อไป
วุธ บอกว่า ข้าวแต๋นนํ้าแตงโมของที่ร้าน จะมี 2 สี คือ ข้าวเหนียวขาว และข้าวเหนียวดำ จุดเด่นอยู่ที่รสชาติอร่อยที่ไม่เหมือนใคร มีทั้งความหอม มัน กรอบนาน และหวานน้อย
สำหรับราคาขาย “ข้าวแต๋นนํ้าแตงโม” เจ้านี้ ขายถุงละ 30 บาท (มีขนม 6 ชิ้น)
ใครสนใจทำ “ข้าวแต๋นนํ้าแตงโม” ขายเป็น “ช่องทางทำกิน” ก็ลองฝึกฝนกันดู หรือต้องการจะซื้อหาข้าวแต๋นนํ้าแตงโมเจ้านี้ไปชิมดู วันพุธ ขายที่ตลาดนัดกรมข้าว ม.เกษตร, วันพฤหัส ขายที่ รพ.ทรวงอก และวันศุกร์ ขายกรมประมง ม.เกษตร ฯลฯ ต้องการสั่งไปใช้ในงานต่าง ๆ ติดต่อ วุธ–สราวุธ สุวรรณาบาง เจ้าของกรณีศึกษา ได้ที่ โทร. 06-4298-5130…นี่ก็เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สามารถนำมาสร้างอาชีพได้อย่างน่าทึ่ง!!…
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง