ความยืดเยื้อการชุมนุมของ กลุ่มนักศึกษา นักเรียน เยาวชน และประชาชน ที่ออกมาขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีเต็ม ๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันยังคงมีความเคลื่อนไหวเช่นเดิม และที่น่าเป็นห่วงนอกจาก บรรดาแกนนำ จะถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว ผู้ชุมนุม ก็ถูกจับด้วยโดยเฉพาะ กลุ่มนักศึกษา-นักเรียน และเยาวชน ซึ่งถูกหน่วยงานรัฐ ทยอยติดตามจับดำเนินคดีและไล่ฟ้องเพื่อเอาผิดต่อเนื่องไม่หยุด
วอนต้องคำนึงสิทธิเด็ก–เยาวชน
สัปดาห์ก่อน ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยถึงปัญหานี้กับทาง น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็มีความห่วงใยจะกลายเป็นอีกบาดแผลที่ฝังลึกในกลุ่มเยาวชนอนาคตของชาติ ล่าสุดได้ติดตามสอบถามข้อมูลจาก น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ดูแลคดีความของผู้ชุมนุมทางการเมืองที่เป็นเยาวชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีเยาวชนที่ให้ความช่วยเหลือ 254 คน คิดเป็น 160 คดี โดยมีคดีเยาวชนที่เป็นแกนนำ 50 คน แต่พอมีม็อบทะลุแก๊ส ก็มีเยาวชนที่ถูกตั้งข้อหาจากการชุมนุมจำนวนมากขึ้น
ภาระทางคดีที่มีต่อเยาวชนที่ร่วมชุมนุม ควรจะต้องมีการแก้ไขในทางของกฎหมายตั้งแต่ตำรวจ อัยการ มีอำนาจในการสั่งคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ที่ต้องคำนึงถึงการปกป้องคุ้มครอง และประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งจะมีความผูกพันกับการทำหน้าที่ของตำรวจและอัยการด้วย เพราะอัยการก็มีระเบียบในการสั่งคดีว่า ถ้าคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มีอำนาจที่จะไม่สั่งฟ้องคดีได้ และยิ่งในกรณีของเยาวชนที่มาร่วมชุมนุมมีทางออกหลายทางเช่น เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก และระเบียบการสั่งการคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งสามารถให้เข้าสู่กระบวนการอบรม ตักเตือน หรือนำเด็กและผู้ปกครองมาทำกิจกรรมร่วมกัน แต่รัฐกลับเน้นการสั่งฟ้องทำให้เป็นโทษต่อตัวเยาวชน
รัฐไม่ได้ใช้อำนาจ หรือเครื่องมือที่มีอยู่ในการสร้างความประนีประนอมในคดีการชุมนุม ซึ่งการที่เยาวชนออกมาชุมนุมก็เพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองจึงควรมีการพิจารณาเป็นรายกรณี และวิเคราะห์ถึงเจตจำนงการออกมาชุมนุมที่ทำภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าอยู่ในกรอบ แม้มีกฎหมายเฉพาะห้ามชุมนุมในช่วงโควิดฯ แต่ก็มีอำนาจในการพิจารณาโดยคำนึงถึงอายุ เพราะไม่คุ้มเลยที่จะลงโทษเด็กพวกนี้ ที่จะเติบโตต่อไปต้องมีคดีติดตัว ดังนั้นการไม่ดำเนินคดีต่อเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เข้าร่วมชุมนุม จะเป็นเรื่องดีต่อเด็กที่โดนคดีขณะนี้กว่า 200 คนจะได้กลับไปสู่ชีวิตปกติ
ห่วงบาดแผลในใจอนาคตของชาติ
น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวต่อว่า รัฐเน้นใช้กฎหมายปราบปรามโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์อื่น ๆ เยาวชนที่ออกมาชุมนุมหลายคนถูกจับกุมด้วยความรุนแรง จนมีความบาดเจ็บทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น เด็กบางคนถูกเจ้าหน้าที่ถีบรถมอเตอร์ไซค์จนล้ม หรือบางรายนั่งอยู่บนแท็กซี่แล้วมีเจ้าหน้าที่เปิดประตูมานั่งประกบ แล้วให้ไปส่งยังพื้นที่ควบคุมตัว ถือว่ากลายเป็นบาดแผลในใจเด็ก เพราะโดยหลักสากลจะต้องจับกุมเยาวชนโดยละมุนละม่อม หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมม็อบทะลุแก๊ส เจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้กำลังกับผู้ชุมนุมโดยไม่เลือก เพราะเยาวชนบางคนที่ไปชุมนุมก็ไม่ได้มีพฤติกรรมที่รุนแรง บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ควรพิจารณาการจับกุมอย่างเหมาะสม
การที่เยาวชนคนนึงถูกจับกุมดำเนินคดีในการเข้าไปร่วมชุมนุม จะต้องสูญเสียทั้งเวลาและเงินค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ครอบครัวจะต้องมาที่โรงพัก จากนั้นตำรวจจะพาไปศาล และจะต้องเดินเรื่องประกันตัว พอประกันออกมาได้แล้ว วันรุ่งขึ้นต้องไปสถานพินิจก่อนที่จะกลับมาศาลอีกรอบ เพื่อมาพบนักกฎหมาย และนักจิตวิทยาของศาล พอมีสอบปากคำเพิ่มเติมก็ต้องเดินทางมาพบตำรวจต้องเดินทางมาสู้คดีอีกหลายรอบในกรณีที่เยาวชนสมัครใจจะสู้คดี แต่ถ้ายอมรับสารภาพ ขั้นตอนต่าง ๆ จะลดลง ซึ่งนี่เป็นอีกปัญหาใหญ่
“เยาวชนที่ต้องการต่อสู้คดีเขาต้องการยืนยันถึงจุดยืนที่ทำว่ามันถูกต้อง แต่สิ่งนี้กลายเป็นราคาที่ต้องจ่าย และต้องสูญเสียหลายสิ่ง แทนที่จะได้ไปค้นหาความรู้ หรือศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่กลับต้องมาเสียเวลาเพื่อต่อสู้คดีที่ใช้เวลานาน”
โดยเฉลี่ยเยาวชนที่ร่วมชุมนุมเมื่อถูกดำเนินคดีต้องเดินทางไปศาลและพบเจ้าหน้าที่ไม่ต่ำ 10–20 ครั้ง เฉพาะในชั้นอัยการ ซึ่งถ้าไม่มีองค์กรอิสระคอยช่วยเหลือในการดูแลคดี ครอบครัวจะต้องสูญเสียเงินในการจ้างทนายในคดีนี้จำนวนมาก เพราะการเดินทางของเยาวชนจะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายประมาณะ 2,500 บาท/ครั้ง ซึ่งประมาณค่าใช้จ่ายนี้เฉพาะการเดินเรื่องในกรุงเทพฯ แต่ถ้าการต่อสู้คดีในต่างจังหวัด จะมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่านี้ ถึงแม้ภาครัฐจะมีที่ปรึกษากฎหมายให้ฟรี
แนะภาครัฐควรยื่นมือช่วยมากกว่านี้
ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวด้วยว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเข้ามาช่วยเหลือเยาวชนเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะรัฐมีทั้ง กองทุนยุติธรรม หรือ องค์กรที่เกี่ยวกับเด็ก ควรจะเข้ามาช่วยเหลือให้มากขึ้น เพื่อให้เยาวชนสามารถต่อสู้คดีได้อย่างถึงที่สุด เพราะปัจจัยทางด้านรายได้ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้พ่อแม่ ไม่อยากให้ลูกต่อสู้คดี แม้ลูกจะยืนยันอยากจะต่อสู้คดี ว่าเขาไม่ได้ทำผิด หรือสิ่งที่กระทำไม่ได้มีมากเท่าที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา เนื่องจากเยาวชนบางคนแค่ออกไปร่วมแสดงออกโดยการชุมนุม แต่ถูกกล่าวหาไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นจึงอยากจะสู้คดี แต่ครอบครัวมีปัญหาด้านรายได้ และประเมินแล้วว่าหากยอมรับสารภาพ จะสามารถเข้าสู่มาตรการพิเศษได้ โดยไม่ต้องไปลุ้นว่า ผลของการต่อสู้คดีจะเป็นอย่างไร ซึ่งการยอมรับสารภาพคดีจะจบเร็วกว่า และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
“คดีเยาวชนที่เข้าไปร่วมชุมนุม การช่วยเหลือมักจะไปอยู่ในกระบวนการรับสารภาพและสำนึกผิด เช่น คดีไปชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก. จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ถ้าหากพ่อแม่ของเด็กมีความประสงค์จะให้รับสารภาพ เขาจะสามารถเข้ามาตรการพิเศษแทนการฟ้องคดีอาญา โดยจะต้องเข้ากระบวนการก่อนการฟ้อง ซึ่งจะมีกระบวนการสำนึกผิด และปฏิบัติตามแผนที่สถานพินิจกำหนด โดยเยาวชนจะต้องทำได้ตามแผนก่อน ถ้าทำได้ตามแผนจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีที่มีโทษไม่เกิน 5 ปี แต่คดีที่มีโทษเกิน 5 ปี เช่น มาตรา 112 จะต้องถูกฟ้องไม่มีสิทธิที่จะเข้ามาตรการช่วยเหลือก่อนฟ้องได้”
สิ่งนี้ทำให้มีเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุม ต้องยอมรับผิดเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกจับในม็อบทะลุแก๊ส ส่วนใหญ่ทางครอบครัวก็ไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่ดี หรือบางคนต้องออกจากระบบการศึกษา เพื่อมาทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ถ้าหากตัวเองถูกจับหรือสู้คดี ก็อาจจะต้องสูญเสียรายได้ในเวลาที่มาพบเจ้าหน้าที่
สิ่งสำคัญที่ศูนย์ทนายฯพยายามรณรงค์มาตลอดคือ รัฐจะต้องยุติการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่จะต้องอยู่ในเงื่อนไข ที่กฎหมายเปิดช่องให้องค์กรต่าง ๆ ทำได้ เพราะบางคดีพฤติกรรมกระทำผิดไม่มาก กลับมีการตั้งข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริง ควรดำเนินคดีตามข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่ชัดเจน ถ้ามองจากแนวโน้มของคดีรัฐยังเน้นการปราบปรามแม้จะไม่มีการจับ แต่ก็ยังออกหมายเรียกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาอยู่ตลอด จนปัจจุบันทำให้มีเยาวชนยังคงถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน โดยไม่ได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก.