บรรเทาทุกข์
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัด/ประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเชิญสิ่งของพระราชทานของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปมอบให้แก่ นายละอวล อยู่สุข เจ้าของบ้านเลขที่ 19/1 หมู่ที่ 3 ตำบลบางบาล อำเภอบางบาล ที่ประสบอัคคีภัยบ้านได้รับความเสียหายทั้งหลัง ซึ่งมีผู้ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 2 ราย ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปยังอำเภอบางปะอิน เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปมอบให้แก่ นายสำรวญ ยมวรรณ เจ้าของบ้านเลขที่ 35/3 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านพลับ อำเภอบางปะอิน ที่ประสบอัคคีภัยบ้านได้รับความเสียหายบางส่วน ซึ่งมีผู้ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 7 ราย โดยมี นายกฤษณ์ แก้วทองหลาง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสมยศ เกษสุวรรณ นายอำเภอบางบาล นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอบางปะอิน นางสาวนฤมล พงษ์สุภาพ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัด สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยประจำจังหวัด ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ประสบอัคคีภัย รวมบ้านพักอาศัยได้รับความเสียหาย 2 หลังคาเรือน และผู้ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 9 ราย
นายวีระชัย นาคมาศ (นาค-คะ-มาด) กล่าวว่า ด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เชิญสิ่งของพระราชทาน โดยสนองพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชูปถัมภก แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยในความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ให้แก่ผู้ประสบอัคคีอัคคีภัยบ้านได้รับความเสียหาย โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือจัดซื้อเครื่องครัว เครื่องนอน มอบให้กับผู้ประสบภัยเพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยดังกล่าว (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)
เขื่อนของพ่อ
ช่วงเช้าวันที่ 25 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ณ อาคารควบคุมและประมวลผลโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียร รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสุรัช ธนูศิลป์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 10 นายอภิรักษณ์ ศรีสกุลวงษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ว่าที่ ร.ต.ทรงพล แป้นแก้ว นอภ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มผู้ใช้น้ำ ได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งถวายแด่พระสงฆ์ 23 รูปและดำเนินกิจกรรมจิตอาสา พร้อมทั้งทำความสะอาดบริเวณลานพญานาคและรอบๆพื้นที่เขือนป่าสักชลสิทธิ์ โอกาสครบรอบ 22 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อป้องกันอุทกภัยและประโยชน์ต่อเกษตรกร รวมทั้งการอุปโภคบริโภคของประชาชนในลุ่มน้ำป่าสัก ของ จ.ลพบุรี สระบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเริ่มก่อสร้าง เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2537 มีความสูง 36.50 เมตร และความยาว 4,860 เมตร (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)
แสดงความยินดี
อรนุช คูวิจิตรสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลวิหารแดง และลือชัย การุณย์วรวงศ์ ประธานสภาเทศบาลตำบลวิหารแดง พร้อมด้วยชาววิหารแดง ร่วมแสดงความยินดีกับข้าราชการที่เคยผ่านการรับราชการที่อำเภอวิหารแดง จนเป็นที่รักและนับถือ ได้รับการโยกย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ เริ่มที่ท่านวินัย หนูโท ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชุมพร พ.ต.อ.วิชัยนาวิน อนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี พ.ต.อ.โกสิต กาญจนะโกมล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และ พ.ต.ท.วายุภักษ์ วงศ์ศักดิรินทร์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยผู้มีเกียรติร่วมยินดีมากหน้าหลายตาที่บ้านสวน ทิวสน จ.สระบุรี (สมชาติ มานะยิ่งเมต / สระบุรี)
รับมอบข้าวสาร
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับมอบข้าวสาร จำนวน 500 ถุง จาก ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) นำโดย คุณพจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ คุณพรรณี ไม้หอม ผู้การจัดภาคกลาง 2 คุณสุกัญญา ทองนิตย์ ประธานเขต จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่
ในโอกาสเดียวกัน ได้รับมอบกล่องห่วงใยยังชีพ จำนวน 100 กล่อง จากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำโดย นางสาวบงกช แจ่มทวี ประธานสภา พร้อมด้วย นายพูนสุข สุวรรณดี รองประธานสภา และนายสมหวัง ถุงสุวรรณ เลขาธิการสภา เพื่อร่วมสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายวีระชัย ได้จัดสรรไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัย ในอำเภอบางซ้าย และอำเภอลาดบัวหลวง ซึ่งยังมีน้ำท่วมขังอยู่โดยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ในอำเภอบางซ้าย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 ตำบล 22 หมู่บ้าน 1,503 ครัวเรือน และวัดจำนวน 8 วัด ในส่วนพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 ตำบล 15 หมู่บ้าน 2,910 ครัวเรือน โดยสิ่งของอุปโภคบริโภคที่ได้รับในวันนี้ จะมอบให้นายอำเภอบางซ้ายและอำเภอลาดบัวหลวง นำไปแจกจ่ายช่วยเหลือให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบตามรอบต่อไป (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)
งาน “มรดกโลก”
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชิญชวนเที่ยวงาน “ยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก” ครบ 30 ปี ที่ UNESCO ขึ้นทะเบียนอยุธยาเป็นเมือง “มรดกโลก” ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-26 ธันวาคม ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับจัดทำการประกวด “นางสาวอยุธยา” ประจำปี 2564 (Miss Ayutthaya 2021) ด้วยการเฟ้นหาสาวงามแห่งพระนครศรีอยุธยา พร้อมพบกับ Mini Concert จากหมีเอก The Voice Thailand 2019 จึงขอเชิญชวนสาวงาม ส่งรายชื่อเข้าร่วมการประกวด “นางสาวอยุธยา” ประจำปี 2564 (Miss Ayutthaya 2021) โดยจัดประกวดในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 ณ เวทีกลาง ในงานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก ชิงเงินรางวัลชนะเลิศ มูลค่า 50,000 บาท พร้อมมงกุฎ ถ้วยรางวัล และสายสะพาย
สำหรับสาวงามที่สนใจเข้าร่วมการประกวด สามารถเข้ายื่นใบสมัครได้ ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลากลางจังหวัดฯ ชั้น 1 อาคาร 4 ชั้น เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน-8 ธันวาคม 2564 สามารถดาวน์โหลดใบสมัครและระเบียบหลักเกณฑ์ได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/17wWgGfLrYs3e4Jy40kcCyuebXqqAT7Wk?usp=sharing สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สายด่วน 1567 หรือ 0-3534-5689 (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)
ห่วงผู้ใหญ่บ้าน
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ มอบหมายให้ ว่าที่ ร.ต.ปรีชา พลับน้อย ปลัดจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยนายศักดิ์สิทธิ์ ภูมูลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา 1 สำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง นายอำเภอตาคลี ปลัดอำเภอตาคลี นายสมทรง ปานพรม ประธานชุมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอตาคลี และกำนันทุกตำบล ได้เดินทางเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจแก่นายภานุมาต มีใหม่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 23 บ้านหนองเสือ ตำบลตาคลี ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงพยาบาลตาคลี โดยปลัดจังหวัดนครสวรรค์ได้เน้นย้ำว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง และผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มอบหมายให้ที่ทำการปกครองจังหวัด/อำเภอ ร่วมกับสำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ประสานการปฏิบัติในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องทุกคน ทุกข้อหา ทั้งความผิดคดีอาญา ความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งนายภานุมาต มีใหม่ และครอบครัว มีความพึงพอใจ และขอขอบคุณในความห่วงใยของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และจังหวัดนครสวรรค์ (อุทัย นิ่มสิทธิกุล / นครสวรรค์)
รับมือภัยแล้ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมวางแผนเตรียมรับมือภัยแล้ง เพื่อเตรียมแผนในการให้การช่วยเหลือประชาชนในการจัดหาแหล่งน้ำในการอุปโภค บริโภค โดย นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้งจังหวัดลพบุรี ปี 2563-2564 ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 10 อำเภอเมืองลพบุรี ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในช่วงกลางปีที่ผ่านมาจังหวัดลพบุรีมีปัญหาในเรื่องของภัยแล้ง จนทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำอุปโภค บริโภค
ทางจังหวัดลพบุรีได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเร่งจัดหาน้ำไปให้กับประชาชน เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปีน 2563-2564 จึงได้มีการวางแผนในเรื่องของการจัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา แหล่งน้ำที่จะจัดส่งให้ประชาชน รวมทั้งการบริหารจัดการในเรื่องของการเพาะปลูกหรือการทำนา ซึ่งทราบว่าในภาพรวมคาดว่าปริมาณน้ำที่ถือว่าเป็นหลักคือน้ำที่มาจากคลองสายชัยนาท-ป่าสัก โดยที่รับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณเพียงพอเพราะน้ำในเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำมากกว่าในปีที่ผ่านมา รวมทั้งปริมาณน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ในปีนี้สามารถเก็บกักน้ำได้เกินกว่า 100% ของความจุเขื่อน แต่อย่างไรก็ดีในการให้การช่วยเหลือประชาชนก็มีการจัดเตรียมความพร้อมในเรื่องของรถบรรทุกน้ำแจกจ่าย ทั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค หน่วยงานทหาร เพื่อไม่ให้ประมาท ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและเพราะปลูกตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ (กฤษณพงศ์ อยู่รอด / ลพบุรี)
ทุนการศึกษา
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ที่ ห้องปฏิบัติราชการ นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบทุนการศึกษาแก่บุตรข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประจำปี 2564 จำนวน 1 ทุน เพื่อเป็นทุนช่วยเหลือด้านการศึกษา จำนวน 2,000 บาท ให้กับ เด็กชายนฤบดินทร์ จูทอง บุตรของนางสาวนุชนารถ บรรทึก ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดกระทรวงมหาดไทย
โดยกระทรวงมหาดไทย มีความตั้งใจและต้องการให้บุตรของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ ได้รับการศึกษาที่ดี มีจิตใจที่ดีงาม มีความกล้าหาญ กล้าแสดงออก มีความแจ่มใส และมีร่างกายที่ดี ช่วยกันส่งเสริมความภูมิใจ เพราะเรื่องอนาคตของลูกหลานเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ทอดทิ้งกัน รวมทั้งจะสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในครอบครัวต่อไปได้ (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)
Fam Trip
เมื่อเย็นวันก่อน นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในงาน Fam Tip ท่องเที่ยวสร้างสรรค์แอ่วลาวเคล้า-ยวน ณ หอชาวนาโคกนาศัย อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มี นายนิพนธ์ วรรณภักดี พาณิชย์จังหวัดสระบุรี นางดวงเดือน สดแสงจันทร์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี นายสุริยา บุญเรือง ยศศิริ พัฒนาการจังหวัดสระบุรี นางสาวพัชรา สุคันธี ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสระบุรี หัวหน้าหน่วยงาน ภาคเอกชน คณะชมรมภาคีท่องเที่ยวไทย ผู้เข้าร่วมงานพิธี โดยมี นางกฤษณา พิทยาบุตร ประธานชมรมแอ่วลาวเคล้า-ยวน และนางสาววนิดา ศรีเม่น รองประธานชมรมฯ พี่น้อง ไท-ยวน เสาไห้ ให้การต้อนรับ
ในงานดังกล่าว ดร.วิลาศ เทพทา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีลพบุรี ร่วมพัฒนาการท่องเที่ยว งาน Fam Trip ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ กล่าวว่า งานแอ่วลาวเคล้า-ยวน ในจังหวัดสระบุรี มีทุนทางสังคมด้านการท่องเที่ยวที่มีจุดขายทาง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ กาท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของภูมิภาคภาคกลาง โดยสามารถรักษาแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชีวิตในสภาพเดิมอย่างต่อเนื่อง ชุมชนท้องถิ่นมีการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนามาตรฐานทรัพยากรมนุษย์และมาตรฐานการบริการ สำหรับการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวส่งผลให้มาท่องเที่ยวยังจังหวัดสระบุรี อย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ ทุกภาคส่วน ต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดี และมีการสร้างเครือข่ายร่วมกันคิดเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของจังหวัดสระบุรีต่อไป (วิรัตน์ เดชะวราฤทธิ์ / สระบุรี)
งานกินปลา
วันแรกของการเปิดให้จองร้านขายของในงานเทศกาลกินปลาและของดีเมืองสิงห์ ครั้งที่ 27 ที่จะจัดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าตอนรับปีใหม่ มีประชาชนชาวสิงห์บุรีกว่า 200 คน เดินทางมาจองคิว รอลงทะเบียนเปิดร้านขายของ ตามที่จังหวัดสิงห์บุรีประกาศให้ประชาชนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป ที่เป็นคนสิงห์บุรี มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรี ได้มีส่วนร่วมในงานโดยให้มาร่วมขายของในงานฟรี จำนวน 200 บูธ นอกจากร้านค้าที่เปิดรับจองจำนวน 200 บูธ ในงานเทศกาลกินปลาของดีเมืองสิงห์ ที่จะจัดขึ้นก็ยังสินค้าของดีเมืองสิงห์บุรี สินค้า OTOP มาจำหน่ายอีกจำนวน 155 ร้านค้า และยังมีร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดสิงห์บุรี มาจำหน่ายในบริเวณถนนสายปลา และซุ้มอาหารอีกเกือบ 100 ร้านค้า
สำหรับงานเทศกาลกินปลาของดีเมืองสิงห์ ครั้งที่ 27 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2565 จัดที่บริเวณศูนย์ราชการ ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี จัดเป็นเวลา 10 วัน 10 คืน กลางวันจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การสาธิตการทำอาหาร การแข่งขันจับปลา ส่วนกลางคืนก็จะมีการแสดงดนตรี การแสดงลิเก การแสดงพื้นบ้าน สินค้าที่ไปจำหน่ายในงานการันตีได้ว่าราคาถูกแน่นอน ร้านค้าทั้งหมดไม่เสียเงินค่าที่ ไม่มีค่าน้ำค่าไฟ ตลอดงาน ท่านใดสนใจก็เชิญไปเที่ยวกันได้ (อำนาจ อยู่เย็น / สิงห์บุรี)