ช่วงนี้เราอาจจะคุ้นหูกับ “คริปโต” หรือคำเต็ม ๆ คือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุนในขณะนี้ แต่เมื่อพูดถึงคริปโตมักเชื่อมโยงกับเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์  (Bitcoin) ทั้งที่ยังมีคริปโตอีกหลายสกุลเงินที่ได้รับความนิยม เช่น อีเธอเรียม-ลิตคอยน์-ริปเปิ้ล-ไบแนนซ์-การ์ดาโน-ริปเปิ้ล (เอ็กซ์อาร์พี)-โดชคอยน์ โดยคริปโตสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินปกติได้ แต่ต้องซื้อ-ขาย แลก-เปลี่ยนผ่านโบรกเกอร์ที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ราคาผันผวนตามข่าวคาดเดาค่อนข้างมาก

ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ว่า โดยส่วนตัวไม่ได้ลงทุนในคริปโต แต่ต้องศึกษาหาความรู้เพื่อนำไปสอนหนังสือ ซึ่งในปัจจุบันมีความรู้สึกว่าตัวเหรียญต่าง ๆ มีคนแห่เข้าไปเทรด (ซื้อมา ขายไป) เก็งกำไรกันมาก โดยไม่มีพื้นฐานมาอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของราคาขึ้น ๆ ลง ๆ ในขณะที่ราคามีความผันผวน ขึ้น-ลง 10-20% ตามความเชื่อ และกระแสข่าวดี ข่าวเทคโนโลยีใหม่ ๆ และข่าวไม่ดี บางครั้งคน ๆ เดียวอย่าง “อีลอน มัสก์” แค่ทวีตเตอร์ข้อความบางเรื่อง ก็สามารถปั่นราคาคริปโตพุ่งขึ้นได้

แต่พอมีข่าวว่าทางการจีนสั่งขยายการกวาดล้างเหมืองขุดเงินคริปโตในประเทศ ราคาก็ตกลง ดังนั้นความผันผวนของคริปโตจึงขึ้นอยู่กับข่าว และการคาดเดาค่อนข้างมาก ไม่เหมือนการเล่นหุ้น การขึ้น-ลงของราคาหุ้น จะมีเหตุและมีปัจจัยรองรับที่ชัดเจนกว่า เช่น บริษัทนี้มีผลประกอบการดี มีกำไร มีเงินปันผลสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารมีความรู้ มีความสามารถ ราคาหุ้นจึงพุ่งสูง แต่ราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ผันผวนในระดับ 10-20% และถ้าผันผวนมาก ก.ล.ต.จะเข้ามาดู

“การเล่นหุ้นยังมีความเสี่ยง! แล้วอะไรที่ไม่มีพื้นฐานมาอธิบายเรื่องการขึ้น-ลงของราคา ดังนั้นความเสี่ยงจึงมีแน่นอน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคริปโตสกุลนั้น ๆ ควรมีราคาเท่าไหร่ แตกต่างจากการซื้อบ้าน 1 หลัง แถว ๆ สุขุมวิท กับบ้าน 1 หลังในชนบท เราสามารถเอาปัจจัยเรื่องราคามาบอกได้ว่าบ้านที่สุขุมวิทควรจะเป็นเท่าไหร่ ควรจะถูกหรือแพงกว่าบ้านในชนบท หรือแม้แต่การซื้อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ราคาควรเป็นเท่าไหร่ มันอยู่ที่คุณค่า (สเปก) ของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ในขณะที่คริปโตราคาผันผวนขนาดไหน อยู่ที่ความตกใจของตลาด ยังไม่มีความแน่นอน เพราะแต่ละเหรียญมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน เนื่องจากผูกติดกับแต่ละเทคโนโลยี บางเหรียญสร้างง่าย ๆ มั่ว ๆ แต่คนสนใจ ราคาก็ขึ้น”

ยังถกเถียงกันเรื่องปัญหาฟองสบู่

ผศ.ดร.วรประภา กล่าวต่อไปว่ากระแสของการลงทุนในคริปโต จะทำให้เกิดปัญหา “ฟองสบู่” ตามมาหรือไม่นั้น? ยังตอบชัดเจนไม่ได้ เพราะกำลังถกเถียงกันอยู่ และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีของปัญหาการ “ฟอกเงิน” แต่ต้องดูที่เจตนา แม้จะไม่มีคริปโต ก็มีปัญหาเรื่องการฟอกเงินอยู่แล้ว เพราะในสังคมมีทั้งคนที่ทำธุรกิจดี ๆ ก็มี ธุรกิจไม่ดีก็มี โดยส่วนตัวไม่ได้สนใจเรื่องการขึ้น-ลงของราคาคริปโตมากนัก แต่สนใจในเรื่องเทคโนโลยีมากกว่า เช่น คริปโตสกุลนี้สามารถต่อยอดเทคโนโลยีไปทำอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย ไฟแนนซ์ และโลกเสมือนจริง (Metaverse) ในรูปแบบต่าง ๆ

“แน่นอนว่ามูลค่าตลาดคริปโตในประเทศไทยคงใหญ่มาก เนื่อง จากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ลงมาเล่นด้วยแล้ว แต่มูลค่าเป็นเท่าไหร่ยังไม่ชัวร์ เพราะ ก.ล.ต.คงมีข้อมูลตัวเลขเฉพาะที่เทรดผ่านโบรกเกอร์ที่ได้การรับรองจาก ก.ล.ต. ในขณะที่มีคนไทยอีกมากไปเทรดกับต่างประเทศ ซึ่งหลายคนเป็นห่วงว่าคนที่เข้ามาเทรดคริปโตเป็นคนรุ่นใหม่ ๆ และอายุน้อย ในประเด็นนี้อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าผู้สูงวัย ขณะเดียวกันก็ใช้เงินลงทุนไม่สูง เพื่อเข้าไปหาโอกาสสร้างรายได้ แต่ก็มีความเสี่ยง ดังนั้นคนที่เข้าไปลงทุนตรงนี้ ควรเป็นคนทำงานมีรายได้แล้ว เอาเงินเย็นมาลงทุน ถ้าเสียหายขึ้นมาก็ไม่มีผลกระทบกับชีวิต พูดง่าย ๆ ควรเอาเงินเหลือ หรือเอาเงินบริจาคมาลงทุนในคริปโต ถ้าเสียหายก็ไม่เดือดร้อน ถือว่าเป็นเงินบริจาค โดยส่วนตัวอยากเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลการลงทุนในคริปโต เนื่องจากอาจมีปัญหาเฉียด ๆ กับ 3 หน่วยงาน คือ ธนาคารแห่งประเทศ ไทย-ก.ล.ต.-ปปง. ดังนั้นจึงควรมีคณะกรรมการชุดพิเศษ (บอร์ดพิเศษ) ที่มีตัวแทนจาก 3 หน่วยงานนี้ เข้ามาดูแลเรื่องเงินดิจิทัลโดยเฉพาะ” ผศ.ดร.วรประภา กล่าว

มีเรื่องเฟคๆแต่ปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้

ทางด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบันตลาดคริปโตมีความเชื่อมั่นที่สูงมาก เพราะมีคนเอาไปใช้เป็นสกุลเงินจริง ๆ เช่น อีเธอเรียมมีธุรกิจที่รองรับจริง ๆ ขณะที่บิตคอยน์กำลังได้รับความเชื่อมั่นสูงมาก เนื่องจากบริษัทใหญ่ ๆ มีการนำไปใช้เป็นสกุลเงิน ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาก็มีตู้เอทีเอ็มบิตคอยน์

ปัจจุบันหุ้นที่มีการซื้อ-ขาย อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีอยู่ 1 ล้านกว่าบัญชีเท่านั้น ทั้งที่เปิดตลาดหุ้นมาหลายสิบปี แต่ปัจจุบันคริปโตมีล้านกว่าบัญชีเข้าไปแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เทรดเป็นมูลค่า/ครั้ง มากมายเหมือนการเล่นหุ้น แต่มีความถี่ในการเทรดมาก เช่น เข้าเช้า ออกเช้าแก่ ๆ เข้าบ่าย ออกบ่ายแก่ ๆ เข้าเย็น ออกค่ำ เข้าค่ำ ออกเที่ยงคืน หมุนเวียนกันไม่รู้กี่รอบ เพราะมันคือ 7 วัน วันละ 24 ชั่วโมง แล้วของอะไรที่ “เฟค” มันก็มี แต่กรณีของบิตคอยน์วันนี้ได้รับความเชื่อมั่นสูงมาก เพราะมีการเอาไปใช้เป็นสกุลเงินจริง ๆ ยกตัวอย่าง “แสนสิริ” ก็ให้ลูกค้าเอาบิตคอยน์มาซื้อบ้านไปแล้วประมาณ 10 ยูนิต มูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

“วันนี้เทคโนโลยีมันไปแล้ว เราฝืนอะไรฝืนได้ แต่ฝืนเทคโน โลยีไม่ได้ คุณต้องเข้าใจว่าปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป เขามีกันหมดแล้ว ถ้าจะบอกว่าเป็นความเสี่ยง! หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับต้องเข้ามาดู คุณต้องดูแลปกป้องคนที่มีทุนทรัพย์น้อย แล้วถูกดูดเข้าไปในกระแส ไม่ว่าจะเป็น ปปง.–ก.ล.ต.-ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องควบคุมให้อยู่ในกรอบ ตั้งแต่เรื่องการเปิดบัญชีเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย จะเทรดผ่านโบรกเกอร์รายไหนก็แล้วแต่ ไม่ใช่ใส่เงินเข้าไปแล้ว เงินหายหมดเลย กลายเป็นศูนย์ อันนี้เรื่องใหญ่”

นายเศรษฐากล่าวต่อไปว่าไม่ว่าจะเป็นบิตคอยน์ หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ที่ได้รับการเชื่อมั่นสูง มันเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินของผู้คนเยอะมาก ที่ผ่านมาบิตคอยน์ทะยานขึ้นไปเท่าไหร่แล้ว 2.2-2.3 ล้านบาท ราคาขึ้นขนาดนี้มีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นทุกวัน เด็ก ๆ ที่เทรดเรื่องพวกนี้ มีเงินกันเยอะมาก มีการจับจ่ายใช้สอยกันอย่างมโหฬาร

เมื่อก่อนใครจะเข้าตลาดหุ้น คุณต้องมีเงินเป็นแสนบาท เป็นล้านบาท แต่คริปโตมันไม่ใช่! แค่มีเงินหลักพัน หลักหมื่นก็เข้าไปซื้อ-ขาย
ได้แล้ว คนเมียนมาที่บ้านของตนก็เข้าไปเทรด ลูกของเพื่อนอายุ 13 ปีก็เทรดโดยใช้บัญชีคนรถ พนักงานแสนสิริจำนวนมากก็เข้าไปเทรดคริปโต ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับบริษัทนะ แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา บางวันได้ 300-500 บาท ก็พอใจกันแล้ว

น่ากลัวอย่าโลภ! รัฐต้องดูแลเข้มงวด!

สรุปคือเทรดกันทั้งนั้น แต่ถามว่าน่ากลัวหรือเปล่า? : ก็ต้องตอบว่าน่ากลัว! เพราะอาจมี “ความโลภ” เกิดขึ้น เดี๋ยวจะเอา “เงินออม” ทั้งหมดมาใส่ตรงนี้ ซึ่งไม่ควรทำแบบนั้น ดังนั้นภาครัฐต้องมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้าเจ๊งขึ้นมาเพราะราคาผันผวนขึ้น-ลง นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเข้าไปเทรด เอาเงินใส่เข้าไป  1 ล้านบาท รุ่งขึ้นอีกวันเงินหาย กลายเป็นศูนย์บาท นั่นคือเรื่องใหญ่มาก

ต้องยอมรับว่าคุณอาทิตย์ (อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอ SCB) เป็นคนเก่งในสายตาของตน และน่าจะเป็นซีอีโอแห่งปี เพราะคุณอาทิตย์เป็นคนดิสรัปชั่น คือมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ ๆ การที่ SCB เข้าไปถือหุ้นใน “บิทคับ” ด้วยสัดส่วน 51% คิดเป็นมูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องที่ดี และถือเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของแสนสิริอย่างหนึ่ง เพราะแสนสิริก็ลงทุนในเอ็กซ์สปริง ทำเรื่องคริปโต ทำบิตคอยน์ด้วยเหมือนกัน ต้องถือว่า SCB เขาเก่ง เข้าไปร่วมกับบิทคับก่อนใครเลย แล้วหลังจากนี้คนที่จะเทรด ควรไปเทรดที่ไหน ตลาดไหน?

“ถ้าเป็นผมก็ต้องไปเทรดกับบิทคับ เพราะมี SCB ถือหุ้น ถ้าไปเทรดกับบิทคับแล้วเงินหายไป SCB ตายนะ! คุณฟ้อง SCB ได้เลย อันนี้คือคนให้ความยอมรับกันมากขึ้น ปัจจุบัน SCB ยอมรับคริปโตแล้ว สุดท้ายธนาคารอื่น ๆ ก็ต้องเดินตาม เพียงแต่จะทำในรูปแบบไหน กับใคร นั่นอีกเรื่องหนึ่ง เดี๋ยวพรุ่งนี้เทสล่ายอมรับให้เอาบิตคอยน์มาจ่ายซื้อรถยนต์ ต่อไปอะเมซอนยอมรับ รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ ๆ ยอมรับการทำธุรกรรมกับคริปโต แล้วคุณจะปฏิเสธได้อย่างไร” นายเศรษฐากล่าว.