เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร คือ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง การยื่นข้อเสนอปฏิรูปสถาบันว่า “เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 49” ซึ่งคำตัดสินนั้นก็ทำให้อึงอลกันไปทั้งเมืองพอสมควร

มีการตั้งคำถาม หรือตอบโต้กลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก ว่า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการแสดงออกทางความคิด เรื่องความเห็นต่างทางการเมืองไม่ควรถูกใช้อะไร “ปิดปาก” แต่ต้องนำมาถกแถลงกันในพื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัย ขณะนี้เมื่อไปวินิจฉัยให้การเคลื่อนไหวของราษฎรขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิด “บรรยากาศทางความกลัว” เพิ่มขึ้นจากที่ ม.112 ได้สร้างบรรยากาศนั้นภายในสังคมไทยไว้แล้ว

และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถูกเอามา “ตีความ” ว่า “หมายถึงการสนับสนุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่?” โดยเอาบางถ้อยคำมาอ้าง และหลังจากนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองยังไม่รู้ว่า ..จะออกรูปไหน ดูเหมือนผลจากคำวินิจฉัยนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ หรือฝุ่นยังตลบหนักอยู่ ยังไม่น่าประเมินระดับความรุนแรง แต่สิ่งที่เริ่มเป็นเค้าลางคือ “ฝ่ายได้เปรียบจากคำวินิจฉัย เตรียมมุ่งเช็กบิลฝ่ายตรงข้ามต่อ”

หลังคำวินิจฉัยก็มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องเกี่ยวกับการยุบพรรคก้าวไกล “คนร้อง” น่าจะเอาแพะเอาแกะมาโยงกันให้ได้ล่ะว่า “พรรคก้าวไกลมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เพราะ ส.ส.พรรคนี้ไปไล่ประกันตัวม็อบ แล้วม็อบก็ถูกวินิจฉัยไปแล้วว่า เคลื่อนไหวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 49 อีกทั้งฝ่ายผู้ร้องเขาคงหาหลักฐานอะไรมาโยงว่าพรรคก้าวไกลอยู่เบื้องหลังม็อบให้ได้

และกลุ่มที่แนวคิด อุดมการณ์อยู่ตรงข้ามขั้วผู้ชุมนุมขณะนี้ จะใช้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็น “ใบอนุญาตฟ้องร้อง” หรือไม่ ประเภทคอยจับผิดโน่นนี่แล้วเอาไปร้องเรียนทำผิด ม.112 แม้กระทั่งโรงหนังก็หนาวๆ ร้อนๆ เพราะอยู่ๆ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ไปส่งสัญญาณขอให้ “กล้าหาญที่จะยืน” ตอนฉายเพลง “ข่าววอ” ในการปฐมนิเทศนักศึกษา วปอ. คราวนี้ไม่รู้จะมีใครจับผิดคนไม่ยืนหรือเปล่า หรือโยนให้โรงหนังจัดการ

เช่นนี้แล้ว ก้าวต่อไปจะทำอย่างไรต่อ? อันดับแรก ใครจะชอบม็อบหรือไม่ก็ตาม ต้องเข้าใจว่า “กฎหมาย ม.112 มันกลายเป็นเครื่องมือให้มีการกลั่นแกล้งได้” เพราะมีการใช้ที่ครอบจักรวาล ลักษณะความผิด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย” มันดันใช้เพดานเดียวกันได้เป็นเพดานสูง คือ โทษจำคุก 3-15 ปี และใครก็ฟ้องได้ เคยเขียนไปแล้วเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่า มันมีความบิดเบี้ยวในการใช้และตีความอย่างไร

เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมา ก็จะมี “บางฝ่าย” ยิ่งลำพองกับการใช้กฎหมายนี้จัดการคนอื่นมากขึ้น คือบางทีไม่ต้องเป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างหรอก ..จากที่เคยเห็นมา แค่มีปัญหาเรื่องหนี้สินกัน เจ้าหนี้ก็เอาลูกหนี้มาประจานว่ามีพฤติกรรมผิด 112 เพราะเคยวิจารณ์สถาบัน ไม่รู้ว่าหวังผลอะไร ให้คนอื่นไปไล่ ล่าแม่มด ให้หรือเปล่า เมื่อมี การใช้กฎหมายแบบจ๊าดง่าว อย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่จะต้องกำหนดท่าที

จะให้ยกเลิกตามที่ฝ่ายม็อบเสนอ มันก็เป็นไปได้ยาก ที่ล่าๆ ชื่อกันคือเขาเสนอให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ ใจความสั้นๆ “ยกเลิกมาตรา 112” ไม่ต้องรอให้กฎหมายผ่านแล้วใครยื่นตีความหรอก แค่ชั้นเสนอกฎหมายโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือฝาก ส.ส.พรรคไหนส่งเข้าสภา เขาก็ไม่อยากทำให้เดี๋ยวงานเข้า และถูกตีตก 100% ในสภา เรื่องขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6, 49 การเข้าชื่อยิ่งเยอะไม่ได้แปลว่ากฎหมายจะผ่านได้ มันขึ้นอยู่กับสภา

จะให้แก้ 112 ก็คงมีพวกขวาจัดยึกยักขึ้นมาอีก เรื่องนี้ท่าทีของรัฐบาลจึงสำคัญมาก “เพื่อไม่ให้เกิดการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งกัน” ไม่ใช่แค่บอกให้หยุดพูดถึงสถาบัน อย่างที่บอกมันใช้กฎหมายกลั่นแกล้งกัน กฎหมายคุ้มครองพระราชา พระราชินี และองค์รัชทายาท แต่ดันมีคนฟ้อง ส.ศิวรักษ์ หมิ่นพระนเรศวร!! คือศาลยังไม่ต้องตัดสินว่าผิด แต่ถ้าจะแกล้ง ก็ไปฟ้องให้ต้องขึ้นศาลต่างจังหวัดได้ หรือยังไม่ทันขึ้นศาล แค่เป็นคดีความก็เป็นเรื่องรำคาญใจแล้ว

แต่ท่ารัฐบาลที่มีลักษณะเป็น “ฝั่งขวา” หรืออนุรักษนิยม ไม่อยากแก้ วิธีที่จะไม่ทำให้สถานการณ์การใช้ ม.112 บานปลาย ก็ต้องกำหนดให้มีการตั้ง “คณะกรรมการกลาง” ขึ้นมาตรวจสอบสำนวนก่อนส่งฟ้องอัยการ ว่าอะไรเป็นการกระทำที่เข้าข่าย “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย” อะไรที่ไม่เข้าข่ายก็ไม่ต้องไปถูลู่ถูกังให้มันเข้า คณะกรรมการดังกล่าวน่าจะมีสัดส่วนของนักสิทธิมนุษยชนและภาคประชาชนมาคานภาครัฐด้วย

ยิ่งการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม “แรงกระแทก” จะยิ่งกลายเป็นความรู้สึก ด้านลบต่อสถาบัน กลายเป็นความกลัวซึ่งไม่เป็นผลดีต่อ “ความจงรักภักดี” ที่รัฐบาลพยายามรณรงค์ ในฐานะเป็นผู้ดูแลนโยบาย ดูแลการบังคับใช้กฎหมาย เรื่อง ม.112 นี้รัฐบาลต้องหาจุดสมดุลที่ไม่ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำสะสมกำลังแรง รอวันเป็นสึนามิ..อย่าลืมว่าในฐานะ “พลเมืองโลก” การทำอะไรที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนเกินไป จะมีการเรียกร้องให้ต่างชาติแทรกแซงและคว่ำบาตร

สำหรับภาคประชาชน ก็ต้องลุ้นอีกเรื่องที่น่าจะนำไปสู่การ “ปรับเปลี่ยน” อะไรหลายๆ อย่างคือ ในวันที่ 16 พ.ย.นี้จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน (และจะโหวตในวันที่ 17 พ.ย.) รัฐธรรมนูญภาคประชาชนนี้คือร่างที่เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ หลานนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และ ภาคประชาชนแสนกว่าคนเข้าชื่อ ส่วนที่น่าสนใจคือแก้ ม.272 ยกเลิก ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ และแก้ ม.256 เรื่องวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ก็ไม่รู้ว่าที่ประชุมจะคว่ำหรือไม่ แต่ก็ต้องลุ้นกัน ให้แก้ ม.256 ให้ได้ เพราะมาตรานี้คือกุญแจสำคัญในการตั้งต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งหากยกร่างด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อาจมีการ “ถกเถียงกันให้ตกผลึก” เกี่ยวกับการ “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร” มากขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพูดถึงหลักการคานอำนาจใหม่ไม่ให้มีองค์กรไหนเป็น “ซูเปอร์องค์กร” ที่กระบวนการตรวจสอบทำได้ยาก

ถ้าคิดกันง่ายๆ รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด ถ้าเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ กฎหมายไหนที่มีอยู่แล้วขัดรัฐธรรมนูญก็สามารถถูกหยิบขึ้นมา “ชำระ” ได้ การต่อสู้เรียกร้อง “โดยอยู่ในระบบ” คือหวังพึ่งกลไกสภานี่แหละ แต่ในขณะที่ “อำนาจทางการเมือง” ยังเป็นเช่นนี้อยู่คงหวังพึ่งสภายาก ก็ต้องวัดกันด้วยการเลือกตั้งใหม่ ให้ได้ขั้วอำนาจที่วิธีคิดเปลี่ยน ..ลองคิดดูว่า ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ เรื่องสิทธิมนุษยชนจะใช้ขายแข่งกับเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องได้หรือไม่

การเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนเกิดขึ้นได้ เป็นสิทธิ แต่สุดท้ายเพื่อป้องกันอำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซง ควรใช้กลไกตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อความเปลี่ยนแปลง.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”