“ละครสัตว์การเมือง” และ “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในวงการเมือง” ถือเป็น “สัจธรรม” ที่ชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยยอมรับ สะท้อนความเเหนื่อยหน่ายกับสถานการณ์ และความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศของตัวเองได้เป็นอย่างดี บรรยากาศที่ชาวฟิลิปปินส์จะได้พบเจอตลอดครึ่งปีนับจากนี้ จนกว่าจะวันลงคะแนน คือ 9 พ.ค.ปีหน้า นั่นคือนักการเมืองทุกระดับกระจายกันลงพื้นที่ทั่วประเทศ พยายามหว่านล้อมโดยใช้ทุกวิถีทาง เพื่อให้ประชาชนทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้ง ให้กับตัวเอง หรือผู้สมัครร่วมพรรคที่ตัวเองช่วยหาเสียงให้
ตราบใดที่ปัญหาปากท้องยังไม่ได้รับการแก้ไข และคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิมมากนักจากเมื่อ 6 ปีก่อน สำหรับชาวฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่ง “ใครเป็นประธานาธิบดีก็ไม่ได้แตกต่าง” แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็น “โอกาสทอง” ของสองตระกูลใหญ่ทางการเมืองในฟิลิปปินส์ ทั้งเพื่อการรักษาอำนาจ และการกลับมาครองความยิ่งใหญ่
การผนึกกำลังระหว่างตระกูลมาร์กอสกับตระกูลดูเตร์เต เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วทุกหัวระแหง สำหรับฝ่ายสนับสนุน นี่คือการรวมตัวของ “ดรีมทีม” แต่สำหรับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น “คือฝันร้าย”
สำหรับชาวฟิลิปปินส์ ไม่มีใครไม่รู้จักนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” วุฒิสมาชิกวัย 64 ปี ที่ชื่อและนามสกุลบอกชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเป็นบุตรชายหัวแก้วหัวแหวน ของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ผู้ล่วงลับ กับนางอีเมลดา มาร์กอส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกเช่นเดียวกับบุตรชาย แต่กำลังเผชิญกับการถูกฟ้องร้องคดีคอร์รัปชั่น
อนึ่ง รายงานของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) ระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่มาร์กอสปกครองฟิลิปปินส์ ระหว่างเดือน ธ.ค. 2508 จนถึงเดือน ก.พ. 2529 มีการทุจริตระหว่าง 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 162,950-325,900 ล้านบาท ) และในเวลาเดียวกันมีผู้เสียชีวิตจาก “การประหารชีวิตแบบรวบรัด” หมายถึง ไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแบบปกติ การทรมาน และการบังคับให้สูญหาย ซึ่งเป็นผลจากการประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกต่อเรื่องยาวนานเกือบ 10 ปี
หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองประธาธิบดีอย่างฉิวเฉียด เมื่อปี 2559 ตอนนี้ มาร์กอส จูเนียร์ เชื่อมั่นว่า ถึงเวลาของเขาบ้างแล้ว และการที่มาร์กอส จูเนียร์ “รู้จัก” การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยให้เจ้าตัวสามารถเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวได้เป็นอย่างดี โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และจากช่วงอายุหมายความว่า วัยรุ่นและหนุ่มสาวเหล่านี้ยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ ในช่วงที่มาร์กอสผู้พ่อมีอำนาจ มาร์กอส จูเนียร์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ความไม่รู้” น่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับการสร้างความนิยมต่อตัวเอง
ส่วนคู่หูของมาร์กอส จูเนียร์ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน เธอคือ น.ส.ซารา ดูเตร์เต-คาร์ปิโอ บุตรสาวของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำคนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะหมดวาระในช่วงกลางปีหน้า และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ด้วยข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดเจน ว่าประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์สามารถอยู่ในวาระได้เพียงสมัยเดียว คือนานสูงสุด 6 ปี
ดูเตร์เต-คาร์ปิโอ เริ่มต้นในเส้นทางการแข่งขันสู่ทำเนียบมาลากันยัง ด้วยกลยุทธ์แบบเดียวกับบิดา คือ “ตัดสินใจในนาทีสุดท้าย” ของวันรับสมัคร แล้ว “เปลี่ยนท่าทีอีกครั้ง” ภายในช่วงเวลาผ่อนผัน นัยว่าเพื่อไม่ให้ฝ่ายสนับสนุนต้องเสียใจและผิดหวังมากนัก
แม้เดิมที แทบทุกฝ่ายคาดการณ์ไปในทางเดียวกันว่า ดูเตร์เต-คาร์ปิโอ วัย 43 ปี จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมีแนวโน้มสูงด้วยที่จะได้รับชัยชนะ หากประเมินจากผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพลทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม การที่ดูเตร์เต-คาร์ปิโอ ตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งรองผู้นำฟิลิปปินส์ แทนการชิงตำแหน่งสูงสุด ไม่ว่าเจตนาแท้จริงของเธอคืออะไรก็ตาม และจะเกี่ยวข้องกับการที่มาร์กอส จูเนียร์ ลงสมัครหรือไม่ การที่ทั้งสองคนจับคู่เป็นทีมเดียวกัน คือการปูทางแบบ “สมประโยชน์และสานประโยชน์” ให้กับทั้งสองฝ่าย “แต่ไม่ใช่ประชาชน”.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AP