จากปรากฏการณ์ควบรวมกิจการของทุน “เจ้าสัว” ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การควบคุมกิจการธนาคาร การควบรวมกิจการค้าปลีก-ค้าส่ง และหลังสุดคือการควบรวมกิจการโทรคมนาคม (โทรศัพท์มือถือ) สะท้อนให้เห็นใน 4 ประเด็นว่า 1.มีช่องว่างของกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคมีความอ่อนแอ แล้วก็ไม่ยอมแก้กฎหมาย ทำให้กลุ่มทุนเจ้าสัวเสียงดังกว่ารัฐบาลทหาร-รัฐราชการ 2.ทำให้เห็นสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยชัดเจนขึ้น ระหว่างกลุ่มทุนต่าง ๆ กับประชาชน
3.กลุ่มทุนมีอำนาจผูกขาดเหนือตลาด ในขณะที่ประชาชนไม่รู้จะไปควบรวมกับใคร เพราะยากจนและไม่มีเครดิต 4. การควบรวมกิจการธนาคาร/ค้าปลีก-ค้าส่ง/โทรศัพท์มือถือ เป็นเรื่องขัดแย้ง และสวนทางกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 61-80) หรือไม่? ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุให้ประเทศบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน
ดังนั้นการประกาศความตกลงร่วมระหว่าง “ทรู-ดีแทค” ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังเป็นที่วิพากษ์ของสังคมอย่างกว้างขวางอยู่ ไม่ว่าเหตุผลในการควบรวมกิจการของค่ายสื่อสารโทรคมนาคมเบอร์ 2 และเบอร์ 3 จะเป็นไปตามที่ผู้บริหารได้ร่วมกันแถลงว่าเป็นความร่วมมืออย่างทัดเทียม Equal Partnership ที่จะจับมือกันก้าวไปสู่การเติบโตใหม่ ๆ ในฐานะ “เทคคัมปะนี” (Tech Company) ขยายขอบเขตไปสู่บริการดิจิทัลที่มองไกลไปถึงเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ ให้สอดประสานกับสถานการณ์โลกที่มีวิวัฒนาการของเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว
แต่คล้อยหลังแถลงการณ์ร่วมของผู้บริหารทรู-ดีแทค ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์อย่างกว้างขวางของผู้คนในสังคม นักวิชาการ ภาคประชาชน ต่างแสดงความเป็นกังวลต่อ “ดีล” ควบรวมที่กำลังจะมีขึ้นที่นัยว่าจะทำให้บริษัทสื่อสารร่วมที่ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งขึ้น ผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยด้วยฐานลูกค้ารวมกว่า 51 ล้านเลขหมาย แซงเบอร์ 1 อย่าง “เอไอเอส” ที่มีฐานลูกค้าอยู่ในปัจจุบัน 43.7 ล้านเลขหมาย ในทันที!
แม้กระทั่งคู่ค้า ซัพพลายเออร์ พนักงาน และลูกค้าของทั้งสองบริษัทยังลุ้นระทึกต่ออนาคตของ 2 ค่ายสื่อสารที่จะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลต่อโฉมหน้าของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ และยังเกี่ยวพันไปถึงอนาคตของคู่ค้า ซัพพลายเออร์ รวมถึงอนาคตการทำงานพนักงานและลูกค้าของทั้งสองบริษัทด้วย จึงก่อให้เกิดคำถามว่า เนื้อแท้แล้วจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวมของประเทศ หรือกำลังฉุดรั้งดึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมถอยหลังลงคลองกันแน่ และประชาชนจะได้รับอานิสงส์ใดที่เป็นรูปธรรมจาก “ดีล” ครั้งนี้
ถอยหลังลงคลอง “รัฐ-ชาวบ้าน” รับเละ!
มุมมองของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แสดงความกังวลต่อ “ดีล” ดังกล่าวว่าไม่ว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องจะเรียกว่าอะไร จะเป็น Equal Partnership หรืออะไรก็ตาม แต่ทางการตลาดคือการควบรวมตลาดโทรศัพท์มือถือไทยที่มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว จะยิ่งมีการผูกขาดมากขึ้นจนถึงระดับอันตราย
เนื่องจากโครงสร้างตลาดที่เหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย จากเดิมที่มีน้อยรายอยู่แล้วคือ 3 ราย นั่นแปลว่าโทรคมนาคมไทยจะถอยหลังลงคลอง ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน ที่มีผู้เล่นเพียงแค่ 2 รายคือ “เอไอเอส-ดีแทค” ซึ่งสภาพการณ์ในห้วงนั้นเป็นอย่างไร ผู้ใช้บริการได้รับการปกป้องดูแลขนาดไหน ทุกฝ่ายรู้กันดี เพราะตลาดที่มีการแข่งขันน้อยลง ผู้ให้บริการมักจะเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ บางค่ายมีการล็อกอีมี่ไม่ยอมให้ลูกค้าย้ายค่าย หรือบังคับซื้อแพ็กเกจพ่วง หรือกว่าจะปรับลดค่าบริการลงได้ ต้องกินเวลานาน เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยให้เกิดสภาพเช่นนั้นอีก คนไทยคงรับไม่ได้แน่
ขณะที่รัฐบาลก็ได้ผลกระทบในแง่ลบด้วยที่เป็นรูปธรรม คือการประมูลคลื่นครั้งใหม่ คลื่น 6 จี 7 จี ในอนาคตจะมีผู้เข้ามาแข่งขันลดลง รัฐจะได้รายได้ลดลง เมื่อรัฐมีรายได้ลด ย่อมมีโอกาสที่จะมีการเก็บภาษีเพิ่มจากผู้เสียภาษีไปโปะการขาดดุลภาครัฐเอาได้ สุดท้ายระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ถ้าเกิดมีการควบรวมในกลุ่มโทรคมนาคม ตัวโครงสร้างพื้นฐานที่มีการผูกขาดเพิ่มขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยที่จะ “ทรานส์ฟอร์ม” ไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลย่อมมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย
กระทุ้ง “กสทช.” ตื่นตัวเสียที!
