สถานการณ์ในภูมิภาคที่เรียกได้ว่าเป็น “หลังบ้าน” ของสหรัฐ กลับมาเป็นที่น่าจับตามากขึ้นอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา ชนะการเลือกตั้งผู้นำนิการากัวเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน โดยก่อนถึงวันลงคะแนนเลือกตั้งเมื่อ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ฝ่ายความมั่นคงของนิการากัวกวาดจับกลุ่มบุคคลที่รัฐบาลถือเป็น “ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง” ชุดใหญ่
แม้รัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตอบโต้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วย “การส่งเสริมให้นิการากัวยึดมั่นต่อเงื่อนไขตามกระบวนการปฏิรูปการเลือกตั้ง” หลังสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายดังกล่าว เมื่อเดือนที่แล้ว ต่อจากการเห็นชอบของวุฒิสภา เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของกฎหมายนี้ คือ “การใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลนิการากัวของประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา ด้วยการจำกัดการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และการพุ่งเป้าใช้มาตรการต่อกระบวนการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลของออร์เตกา”
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองไปในทางเดียวกัน ว่ามาตรการกดดันทั้งหลายของสหรัฐที่ออกมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แทบไม่เคยสร้างความระคายเคืองใดให้แก่ออร์เตกา อดีตสมาชิกนักรบกองกำลังฝ่ายซ้าย “ซันดินิสตา” ผู้ล้มรัฐบาลเผด็จการของตระกูลโซโมซา ที่รัฐบาลวอชิงตันให้ความสนับสนุน เมื่อปี 2522 ออร์เตกาเรียกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่า “สุนัขรับใช้ของสหรัฐ” และรัฐบาลวอชิงตันในสายตาของผู้นำนิการากัว คือ “จักรวรรดินิยมแยงกี้”
สำหรับชาวนิการากัวแล้ว ออร์เตกาถือเป็นนักการเมืองทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ แน่นอนว่าสหรัฐกับออร์เตกาเองก็น่าจะ “รู้ไส้รู้พุงกันเป็นอย่างดี” เพราะนับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรก เมื่อปี 2528 รัฐบาลวอชิงตันไม่เคยยอมรับผลการเลือกตั้งผู้นำนิการากัว
การดำรงตำแหน่งผู้นำนิการากัวสมัยแรกของออร์เตกา เกิดขึ้นในช่วงที่นิการากัวอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐเป็นที่เรียบร้อย และการต่อสู้กับกองกำลังคอนทราที่รัฐบาลวอชิงตันให้การสนับสนุนอีก แม้หลังจากนั้นออร์เตกาต้องเว้นช่วงจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งด้วยเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ และความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมือง แต่ในที่สุดเจ้าตัวสามารถกลับคืนสู่อำนาจสูงสุดทางการเมืองได้อีกครั้ง ด้วยการชนะการเลือกตั้ง เมื่อปี 2550 และการกลับมาครั้งนี้ ออร์เตการื้อถอนโครงสร้างของอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติในนิการากัวแทบทั้งหมด หนึ่งในนั้นคือการจัดตั้งระบบการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ในชื่อ “สภาพลังประชาชน”
นอกจากออร์เตกาแล้ว บุคคลสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำนิการากัวในเวลานี้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากนางโรซาริโอ มูริลโญ ภรรยาซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย ความมุ่งมั่นทางการเมืองของเธอตั้งแต่ยังวัยรุ่นทำให้มูริลโญเป็นทั้งคู่ชีวิตและที่ปรึกษาที่รู้ใจออร์เตกามากที่สุด มูริลโญเป็นได้ทั้งโฆษกรัฐบาล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงการต่างประเทศของนิการากัวโดยปริยาย “ระบอบออร์เตกา-มูริลโญ” ฝังรากลึกและแผ่สาขาไปทั่วทุกองคาพยพของสังคมนิการากัวจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเดือน ม.ค. 2557 สภาแห่งชาติของนิการากัวซึ่งพรรคสังคมนิยมของออร์เตกาครองเสียงข้างมาก ผ่านกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดใหญ่ และเป็นไปตามความประสงค์ของออร์เตกา ไม่ว่าจะเป็การยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การยกเลิกการเลือกตั้งรอบชิงดำ และการเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดี ขยายเข้าสู่ฝ่ายตุลาการและกองทัพ
ขณะที่รัฐบาลสหรัฐทุกยุคทุกสมัยก็ไม่เคยปิดบังว่า ต้องการล้มออร์เตกาลงจากอำนาจให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ผ่านมาแล้วเกือบ 4 ทศวรรษ นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้นำสมัยแรก ออร์เตกายังคงอยู่ในตำแหน่ง เป็นเสี้ยนหนามแทงใจคณะผู้บริหารในกรุงวอชิงตันต่อไป และคงเป็นแบบนี้ไปอีกนาน ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ตอนนี้ออร์เตกาอายุ 72 ปีแล้ว ส่วนมูริลโญอายุ 70 ปี การเฟ้นหาทายาททางการเมืองที่ไว้ใจได้ เป็นเรื่องที่สามีภรรยาหมายเลขหนึ่งของนิการากัวต้องขบคิดให้รอบคอบเช่นกัน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES