ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น หลังริชาร์ดสันได้รับโอกาสให้เข้าพบ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ที่ทำเนียบในกรุงเนปิดอว์ แน่นอนว่า การที่ริชาร์ดสันเป็นพลเมืองตะวันตกเพียงไม่กี่คน ซึ่งผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมายอมให้เข้าพบ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เรียกเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย ว่าอดีตเจ้าหน้าที่การทูตอาวุโสของสหรัฐ “ให้การยอมรับ” รัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นข้อครหาที่ริชาร์ดสันเผชิญมาตลอด เมื่อต้องเข้าหาผู้นำของประเทศที่มีความสัมพันธ์ไม่ดีจนถึงเลวร้าย กับรัฐบาลวอชิงตัน

Reuters

ริชาร์ดสัน วัย 74 ปี เข้าสู่เส้นทางของการเป็น “นักเจรจาในภาวะวิกฤติ” เมื่อปี 2537 โดยในเวลานั้นยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลวอชิงตันในยุคประธานาธิบดีบิล คลินตัน ให้เดินทางเยือนเกาหลีเหนือ เพื่อแสวงหาหนทางบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับรัฐบาลเปียงยาง

นายแดเนียล เฟนสเทอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน ถ่ายภาพร่วมกับนายบิล ริชาร์ดสัน (คนที่สามจากซ้าย) และทีมงาน ที่สนามบินเนปิดอว์ โดยเฟนสเทอร์ได้รับการปล่อยตัว หลังต้องจำคุกอยู่ที่เรือนจำในเมียนมานานเกือบครึ่งปี

เมื่อริชาร์ดสันเดินทางถึงกรุงเปียงยาง กองทัพเกาหลีเหนือยิงเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งตก ฐานละเมิดน่านฟ้า ส่งผลให้นักบินนายหนึ่งเสียชีวิต และควบคุมตัวไว้ได้อีกนายหนึ่ง ขณะที่ริชาร์ดสันต้องอยู่ในกรุงเปียงยางนานหลายสัปดาห์ เพื่อจัดการเจรจา

ต่อจากนั้นไม่นาน ริชาร์ดสันเดินทางเยือนอิรัก เข้าพบประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ที่กรุงแบกแดด เพื่อการเจรจาที่นำไปสู่การปล่อยตัวพลเมืองสหรัฐ 2 คน ซึ่งล้ำดินแดนจากคูเวตเข้าไปในอิรัก “โดยไม่ได้เจตนา”

หลังจากนั้นริชาร์ดสันเดินทางเยือนกรุงเปียงยาง เมื่อปี 2557 นำไปสู่การปล่อยตัวนายเคนเนธ เบ มิชชันนารีชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี และการเยือนเมืองหลวงของเกาหลีเหนืออีกครั้ง เมื่อปี 2560 เพื่อช่วยเหลือนายออตโต วอร์มเบียร์ นักศึกษาชาวอเมริกัน ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน วอร์มเบียร์เสียชีวิตด้วยอาการป่วยเรื้อรังตั้งแต่ถูกคุมขัง

ริชาร์ดสันเคยให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับตัวเขา “กฎข้อแรก” ซึ่งเป็นข้อควรทำมากที่สุดเมื่อต้องเจรจา ในกรณีที่ต้องเข้าหาบุคคลซึ่งถือเป็นฝ่ายปรปักษ์ อย่างเป็นการส่วนตัวและใกล้ชิดด้วยแล้ว “ต้องแสดงความเคารพ” และให้เกียรติสูงสุด ขณะเดียวกัน ต้องเปิดโอกาสให้อีกฝ่าย “ได้รักษาหน้า” และ “ได้รับเครดิตความน่าเชื่อถือ” ว่าอย่างน้อยได้รับอะไรบ้างนอกเหนือจากผลการเจรจา แม้ท้ายที่สุดแล้ว จะได้รับความนับถือเฉพาะในมิติด้านมนุษยธรรมก็ตาม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP