แม้ตอนนี้มีการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มเบา บาง แต่ วิกฤติตกงาน–ว่างงาน ของแรงงานไทย ก็ยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง และเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งต่อ กลุ่มแรงงานชาวไทย ที่ต้องการจะไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศ ปี พ.ศ. 2565 แรงงานต่างชาติใน 14 อุตสาหกรรม สามารถทำงานอยู่ในประเทศได้ยาวขึ้น พร้อมนำครอบครัวมาได้ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจของแรงงานไทย
ทักษะแรงงานไม่สอดคล้องยุคใหม่
ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้มุมมองถึงเรื่องนี้ว่า ข้อมูลจากสภาพัฒน์พบว่า ตอนนี้มีอัตราว่างงาน 2.25 เปอร์เซ็นต์ สูงมากเมื่อเทียบกับภาวะปกติหลังจากมีวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อกว่า 20 ปีก่อน แม้ตอนนี้เริ่มมีการเปิดประเทศ แต่ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานไทยหลายคนยังอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะเดียวกันบางคนก็ไม่รู้จะเข้ามาสมัครงานที่ไหน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
แต่ปัญหาสำคัญคือ ทักษะแรงงาน ที่ยังไม่สอดคล้องกับการทำงานในยุคใหม่ นี่จึงเป็นภาพสะท้อนในระยะยาวที่ต้องมีการแก้ไขและเพิ่มทักษะของแรงงาน การแก้ปัญหาในระยะสั้นเพื่อให้ตลาดแรงงานเคลื่อนตัวไปได้ รัฐควรสนับสนุนค่าเดินทางให้กับแรงงานในการย้ายถิ่นเพื่อไปหานายจ้าง เพราะหากหน่วยงานรัฐไม่มีการแก้ไขอย่างรวดเร็ว จะทำให้เศรษฐกิจของไทยมีการฟื้นตัวจากปัญหาโควิดที่ช้า เพราะถ้าวิเคราะห์การฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทยตอนนี้จะเป็นรูปตัว “K” โดยธุรกิจที่สอดรับกับยุคสมัยใหม่จะพุ่งทะยานขึ้นไป เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่สามารถส่งออกได้ แต่อีกหลายธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันจะดิ่งลง
ทั้งนี้ ในมุมกลับกันก็มีแรงงานไทยที่รอเวลาเปิดประเทศ เพื่อหวังจะไปทำงานในต่างประเทศ โดยแรงงานกลุ่มนี้เคยไปทำงานในหลายประเทศมาแล้ว ปีหน้ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการเปิดรับแรงงานต่างชาติ ให้อยู่ในประเทศได้ยาวขึ้น และสามารถนำครอบครัวมาอยู่ด้วยได้ เพื่อทดแทนประชากรสูงอายุในญี่ปุ่น จึงเป็นอีกเป้าหมายที่แรงงานไทยเริ่มสนใจมากขึ้น
แต่การไปทำงานในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพอมีกระแสข่าว คนไทยหลายคนก็ตื่นตัวและนึกว่าจะเข้าไปทำงานได้ง่าย ๆ ถ้ามองให้ดีสิ่งเหล่านี้สะท้อนท่าทีของญี่ปุ่นยุคใหม่ ที่เปิดประเทศต้อนรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นเป็นไปได้ยากมากที่จะเปิดรับ แรงงานข้ามชาติ เนื่องจากวัฒนธรรมที่มีความเป็นชาตินิยมสูง เลยทำให้แรงงานต่างชาติมักจะได้รับการยอมรับยาก เพราะถ้าดูปริมาณแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นมีแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์
ญี่ปุ่นไฟเขียว 14 สาขาอาชีพ
รศ.ดร.กิริยา กล่าวต่อว่า ในปี 2565 ญี่ปุ่นจะเริ่ม เปิดรับแรงงาน 14 สาขาอาชีพ ที่จะให้อยู่ในญี่ปุ่นโดยไม่มีกำหนด และสามารถนำครอบครัวมาอยู่ด้วยได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีนโยบายที่ทางญี่ปุ่นมีโครงการฝึกงานในประเทศ 5 ปี โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เมื่อครบตามกำหนดก็จะส่งกลับมาประเทศไทย และมีเงินอุดหนุนแถมมาด้วย ทำให้คนที่กลับมาสามารถมาเปิดกิจการส่วนตัวของตนเองได้
นโยบายการฝึกงานในญี่ปุ่น 5 ปี มีมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการแบ่งแรงงานเป็น 2 แบบคือ กลุ่มที่ทำงาน 5 ปี แล้วต้องถูกส่งกลับมายังประเทศไทย ที่ไม่สามารถนำครอบครัวมาด้วยได้ กับแรงงานอีกแบบที่สามารถอยู่ได้ยาว แต่จะจำกัดว่า ต้องเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมต่อเรือ และก่อสร้าง ที่มีความขาดแคลนอย่างมาก แต่การที่แรงงานจะมาอยู่กลุ่มนี้ได้ต้องมีทักษะที่สูง และต้องผ่านการฝึกงาน 5 ปีมาก่อน ซึ่งจากโครงการนี้ ทางญี่ปุ่นตั้งเป้าว่า จะได้แรงงานเข้าร่วมโครงการประมาณ 300,000 คน แต่พอมาสมัครจริงได้ประมาณ 30,000 คน
เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทางผู้ประกอบการในญี่ปุ่นก็ได้นำเสนอแนะกับหน่วยงานรัฐให้มีการออกนโยบายใหม่ ที่แรงงานต่างชาติสามารถอยู่ในญี่ปุ่นได้ยาวขึ้น ดังนั้นแนวคิดของญี่ปุ่นจะเป็นแบบให้ฝึกงานก่อน โดยเฉลี่ยอายุผู้เข้าร่วมโครงการจะอยู่ที่ 20–30 ปี เมื่อผ่านการประเมินแล้วว่ามีทักษะตามที่นายจ้างต้องการ สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ จะมีการอนุญาตให้แรงงานคนนั้นอยู่ในประเทศได้ยาวขึ้น มาตรการเหล่านี้จึงไม่ใช่ว่าใครจะมาสมัครก็ได้ เพราะญี่ปุ่นเน้นในเรื่องการวัดเกณฑ์เกี่ยวกับภาษาในการสื่อสารก่อน โดยจะมีการสอบวัดความสามารถทางภาษาญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยมักเจอปัญหาในเรื่องภาษาค่อนข้างมาก
อาชีพดูแลผู้สูงอายุ ถือเป็นงานที่คนไทยได้เปรียบกว่าแรงงานประเทศอื่น ๆ แต่ข้อจำกัดของอาชีพนี้คือ ภาษาในการสื่อสาร ที่แรงงานไทยจะต้องมีความรู้ทางภาษาสูงกว่าคนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น เพราะถ้าดูสถานการณ์ของไทยในตอนนี้ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไม่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถ้ามองตลาดแรงงานข้ามชาติในญี่ปุ่น ที่มีมากที่สุดคือ เวียดนาม ที่มีความขยันและมีภาวการณ์แข่งขันค่อนข้างสูง ซึ่งต่างจากแต่ก่อนที่แรงงานจีน และเกาหลีมีมากในญี่ปุ่น ซึ่งแรงงานไทยตอนนี้มีประมาณหมื่นกว่าคน ถือว่ามีปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับแรงงานชาติอื่น
“สิ่งที่แรงงานหลายคนเจอคือ พออยู่มา 1 ปี เมื่อไปต่อวีซ่า จะต้องมีการสอบประเมินเรื่องภาษา ที่ต้องมีผลสอบในระดับที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันหากไปในปีแรก นายจ้างไม่ชอบการทำงาน จะมีการส่งกลับประเทศ ดังนั้นแม้จะเข้าร่วมโครงการ ก็อาจไม่ได้อยู่ครบ 5 ปี ตามที่กำหนดไว้”
แนะภาครัฐควรควบคุมใกล้ชิด
ด้วยนโยบายด้านแรงงานที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศมาที่จะเริ่มใช้ในปีหน้า ก็ยังดูเหมือนเป็นการรักษาท่าที เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ให้สัมภาษณ์ว่า แนวทางเหล่านี้ไม่ใช่การให้วีซ่าแบบถาวร หรือการยอมรับที่จะเป็นพลเมืองของประเทศ ซึ่งกระบวนการรับแรงงานในรอบนี้เขาก็มีกระบวนการที่จะคัดกรอง และสงวนท่าทีอย่างระมัดระวัง ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง ในญี่ปุ่นก็มีนายจ้างที่ดีและไม่ดีอยู่ เพราะถ้าเราติดตามข่าวก็ยังเห็นนายจ้างที่ไม่ดีอยู่ จึงไม่อยากให้แรงงานไทยคิดว่าไปทำงานในต่างประเทศแล้วสบาย เช่น แรงงานในภาคเกษตรที่ต้องทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งในช่วงฤดูหนาวจะค่อนข้างลำบาก หรือในฤดูที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ชั่วโมงที่จ่ายค่าตอบแทนก็จะน้อยลง สิ่งนี้ทำให้แรงงานบางส่วนต้องหนีจากนายจ้าง แล้วกลายเป็นแรงงานเถื่อน
ที่สำคัญญี่ปุ่นจะมีการเก็บภาษีที่ค่อนข้างสูง เพราะเมื่อทำงานขึ้นปีที่ 3 จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นจากเดิม สิ่งนี้จึงทำให้แรงงานไทยหนีหายมากขึ้น เมื่อทำงานได้สักพักก็เริ่มที่จะหนีออกมาเป็นแรงงานเถื่อน ซึ่งต่างจากไต้หวันที่ไม่มีการเก็บภาษีแรงงานเพิ่ม ชีวิตการทำงานในญี่ปุ่นจึงอาจไม่สะดวกสบายเหมือนอย่างในคลิปที่หลายคนรีวิว โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานภาคเกษตรที่ส่วนใหญ่ต้องอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเมือง บางครั้งทางการเข้าไปดูแลไม่ทั่วถึง มีตัวอย่างหลายคนจะถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่ายโดยเฉพาะแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมาย จึงอยากให้มีความระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงแรงงานควรจะเข้ามาช่วยในการควบคุม โดยเฉพาะการกำหนดเพดานค่านายหน้าที่จะนำแรงงานไทยเข้าไปทำงานในญี่ปุ่น
อนาคตแรงงานไทยในญี่ปุ่นจะมีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานรุ่นใหม่ที่มีการปูพื้นฐานด้านภาษา และมีความพร้อมตั้งแต่ตอนเรียน ซึ่งญี่ปุ่นเหมาะกับแรงงานรุ่นใหม่ ๆ ขณะที่แรงงานในกลุ่มอื่น ค่อนข้างจะยากด้วยข้อจำกัด และการแข่งขันจากแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการปูทางไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว.