ก่อนอื่น สิ่งที่พอจะทำได้ในสถานการณ์นี้คือขอส่งแรงใจให้กับบุคลการทางการแพทย์ด่านหน้าที่ทำงานกันจนไม่ได้กินไม่ได้นอน และต้องอยู่กับความเสี่ยง มีความไม่มั่นใจในวัคซีนซิโนแวคที่ถูกเอามาให้บุคลากร และขอส่งกำลังใจให้ประชาชน อวยพรให้คนไหนที่ป่วยจำเป็นต้องได้เตียงเร็วๆ ก็ขอให้รีบได้ คนไหนที่แข็งแรง ไม่แสดงอาการเท่าไร ก็ขอให้ช่วยเพื่อนมนุษย์โดยมาตรการกักตัวที่บ้านไปพลางก่อน
โควิดไม่ใช่โรคที่รักษาไม่หาย ดูอย่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมติดโควิดไม่กี่วันก็ออกมาทำงานได้ แต่มันต้องรู้เร็ว รับยาเร็ว เชื้อมันจะได้ไม่ลงปอด ขณะนี้รัฐบาลก็ฟังเสียงก่นด่าของประชาชนจนยอมอนุมัติให้ใช้เครื่อง rapid antigen test ด้วยตัวเองได้แล้ว ไม่ต้องไปตากฝนเข้าคิวแต่มืดและมีนโยบายเรื่องกักตัวที่บ้านได้ โดยจะมี อสม.ในการส่งยา มีการตรวจผ่าน tele-MED ถ้าเห็นท่าไม่ดี ก็มีระบบรับส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล ..ทำได้ดีที่สุดตอนนี้เท่านี้
สิ่งที่ประชาชนต้องช่วยตัวเองตอนนี้ก็อย่างที่ไกด์ไลน์ของกระทรวงสาธารณสุขออกมา คือเน้นรักษาความสะอาด เชื้อเดลตาที่แพร่ใน กทม.มันแรงและเร็ว ถึงบ้านก็ต้องอาบน้ำ อย่าหยิบจับอะไรมั่ว แล้วอย่าเอามือไปจับหน้า เน้นการรักษาระยะห่างเท่าที่ทำได้ และที่สำคัญคือการรักษาสุขภาพ โรคจะกำเริบเร็วในกลุ่มผู้มีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างความดัน เบาหวาน ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการกิน การเชคอาการโรคไม่เรื้อรังที่เป็นอยู่ด้วย
และสิ่งที่ประชาชนช่วยกันได้อีกอย่างหนึ่งคือการเป็นหูเป็นตาจัดการ “ตลาดล่าง” ที่แปลว่าผู้คน ไม่ใช่สถานที่ ทั่วประเทศแหละ ถ้าเห็นพวกตลาดล่างรวมตัวกันแว๊นเพราะถนนว่าง ก็ต้องแจ้งให้ตำรวจมายึดรถส่งกลับไปกักตัวที่บ้าน หรือกรณีเห็นพวกตั้งวงร่ำสุรากันไม่กลัวโรค ก็แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาสลายวงเสีย เพราะพอเมาก็ไม่ระวังตัวเสียหรอก หรือเห็นคนไม่ใส่หน้ากาก มันก็มีกฎหมายบังคับอยู่ตอนนี้ เข้าไปเตือนหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ได้
แม้จะมีคนยังเชื่อว่า “จริงๆ มาตรการหลายอย่างรัฐบาลเขาเตรียมการจะทำอยู่แล้ว แต่ไม่รู้กัน” แต่ก็มีคนจำนวนมากไม่เชื่อ มองว่า “รัฐบาลนี้ต้องขับเคลื่อนด้วยเสียงด่าแล้ว” คือจะอ้อนวอนร้องขอยังไงพวกก็ยังจะใช้วิธีเดิมๆ พอรุมด่ารุมถาม ก็ค่อยเปลี่ยนนโยบายใหม่ ที่น่าจะฟ้องเรื่องนี้ได้คือการเพิ่งอนุมัติ rapid antigen test ให้ใช้ตรวจเองได้เรื่องนึง และเรื่องวัคซีนอีกเรื่องนึง ที่คนสงสัยกันว่า “ถ้าไม่ด่าคงไม่ได้ตัว mNRA มาใช้ ใช่หรือไม่” จะว่าไปด้อยค่าซิโนแวค ก็เห็นขนาดแพทย์ระดับ น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากสภากาชาดไทย ก็โพสต์ทำนองว่า สำหรับคนที่ต้องเจอเชื้ออยู่บ่อยๆ ( หมายถึงบุคลากรด่านหน้า ) ค่าระดับภูมิคุ้มกันก็ลดอย่างรวดเร็ว จึงเรียกร้องให้ต้อง boost เข็มสามด้วย mRNA
ถ้าเสียงของประชาชนดังไม่พอ ก็ต้องพึ่งเสียงของคนดังในสังคมออกมาช่วย call out ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างที่เราเห็นนายสรยุทธ์ สุทัศนจินดา ผู้ประกาศข่าวชื่อดังออกมาแสดงท่าทีเรียกร้องต่อรัฐบาลบ่อยๆ หรือพวกดารา คนดัง หลายๆ คนก็เริ่มออกมา call out และก็มีแฟนคลับช่วยกันกระจายข้อความของดาราที่ตัวเองชอบออกไปเป็นวงกว้าง เพิ่มการรับรู้ให้ได้มากขึ้นอีก สื่อมวลชนกับคนที่มีฐานะทางสังคมจึงจำเป็นในการ call out ซึ่งนอกจาก call out แล้ว สื่อมวลชนเองก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในการนำเสนออย่างมาก หากไปหยิบประเด็นจากอินเทอร์เนต ในภาวะที่ข้อมูลข่าวสารมีมหาศาล แถมมีทั้งทีมเชียร์ไม่เชียร์รัฐบาล ก็แชร์กันกระหน่ำ วิกฤตการณ์แบบนี้คนหวังพึ่งพาข้อมูลข่าวสารมากต้องถี่ถ้วน
อย่างไรก็ตาม การ call out หรือการนำเสนอเนื้อหาอะไรผ่านสื่อ ( โดยเฉพาะสื่อโซเชี่ยลฯ ) ก็ต้องระมัดระวังด้วยว่า ต้องเป็นข้อเท็จจริง เพื่อไม่สร้างความตื่นตระหนกในสังคมจนเกินไป และต้องระวังเรื่องกฎหมาย เพราะในประกาศ ศบค.ล่าสุดข้อ 11 มันมีออกมาแล้วว่า “มีมาตรการป้องกันการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การนำเสนอข่าวเพื่อทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นใด ที่มีเจตนาให้ประชาชนเกิดความกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร เป็นความผิดตามมาตรา 9 ( 3 ) ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
และที่ผ่านมาเราก็เห็นว่า คนของรัฐบาลบ้าง กองเชียร์รัฐบาลบ้าง ก็ปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์โดยการฟ้องร้อง ตัวอย่างเช่นนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลโดนไปกี่คดีแล้วที่วิจารณ์นายกฯ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ก็โดนคดีที่ไปวิจารณ์วัคซีน มันมีคดีฟ้องเรื่อยๆ ที่ส่วนใหญ่เขาไปฟ้องกันที่ สน.นางเลิ้งข้างทำเนียบรัฐบาลนั่นแหละ มันทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่า ยิ่งฟ้องร้องมากยิ่งแปลว่า รัฐบาลไม่สามารถกู้วิกฤตศรัทธาได้จากการทำงานของตัวเอง ใครวิจารณ์ก็เลยใช้ช่องกฎหมายจัดการเสียเลย
ดังนั้น การรับสื่อช่วงนี้ ถ้าจะเผยแพร่ต่อก็ต้องระวัง วิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ที่ต้องทำความเข้าใจคือประเภทของข่าวปลอม ประกอบด้วย 1.misinformation หรือข้อมูลที่ผิด เป็นความผิดพลาดที่มิได้เจตนาร้าย เช่น บรรยายใต้ภาพผิด แปลผิด สถิติตัวเลขผิด หรือผู้รับสารเข้าใจว่าเรื่องล้อเลียน เสียดสีนั้นเป็นเรื่องจริง 2. Disinformation หรือข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่บิดเบือน เป็นเนื้อหาที่ปั้นแต่งขึ้น หรือจงใจดัดแปลงซึ่งรวมถึงข้อมูลที่เป็นภาพและเสียง และการจงใจปล่อยทฤษฎีสมคบคิดหรือข่าวลือ 3.malinformation หรือข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย เป็นการจงใจปล่อยข้อมูลส่วนตัวที่เป็นความลับของบุคคล หรือองค์กรโดยไม่ได้ทำเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น ปล่อยสื่อลามกเพื่อแก้แค้น รวมถึงการจงใจเปลี่ยนบริบทวันเวลาและข้อมูลให้เกิดความเข้าใจผิด
พิจารณาเนื้อหาเหล่านี้ก่อนที่จะตัดสินใจแชร์ เรามีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขของข้อเท็จจริง ซึ่งแค่วิจารณ์จากข้อเท็จจริงก็เห็นว่า พูดได้ไม่หวาดไม่ไหวแล้ว เอาแค่ขอให้เปิดสัญญาซื้อซิโนแวค สัญญาซื้อและส่งมอบแอสตราเซเนกา ก็ไม่เห็นจะยอมเปิด ก็ไม่รู้ติดเงื่อนไขอะไรมากมาย แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีความโปร่งใสก็น่าจะอธิบายได้ชัดๆ ว่า “ทำไมถึงยังจะซื้อซิโนแวคเพิ่มทั้งที่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ” คำถามนี้เหมือนจะยังไม่เห็นมีใครตอบ ระวังถ้าไม่มีความชัดเจนจะถูกครหาว่ามีนอกมีในเอาง่ายๆ แล้วจะพาให้รัฐบาลพัง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจ ณ วันนี้คือ เรื่องมาตรการเยียวยา หลายกิจการที่ไปต่อไม่รอด ตอนเปิดกิจการก็กู้เงินมา ก็จมทั้งค่าเช่าที่ทั้งค่าดำเนินการ จ่ายไม่ไหวกลายเป็นหนี้เสีย ( NPL ) แล้วสถาบันการเงินก็จะขายให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ แล้ว บบส.ก็จะทวง ถ้าปิดหนี้ไม่ไหว บบส.ก็จะฟ้องศาล บังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาด ซึ่งมันมักจะราคาถูกกว่าที่เขาลงทุนมา ตรงนี้ก็เอื้อให้ “นายทุน” เข้าไปเทคโอเวอร์กิจการได้ราคาถูก
ถ้าเช่นนี้แล้วมันยิ่งขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย รวยกระจุกเล็กขึ้นแต่รวยหนักขึ้น จนกระจายเป็นวงกว้างขึ้น หากโควิดซา นายทุนรวยเอาๆ SMEs ตายเรียบ ..ตรงนี้รัฐบาลต้องพิจารณาแล้วว่าจะทำนโยบายเยียวยาอย่างไรให้ SMEs รอดได้ เพราะ “คำสัญญา” หนึ่งคือแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ มิใช่หรือ ?
…………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”