ปล่อยพันธุ์ปลา

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานนำจิตอาสาปล่อยพันธุ์ปลาเทโพพระราชทาน จำนวน 70 คู่ เพื่อขยายพันธุ์และปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำวัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา และกำหนดจัดพิธีปล่อยพันธุ์ปลาเทโพพระราชทานร่วมกับพันธุ์ปลาไทยน้ำจืด เพื่อสนองพระราชดำริอีกครั้ง ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ณ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบางปะอิน (หลังเก่า) เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมสนับสนุนให้ปล่อยพันธุ์ปลาโดยเฉพาะพันธุ์ปลาไทยในแม่น้ำ 4 สายหลัก และลำคลองสาขา เพื่อให้ประชาชนชาวอยุธยามีแหล่งอาหารโปรตีนที่สมบูรณ์และยั่งยืน

ตามโครงการในพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสงสัยและมีพระราชปรารภเป็นคำถามว่า “ปลาไทยหายไปไหน” จึงมีพระราชดำริ ให้กรมประมงฟื้นฟูปลาไทยให้กลับมา และอนุรักษ์ปลาหายากไว้ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพ่อแม่พันธุ์ปลาเทโพ ปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับกรมประมง รับสนองพระราชดำริ โดยยึดถือว่าการปล่อยปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรเป็นปลาไทยที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ออกลูกออกหลานได้เอง รวมทั้งคัดเลือกแหล่งน้ำที่มีความเหมาะสมในการเจริญเติบโตและการแพร่ขยายพันธุ์ปลา จำนวน 1,000 ตัว ซึ่งให้ดำเนินการปล่อยในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก และแม่น้ำสายอื่น ๆ ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ จะนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ทำการเพาะขยายพันธุ์ และปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์ปลาเทโพในแหล่งน้ำธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

มอบที่นอนสนาม

นายสำพราน หมั่นมาก พร้อมกับคณะ เจ้าของตลาดหมั่นมาก ได้มอบที่นอนสนาม จำนวน 50 ชุด ให้กับโรงพยาบาลสนามที่ขาดแคลน พร้อมที่จะพร้อมเตียง โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอภิรักษ์ วัฒนวิกกิจ สาธารณสุขอำเภอบางปะอิน ได้มอบที่นอนสนาม พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 50 ชุด ณ หอประชุมบ้านหว้า ตำบลบ้านหว้า อำเภอบางปะอิน เพื่อใช้รองรับการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วย โควิด-19 ที่ขาดแคลน หรือที่ต้องการขยายต่อไป (ชาญ ชูกลิ่น / อยุธยา)

นายกเหล่ากาชาด

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นางนวลจันทร์ แย้มศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมาย นางศศิธีทัช ปิ่นนิกร ที่ปรึกษานายกเหล่ากาชาด คณะกรรมการเหล่ากาชาด สมาชิกแม่บ้านมหาดไทย มอบถุงยังชีพจำนวน 50 ชุด สำหรับผู้ป่วย รับการรักษา แยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) ซึ่งเป็นการดูแลประชาชนที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านตนเองของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา รับมอบโดย นายแพทย์ธัชชัย บำรุงสงฆ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ส่งมอบ หน่วยงาน home isolation เพื่อส่งมอบผู้ป่วยในโครงการต่อไป โดยเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับ ผู้ที่แยกกักตัวที่บ้าน ชุดยังชีพของเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สภากาชาดไทย ทำให้การขับเคลื่อนโครงการ home isolation เป็นไปด้วยความราบรื่นประชาชนได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล จากความร่วมมือทุกภาคส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่ว่าจะเป็น จังหวัด ปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน มูลนิธิ รวมทั้งภาคประชาชน ในนามโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยากราบขอบพระคุณผู้มีอุปการคุณมา ณ ที่นี้ (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

เยี่ยมผู้กักตัวและน้ำท่วม

ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านลพบุรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนที่กักตัวที่บ้าน รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้านหลังจากที่ฝนตกหนัก

นายมงคล นาคประเสริฐ กำนันตำบลเขาพระงาม และผู้ใหญ่บ้านที่เป็นตัวแทนชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านเมืองลพบุรี พร้อมด้วยนายประทวน สุทธิอำนวยเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลพบุรี เขต 1 ได้ลงพื้นที่ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี ทั้งนี้เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชนที่บ้านเรือนได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบ้านได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงตามบ้านต่าง ๆ และผู้ที่กักตัวอยู่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 พร้อมกับได้นำถุงยังชีพที่บรรจุเครื่องอุปโภค บริโภค อยู่ภายใน เพื่อเป็นการช่วยลดรายจ่ายให้กับประชาชนที่กักตัวอยู่ที่บ้าน นอกจากนี้ยังได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งนำความห่วงใยและอธิบายในเรื่องของวัคซีนที่อยู่ระหว่างการเร่งฉีดให้กับประชาชนที่ถือว่าเป็นตัวแทนในการสร้างความเข้าใจแทนรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ได้มอบหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือให้กับประชาชนตามบ้านต่าง ๆ และผู้สัญจรผ่านไปมา ซึ่งเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่นำความห่วงใยของทางรัฐบาลและสร้างความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทางหนึ่งด้วย โดยสร้างความประทับใจให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากที่คนไทยไม่ทิ้งกัน (กฤษณพงศ์ อยู่รอด -ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