ทางด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ. )ได้แสดงความเห็นว่าขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาชี้แจงประชาชนให้ชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อการควบรวมกิจการของกลุ่มทุน “ซีพี–เทเลนอร์” ซึ่งทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 52% ถือว่าเข้าข่ายเป็นกิจการที่มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่?
เพราะการควบรวมกิจการครั้งนี้ จะทำให้ผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรกำกับอย่าง กสทช.ควรจะเข้ามาดำเนินการและส่งเสริมให้มีการเพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภค เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเติบโตในตลาดและการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ สอบ.จะจัดทำข้อเสนอไปถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค โดยทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าว ควรมีคำตอบต่อสาธารณะที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะนอกจากจะไม่ให้เกิดการควบรวมแล้วยังควรสนับสนุนให้มีเจ้าใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น และสอบ.จะเร่งทำข้อ
เสนอไปถึงกสทช.ว่าควรจะสั่งห้ามการควบรวมกิจการที่ทำให้อำนาจเหนือตลาดในครั้งนี้
กรณีศึกษาตปท.- ประชาชนจ่ายแพงขึ้น!
แม้แนวโน้มธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกจะมีการควบรวมกิจการมากขึ้น แต่จากการสำรวจพบว่าเกือบทุกประเทศมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 3 ราย จากงานวิจัยของสหภาพยุโรปต่อกรณีควบรวมกิจการที่มีการดำเนินการกันไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าหลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ราคาการให้บริการมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเริ่มต้นที่การควบรวมจาก 5 ราย เหลือ 4 ราย ลดลงมาเหลือ 3 ราย การควบรวมดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงสร้างตลาดและการเปลี่ยนแปลงในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเครือข่ายสัญญาณมือถือ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมีจำนวนผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายของตนเองค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูงในการเข้าร่วมแข่งขันในตลาด
หลังจากควบรวมกิจการโทรคมนาคมในออสเตรีย เยอรมนี ไอร์แลนด์ ช่วงปี ค.ศ.2013-2014 ซึ่งเป็นการควบรวมจาก 4
เหลือ 3 ราย โดยในไอร์แลนด์ ก่อนการควบรวมบริษัท Hutchison และ Telefónica O2 ในปี 2014 ตลาดโทรคมนาคมของไอร์แลนด์ประกอบด้วย 4 ราย โดย Vodafone มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด 39.2% ตามด้วย Meteor 20.2% Telefónica O2 23.3% และ Hutchison 8.9%
แต่หลังการควบรวมทำให้บริษัท Telefónica O2 มีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 32% ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แทน Meteor ผลการศึกษาพบว่า หลังการควบรวมกิจการ ราคาการให้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้ใช้งานทุกประเภท ต่างจากราคาการให้บริการของประเทศในกลุ่มควบคุมที่ไม่มีการควบรวมกิจการที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก
ส่วนในเยอรมนีก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการ 4 ราย โดยมีบริษัทใหญ่ Telekom Deutschland มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 33.8% Vodafone 27% Telefónica 22.4% และ E-Plus 16.7% แต่ในปี 2014 Telefónica ซื้อกิจการของ E-Plus ส่งผลให้ Telefónica กลายเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 37.4% โดยมีข้อตกลงหนึ่งระบุว่า ทางบริษัทจะต้องขาย 30% ของความจุเครือข่ายที่ได้จากการซื้อกิจการให้กับโอปเรเตอร์รายย่อย (MVNOs) ไม่เกิน 3 ราย ก่อนที่การเข้าซื้อกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ ข้อตกลงนี้ส่งผลให้ 3 ปีหลังการซื้อกิจการ ทำให้บริษัทรายย่อยในเยอรมนีมีส่วนแบ่งรายรับมากขึ้นประมาณ 3%
ผลการศึกษาพบว่าหลังการซื้อกิจการ ราคาแพ็กเกจตั้งแต่น้อยถึงมากมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะแพ็กเกจสำหรับผู้ใช้งานน้อย ที่ก่อนหน้าการซื้อกิจการมีราคาต่ำกว่าประเทศในกลุ่มควบคุม เพียงแค่หนึ่งปีหลังการซื้อกิจการ ราคากระโดดขึ้นจาก 10 ยูโร/เดือน เป็น 16 ยูโร/เดือน สูงเกินราคาการให้บริการในประเทศที่ไม่มีการควบรวมและซื้อกิจการ
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อนักวิชาการ และภาคประชาชนออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีพิจารณากรณี “ทรู-ดีแทค” อย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค และต้องไม่ปล่อยให้โครงสร้างของตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นผลกระทบกับประชาชน
หาก กสทช. ไม่สามารถจะใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ได้ ก็ต้องไปดู พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ต้องใช้กลไกตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เข้ามากำกับดูแลไม่ให้เกิดการควบรวม ที่มีลักษณะลดทอนการแข่งขันเพื่อลดจำนวนผู้แข่งขัน ซึ่งไม่ว่าจะมองในมุมไหน ประชาชนผู้บริโภคมีแต่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน.