หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลใจถึงอนาคตของ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่เป็นอีกสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กรุงเทพมหานคร มายาวนานกว่า 105 ปี กันไปต่าง ๆ นานาจนทำให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องออกมา ยืนยันจะไม่มีการทุบ หรือรื้อทิ้งสิ่งปลูกสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือปิดให้บริการแต่อย่างใด ที่สำคัญ รฟท. ยังต้องดำเนินการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนตามนโยบายของรัฐบาล
เส้นทางเชื่อมโยงเมืองเก่า-ใหม่
ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก ประธานสาขาวิชาพัฒนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้สนับสนุนให้ ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ เข้าไปทำโครงการวิจัย เรื่อง การศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ร่วมกับ ผศ.ธิป ศรีสกุลไชยรัก สถาบันอาศรมศิลป์ และ ดร.ภัทร ยืนยง ร่วมกับนักวิจัยจาก 5 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกันดำเนินการวิจัยเพื่อหา ทิศทางอนาคตของหัวลำโพงในศตวรรษใหม่ ทีมวิจัยได้มีความเห็นร่วมกันว่า หากมีการย้ายจากหัวลำโพงไปยัง สถานีกลางบางซื่อ จะทำให้ระบบโลจิสติกส์ มีการเปลี่ยนแปลงการเดินทางของผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ใช้บริการเส้นทางระยะสั้นและระยะยาว ผู้เดินทางประจำและนักท่องเที่ยว ส่วนสถานีกลางบางซื่อ จะเป็น สถานีหลัก หรือ Grand Station ที่รวมระบบขนส่งทุกอย่าง เป็นผลดีต่อระบบการคมนาคมของประเทศ
อย่างไรก็ดีในส่วนสถานีหัวลำโพง ยังคงมีศักยภาพเป็นพื้นที่รวมการคมนาคม สำหรับคนเมืองและนักท่องเที่ยว สามารถเชื่อมโยงทางบก-ทางน้ำ-ใต้ดิน รวมถึงเชื่อมโยงเมืองเก่าและเมืองใหม่ เพราะเป็นศูนย์กลางคมนาคม มีทั้ง ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน รถเมล์ประจำทาง และ เรือในคลองผดุงกรุงเกษม อีกทั้งยังมีศักยภาพให้ รถไฟบางขบวน โดยเฉพาะรถไฟสายตะวันออก เดินรถไฟได้ เพื่อรองรับคนทำงานชานเมือง ลดค่าใช้จ่ายของผู้คนในการเดินทาง และลดจำนวนรถยนต์ที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งมีรูปแบบลักษณะเดียวกับในต่างประเทศ ที่แม้มีการสร้างสถานีหลัก (Grand Station) แห่งใหม่ แต่สถานีเดิมที่อยู่กลางเมืองยังมีรถไฟเข้า-ออก เช่นกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชน นักท่องเที่ยว และทำให้สถานีรถไฟเดิมเป็น พิพิธภัณฑ์แบบมีชีวิต
การใช้ประโยชน์อาคารและพื้นที่ภายใน อาจมีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารและพื้นที่ภายนอกอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งยังมีศักยภาพในการเป็นพื้นที่ใช้สอยครอบคลุมในมิติทางสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สามารถรองรับกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ของคนทุกวัย สามารถสร้างรายได้ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานที่ดูแลสถานี
การประกอบอาชีพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานี ส่งผลกระทบต่อผู้มีอาชีพ หรือหารายได้จากผู้ใช้บริการเดินทางโดยรถไฟ การขนส่ง รวมถึง ชุมชน ผู้ประกอบธุรกิจรอบ ๆ สถานี ซึ่งสถานีหัวลำโพงยังมีศักยภาพในการเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมอาชีพและการประกอบธุรกิจโดยรอบ
โมเดลการอนุรักษ์สร้างคุณค่า
จากการวิจัยแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพง จากกระบวนการวิจัยที่เน้นการสื่อสารสองทาง ผ่านกิจกรรมและการจัดเวทีต่าง ๆ ประชาชนเป็นทั้ง ผู้ร่วมคิด คือ มีส่วนร่วมในการออกแบบในฐานะ ผู้ใช้ประโยชน์ เพราะทุกคนสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ และเป็น ผู้รับผิดชอบ คือเมื่อใช้ประโยชน์แล้วต้องช่วยกันรักษาสมบัติของคนไทยทุกคน ชัดเจนว่า ประชาชนเห็นสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน
โดยเก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 9 ภาคส่วน จำนวนมากกว่า 1,300 คน มีความคิดเห็นประกอบด้วย ระบบโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สถานีหัวลำโพง ที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบลงตัว ทั้งทางบก ทางน้ำ และใต้ดิน สำหรับคนทั่วไปและนักท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร โดยสามารถใช้รถส่วนตัวหรือรถสาธารณะ รถไฟฟ้า BTS รถใต้ดิน MRT ขึ้นลงเรือที่ท่าน้ำคลองผดุงกรุงเกษมที่อยู่บริเวณหน้าสถานีหัวลำโพง รวมถึงสามารถเดินทางด้วยรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะหรือ BTS, MRT ไปยังสนามบินได้อีกด้วย
การใช้ประโยชน์จากอาคารและพื้นที่ในภาพรวม โดยการใช้งานและประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่และอาคารต่าง ๆ ในสถานีรถไฟหัวลําโพง จํานวน 121 ไร่ ที่ได้รับคัดเลือกมาจํานวน 3 แนวคิด ซึ่งแต่ละรูปแบบมีการผสมผสานการแบ่งพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์ อย่างมีส่วนร่วมในสัดส่วนที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีระยะเวลาการคืนทุนที่แตกต่างกัน โดยอยู่ระหว่างช่วง 6-15 ปีดังนี้
แนวคิดที่ 1 เน้นการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ โดยแบ่งสัดส่วนการใช้พื้นที่ออกเป็นพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 30 พื้นที่กิจกรรม ร้อยละ 12 พื้นที่สร้างสรรค์ ร้อยละ 10 พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร้อยละ 30 และพื้นที่อนุรักษ์ ร้อยละ 18 แนวคิดที่ 2 เน้นการพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างเชิงอนุรักษ์และเชิงธุรกิจ โดยแบ่งสัดส่วนการใช้พื้นที่ออกเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 16 พื้นที่กิจกรรม ร้อยละ 18 พื้นที่สร้างสรรค์ ร้อยละ 18 พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร้อยละ 30 และ พื้นที่อนุรักษ์ ร้อยละ 18 และ แนวคิดที่ 3 เน้นพัฒนาเชิงธุรกิจ โดยแบ่งสัดส่วนการใช้พื้นที่ออกเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 12 พื้นที่กิจกรรม ร้อยละ 18 พื้นที่สร้างสรรค์ ร้อยละ 12 พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร้อยละ 40 และพื้นที่อนุรักษ์ ร้อยละ 1
ศูนย์กลางครบถ้วนทุกวงจร
ขณะเดียวกันในเชิงการท่องเที่ยว สถานีรถไฟหัวลำโพง ยังสามารถเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมและการท่องเที่ยวได้โดยการการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวโดยรอบสถานีรถไฟ จากการศึกษาประกอบด้วย 4 เส้นทาง ที่เชื่อมโยงจากสถานีรถไฟหัวลําโพงไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง 4 เส้นทางคือ 1.หัวลําโพง – ถนนเจริญกรุง 2.หัวลําโพง–ชุมชนวัดดวงแข และชุมชนตรอกสลักหิน 3.หัวลําโพง–เยาวราช และ 4.หัวลําโพง–ตลาดน้อย ภายใต้แนวคิด “จากคุณค่าสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยววัฒนธรรมสร้างสรรค์” โดยเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
โอกาสในอนาคตของสถานีหัวลำโพง สมควรจะต้องยกระดับเป็นสถานที่สำคัญระดับสากล เช่น การจัดประกวดแบบในระดับนานาชาติ รวมถึงยกระดับเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น พัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวทั้งแนวนอน และแนวตั้ง ในอาคาร รอบอาคาร และพื้นที่โดยรอบ เป็นพื้นที่ใช้พลังงานทางเลือก ในการประกอบการ เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในการผลิตไฟฟ้าใช้
นับเป็นเรื่องที่น่าจับตายิ่งนัก อนาคตของสถานี สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่อยู่เคียงคู่กรุงเทพมหานคร มายาวนานจะได้รับการพัฒนาแปลงโฉมให้ออกมาได้ตามที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่ !!.