สร้างบ้านขอพระราชทาน

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 พลตรีอดุลย์ ชมเย็น ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 มอบหมายให้ พันเอก พรชัย นพรัตน์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31/รองกองอำนวยรักษาความมั่นคง​ภายใน​จังหวัดนครสวรรค์ ​(ฝ่ายทหาร) และกำลังพลจิตอาสาชุดก่อสร้างจาก ช.พัน.4 พล.ร.4 ดำเนินการขนย้ายและรับวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ที่ได้รับการบริจาคเพื่อใช้ในการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของ ด.ช.จีรภัทร กรมไธสง ซึ่งเขียนจดหมายขอพระราชทานความช่วยเหลือถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดของบ้าน และปรับปรุงห้องน้ำใหม่ เพื่อให้มีความสะดวกที่ดีขึ้นในการดำรงชีวิตประจำวัน (อุทัย นิ่มสิทธิกุล / นครสวรรค์)

หา รพ.สนาม

ที่ศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ร่วมประชุมกับ ตัวแทนโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย อุทัยธานี กรณีจัดหาพื้นที่เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยมี นายพีระพล ตัณฑโอภาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี สาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัยธานี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนเตียงในโรงพยาบาลสนามจังหวัดอุทัยธานี เหลือไม่มาก ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแบ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อในจังหวัด (สะสม) 53 ราย ผู้ป่วยชาวอุทัยธานีที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด (สะสม) 208 ราย ขณะนี้ยังทำการรักษาอยู่ 204 ราย ทำให้จึงต้องจัดหาพื้นที่ สร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่อาจจะเพิ่มขึ้น (ชนม์สวัสดิ์ ทองโพธิ์งาม /อุทัยธานี )

พัฒนาเมืองกรุงเก่า

ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผังเมือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นางสาวพรรณทิพย์ เปี่ยมพุทธากุล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วย คณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาการประเมินผลผังเมืองรวมชุมชนผักไห่-ลาดชะโด ผังเมืองรวมชุมชนบางบาล-มหาพราหมณ์ และผังเมืองรวมชุมชนลาดบัวหลวง-สามเมือง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมือง

นายภานุ แย้มศรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการทบทวนผังเมืองรวมจังหวัดฯ ที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัด หรืออยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุง และมีบางผังเมืองรวมที่ให้บังคับใช้กฎกระทรวง หรืออยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด ซึ่งได้ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมประเมินความพึงพอใจต่อกฎกระทรวงผังเมืองรวมฉบับที่ใช้บังคับพิจารณาจากร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถาม หากผลสรุปความคิดเห็นพบว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป ไม่พึงพอใจผังเมืองรวม/ชุมชน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการให้มีการปรับปรุง พร้อมระบุผังเมืองรวมชุมชนผักไห่-ลาดชะโด ผังเมืองรวมชุมชนบางบาล-มหาพราหมณ์ และผังเมืองรวมชุมชนลาดบัวหลวง-สามเมือง ไม่มีการปรับปรุงผัง โดยให้บังคับใช้กฎกระทรวงต่อไป(เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ใช้โรงเก็บเครื่องบิน

จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เตียงไม่พอรองรับ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ประสานงานกับ นายสัญญา บุญ-หลง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี สาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานทหาร ภาคเอกชน จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น ใช้โรงเก็บเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 450 เตียง ที่ค่ายลูกเสือเจ็ดคต-โป่งก้อนเส้า อำเภอแก่งคอย และ อบจ.สระบุรี กำลังดำเนินการสร้างอาคารขึ้นอีก 1 หลัง จำนวน 200 เตียง รวมของเดิมเป็น 450 เตียง เพิ่มเตียงผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลพระพุทธบาท อีก 30 เตียง ปรับเป็นจำนวน 3 แห่ง รองรับผู้ป่วยอีก จำนวน 456 เตียง พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งศูนย์พักคอย แยกกักกันในชุมชนและในอำเภอต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังไม่มีอาการ ซึ่งจะสามารถทำให้มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

บริจาคโลหิต

มณฑลทหารบกที่ 13 กำลังพลจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” บริจาคโลหิตให้กับโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงขาดแคลนโลหิต

วันที่ 16 ก.ค.64 พล.ต.ธนสิน สุขโข ผบ.มทบ. 13 ได้จัดกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน มณฑลทหารบกที่ 13 ร่วมกิจกรรม “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” บริจาคโลหิต ณ รพ.พระนารายณ์มหาราช อ.เมืองลพบุรี เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 ตามโครงการ “จิตอาสาร่วมบริจาคโลหิตเพื่อชาติ” ทั้งนี้เพื่อสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนช่วงภาวะขาดแคลนโลหิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนตัวเลขผู้ป่วยจากโรคติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เดินทางมาบริจาคโลหิตลดลง เพราะกลัวความเสี่ยงการติดเชื้อ ขณะที่ทางแพทย์และพยาบาลมีความจำเป็นต้องใช้เลือดในการรักษาผู้ป่วยทุกวัน จึงทำให้โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีจำนวนโลหิตสำรองในคลังหรือธนาคารเลือดลดลงไปอย่างต่อเนื่อง ทางกองทัพบกได้เห็นถึงความสำคัญในกรณีดังกล่าวได้ให้หน่วยทหารทั่วประเทศจัดกำลังพลร่วมบริจาคโลหิตช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้ทางมณฑลทหารบกที่ 13 จึงได้จัดกำลังพลจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” บริจาคโลหิตเป็นการช่วยเหลือประชาชนในยามที่โลหิตขาดแคลน (กฤษณพงศ์ อยู่รอด -ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

50 โครงการ แก้จน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิดำเนินการโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการโดยมหาวิทยาลัยเป็น University System Integrator และจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน ให้เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษกิจชุมชน ให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการ ของชุมชน มทร.สุวรรณภูมิ ทำหน้าที่เป็นหน่วยจ้างงานและประสานงานทำงานร่วมกับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินโครงการภายในพื้นที่ บูรณาการและสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นไม่ใช่เพียงแต่การเข้าไปจ้างงานเท่านั้น แต่ละพื้นที่ จะต้องสร้างผลงานยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เห็นอย่างชัดเจน มหาวิทยาลัยได้นำงานวิจัย อาทิ งานวิจัยด้านการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชน ด้านการพัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานชุมชน กว่า 50 งานวิจัย ขยายผลสู่ชุมชน โดยใช้องค์ความรู้งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมและเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนในพื้นที่บูรณาการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ให้สามารถนำไปสู่การลดความยากจนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน เป็นการส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นตนเอง การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนของชุมชนอย่างยั่งยืน (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

อบจ.มอบสิ่งของ

ที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดนครสวรรค์ (โรงยิมเนเซียม 4,000 ที่นั่ง สนามกีฬาจังหวัดนครสวรรค์) นางสาวชุติพร เสชัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วย พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ นายเชิดพันธุ์ มาศรี นางสุดฤทัย เศรษฐนันท์ รองนายก อบจ. พลตำรวจตรีวิฑูรย์ พร้อมคณะ ร่วมกันนำข้าวของ เครื่องใช้ อาหารกลางวัน น้ำดื่ม มามอบให้ โดยมีนายแพทย์ประวิทย์ สายคุณากร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม ว่าที่ร้อยตรี ปรีชา พลับน้อย ปลัดจังหวัดนครสวรรค์ และนายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ รับมอบสิ่งของ ประกอบด้วยชุดแรกรับผู้ป่วยโควิด เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 อาหารกลางวัน น้ำดื่ม

พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ มีความพร้อมให้การสนับสนุนชุดแรกรับผู้ป่วยโควิด อุปกรณ์และสิ่งของที่จำเป็น เพื่อให้การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ถูกต้องตามหลักวิชาการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งภายในกล่องชุดแรกรับผู้ป่วยโควิด ประกอบด้วย มุ้ง สบู่เหลว ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม ขันอาบน้ำ ผ้าเช็ดตัว ผ้าขนหนูผืนเล็ก ทิซชู ผ้าอนามัย พร้อมกับเครื่องอุปโภค บริโภคอื่นๆ อีกจำนวน 150 ชุด ทุกวัน

นายแพทย์ประวิทย์ สายคุณากร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด ได้ 112 เตียง โดยแบ่งเป็น เตียงผู้ป่วยชาย 56 เตียง เตียงผู้ป่วยหญิง 56 เตียง โดยจะทำการตรวจ X-Ray ผู้ป่วย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารักษาโรงพยาบาลสนามจะเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการวิกฤติ จะส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ สำหรับโรงพยาบาลสนามจะเปิดใช้งานในวันนี้ เวลา 14.00 น. โดยมีผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามจำนวน 25 คน ซึ่งทั้งหมดย้ายมาจากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ (อุทัย นิ่มสิทธิกุล / นครสวรรค์)